12 ปี ผ่านไป ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียต้องเผชิญกับปัญหาความอดอยาก และการเป็นหนี้

12 ปี ผ่านไป ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียต้องเผชิญกับปัญหาความอดอยาก และการเป็นหนี้
“ตอนที่ฉันหนีออกจากบ้านในเมืองฮอมส์ ประเทศซีเรีย เมื่อ 12 ปี ก่อน ฉันไม่เคยคิดเลยว่าเราจะมาอยู่ในสถานการณ์นี้” คาดรา แม่หม้ายผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย วัย 50 ปี กล่าว เธอมีลูกชาย 5 คน และจำเป็นต้องหาอาหาร หรือข้าวสารจากกองขยะที่มีกลิ่น และมอดเพื่อดูแลครอบครัว
ตอนที่เธอพอหาอาหารได้ เธอจะตากมันกลางแดดนานหลายวัน เพื่อรอให้มันแห้งและรอให้มอดคลานออกไป หลังจากนั้นเธอจะทำความสะอาด และหุงเพื่อทำอาหารให้ครอบครัว เธอไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อน้ำมันทำอาหาร หรือเนย เธอจึงใช้ไขมันสัตว์ที่ร้านขายเนื้อใกล้ ๆ ทิ้งแล้วมาทำอาหารแทน
“ฉันรู้ว่าไขมันไม่ดีต่อสูขภาพ แต่ฉันไม่สามารถทำแต่ข้าวต้ม และข้าวสาลีให้เด็ก ๆ กินได้ พวกเขาเป็นเด็ก และผู้ชายที่กำลังโต และต้องการพลังเพื่อให้สามารถทำงานได้” คาดรา อธิบาย
เมื่อมีเงินพอ เธอจะซื้อขนมปังสลัด หยดน้ำลงไปเล็กน้อยเพื่อทำให้ขนมปังนุ่มขึ้น
คาดรา พักพิงอยู่ในที่พักพิงชั่วคราว ในพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศเลบานอน ในเต็นท์ที่พักพิงหนึ่งหลังขนาด 1 ห้องนอน ที่เธอต้องใช้พื้นที่ร่วมกับลูก ๆ ทั้ง 5 คน ลูกสะใภ้ รวมถึงหลาน ๆ อีก 3 คน
นอกจากนี้เธอยังค้างค่าเช่า โดยเธอยังไม่รู้ว่าเธอจะจ่ายคืนได้ยังไง และต้องอยู่ในความหวาดกลัวว่าจะถูกไล่

ทุกปี ชีวิตของคาดรา และครอบครัวในประเทศเลบานอนยากลำบากมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยประเทศเลบานอน ยังคงเป็นเป็นประเทศที่ให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยต่อจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก และตอนนี้ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่แลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ราคาสินค้าที่จำเป็นพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก และค่าเงินอ่อนลงมากกว่าร้อยละ 95 จากมูลค่าจริง ทำให้ครอบครัวที่เปราะบางไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อแม้แต่วัตถุดิบพื้นฐานในการทำอาหาร เช่น ข้าวสาร หรือมันฝรั่ง ร้อยละ 90 ของครอบครัวผู้ลี้ภัยในประเทศเลบานอนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้มีชีวิตอยู่รอด
“สองปีที่ผ่านมาเป็นปีที่หนักที่สุด” คาดรา กล่าว
เธอได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจาก สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เหมือนกับผู้ลี้ภัยในประเทศเลบานอนในกลุ่มเปราะบางคนอื่น ๆ แต่ราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นทำให้เงินช่วยเหลือทั้งหมดที่เธอได้รับไปกับก๊าซหุงต้ม และคาดรา จำเป็นต้องกระเบียดกระเสียนเพื่อดูแลครอบครัว เช่น อาหาร ค่าเช่า และยารักษาโรค

หลายปีที่ผ่านมา คาดรา ถูกบังคับให้ต้องตัดสินใจเรื่องยากที่สุดหลายเรื่อง เรื่องที่ยากที่สุดคือการส่งอัดนัน ลูกชายของเธอไปขายกระดาษทิชชู่บนถนน และต้องเก็บเศษเหล็กไปขายในราคาที่ถูกมาก อัดนัน เดินทางมาถึงประเทศเลบานอน ตอนที่เขาอายุเพียง 3 ขวบ และไม่มีโอกาสไปโรงเรียนแม้สักครั้ง ตอนนี้เขาอายุ 15 ปี และมีโอกาสในชีวิตน้อยมาก
“ทุกวัน ลูกชายของฉันตื่นตอน 6 โมงเช้า เพื่อไปขายกระดาษทิชชู่บนทางหลวง และไม่เคยกลับมาก่อน 4 หรือ 5 ทุ่ม ถ้าวันไหนขายดีเขาสามารถหาเงินได้ราว 200,000 ลีร่า (หรือราว 70 บาท) ขณะที่วันอื่น ๆ เขาอาจไม่สามารถขายได้เลย” คาดรา เล่า
แม้ต้องเผชิญกับความยากลำบาก แต่คาดรา และครอบครัวได้รับความช่วยเหลือ และความเมตตาจากชาวเลบานอนในพื้นที่ ที่ช่วยมอบอาหาร และเสื้อผ้าให้ ครึ่งหนึ่งของประชากรชาวเลบานอน มีชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน และพวกเขาสามรถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน รวมถึงบริการต่าง ๆ ได้น้อยลงทุกวัน
ชาวซีเรีย ราว 6.8 ล้านคน ทั่วโลกเป็นผู้ลี้ภัย โดย 5.5 ล้านคน พักพิงอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านของซีเรีย

ในประเทศจอร์แดน 660,000 คน เป็นผู้ลี้ภัย ในจำนวนนี้ราว 135,000 คน พักพิงอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย เช่น ค่ายผู้ลี้ภัยซาตารี และอาซราค จณะที่ส่วนที่เหลือพักพิงอยู่ร่วมกับชุมชน ผู้ที่ตอนแรกสามารถพึ่งพาเงินสะสมของตนเอง หรือจากครอบครัวตอนนี้กำลังต้องการความช่วยเหลือเพื่อให้สามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน ผู้ลี้ภัยราว 4 ใน 5 คน ในประเทศจอร์แดนมีชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนราว 3 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 100 บาท ต่อวัน
อิรัก เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ที่พักพิงแก่ชาวซีเรียมากที่สุด ราว 260,000 คน ราวร้อยละ 86 พักพิงอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย และยังเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร หรือเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางอาหาร ในประเทศอียิปต์มีผู้ลี้ภัยชาวซีเรียมากกว่า 145,000 คน ข้อมูลของ UNHCR ระบุว่าราวร้อยละ 66 ของผู้ลี้ภัย และผู้ขอลี้ภัยในอียิปต์มีชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศในปี พ.ศ. 2565


สำหรับคาดรา และสำหรับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียจำนวนมาก ความหวังในการมีชีวิตที่ดีขึ้นกำลังจากหายไปตามกาลเวลาขณะที่เธอยังต้องลี้ภัย
“สำหรับฉันแล้ว มันไม่ใช่เรื่องศักดิ์ศรี แต่การมีชีวิตรอดคือสิ่งสำคัญ” คาดรา ถอนหายใจ
สถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย:
- นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ซีเรียเมื่อ 12 ปีก่อน ชาวซีเรียมากกว่า 14 ล้านคน ถูกบังคับให้หนีออกจากบ้านเพื่อแสวงหาความปลอดภัย
- ในปี พ.ศ. 2566 3RP ต้องการงบประมาณราว 242,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาซซีเรีย และสมาชิกชุมชนที่ให้ที่พักพิงด้วยสิ่งของบรรเทาทุกข์
- ในประเทศเลบานอน: 58% ของครอบครัวผู้ลี้ภัยชาวซีเรียพักพิงอยู่ในที่พักพิงที่แออัด และไม่ปลอดภัย ขณะที่ 67% เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารในระดับปานกลางหรือรุนแรง
- ในประเทศจอร์แดน: 77% ของผู้ลี้ภัยพักพิงร่วมกับชุมชน (ผู้ลี้ภัยที่พักพิงอยู่นอกค่าย) ไม่มั่นคงทางอาหาร หรือเข้าถึงอาหารอย่างยากลำบาก โดย 49% ของครอบครัวพักพิงอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน
- ในประเทศทูร์เคีย: 90% ของผู้ลี้ภัยไม่มีเงินมากพอสำหรับค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน หรือเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน ขณะที่ 94% พยายามทำทุกทางเพื่อลดค่าใช้จ่าย เช่น ลดการบริโภคอาหาร หรือหยิบยืมเงิน