Close sites icon close

เว็บไซต์ของแต่ละประเทศ

Search form

ค้นหาในเว็บไซต์ของประเทศ

ข้อมูลประเทศ

เว็บไซต์ของแต่ละประเทศ

บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ

บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ

มีการประมาณการณ์ว่า มีผู้คนอย่างน้อย 10 ล้านคนทั่วโลกที่เป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ พวกเขาไม่ได้รับการพิจารณาโดยกฎหมายของรัฐใดๆ ว่าเป็นคนชาติของรัฐนั้นๆ บ่อยครั้งที่ภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติถูกกล่าวถึงในฐานะที่เป็นปัญหาที่มองไม่เห็น เนื่องจากบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติมักจะไม่อยู่ในความสนใจ และมักจะไม่มีใครได้ยินเสียงของพวกเขา บ่อยครั้งที่พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าโรงเรียน เข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาล ทำการเปิดบัญชีธนาคาร ซื้อบ้าน หรือแม้กระทั่งแต่งงาน การละเลยต่อสิทธิเหล่านี้ของพวกเขาไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังกระทบสังคมโดยรวมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกีดกันประชากรกลุ่มหนึ่งออกไปจากสังคมนั้น นำไปสู่ความตึงเครียดทางสังคม และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
(link is external)Link is external

ปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 มีบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลไทยราว 553,969 คน UNHCR ได้รับอาณัติจากสมัชชาสหประชาชาติในการระบุและให้ความคุ้มครองแก่บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ รวมทั้งการป้องกันและลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ UNHCR ทำตามอาณัติที่ได้รับมอบหมายโดยทำงานร่วมกับรัฐบาล องค์กรภายใต้สหประชาชาติและองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อจัดการกับปัญหา เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 2014 UNHCR ได้ทำการเปิดตัวโครงการรณรงค์ #IBelong เพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2024 และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของโครงการจึงได้มีการเปิดตัวแผนปฏิบัติการสากลเพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติระหว่างปี ค.ศ. 2014-2024 ซึ่งประกอบด้วยกรอบการทำงานเพื่อใช้เป็นแนวทาง 10 แผนเพื่อให้รัฐได้ใช้ดำเนินการพร้อมกับการสนับสนุนจาก UNHCR และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แผนปฏิบัติการสากลที่ว่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขสถานการณ์ภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติที่มีอยู่รวมทั้งป้องกันการเกิดขึ้นใหม่ของกรณีไร้รัฐไร้สัญชาติ

*เนื่องจากบริบทของประเทศไทยมีการให้ความหมาย “ไร้รัฐ” และ “ไร้สัญชาติ” แตกต่างกัน โดยที่ ”ไร้รัฐ” หมายถึงบุคคลผู้ไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ และไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนในระบบการทะเบียนราษฎร ส่วน “ไร้สัญชาติ” หมายถึงบุคคลไร้รัฐที่ได้ขึ้นทะเบียนในระบบการทะเบียนราษฎรและมีเอกสารแสดงตน ดังนั้นเอกสารฉบับนี้จึงใช้คาว่า “ไร้รัฐไร้สัญชาติ” เพื่อให้ครอบคลุมบุคคลทั้งสองกลุ่ม

Publications