ท่ามกลางการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สงครามและความขัดแย้งยังคงเกิดขึ้นอยู่ทั่วโลก ทำให้ผู้คนมากกว่า 82.4 ล้านคนต้องหนีออกจากบ้านของตนและกลายเป็นผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยใน พ.ศ. 2563 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากวิกฤตการณ์ที่รุนแรงเช่น ในประเทศอัฟกานิสถาน ซีเรีย เยเมน และบังคลาเทศ
รายงานด้านการศึกษาของ UNHCR พบว่าปัจจุบันมีเยาวชนผู้ลี้ภัยทั่วโลกเพียงร้อยละ 5 หรือประมาณ 150,000 คนเท่านั้นที่มีโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา
“ผมเชื่อว่าการเรียนในระดับอุดมศึกษาคือโอกาสครั้งสำคัญของผู้ลี้ภัยในการพึ่งพาตนเองและการสร้างอนาคตที่ดีขึ้นเพื่อตัวเองและชุมชนที่อยู่อาศัยได้อย่างยั่งยืน และเราทุกคนมีส่วนในการมอบโอกาสนั้นแก่ผู้ลี้ภัย ให้พวกเขาสามารถเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนท้องถิ่นของตน” นายจูเซ็ปเป้ เด วินเซ็นทีส ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าว
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้ริเริ่ม “แคมเปญ Aiming Higher” ในสำนักงานทั่วโลก ระดมทุนและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อลดช่องว่างทางการศึกษาผ่านการมอบทุนการศึกษาให้เยาวชนผู้ลี้ภัยที่มีความรู้ความสามารถได้สานต่อความหวังและความฝันจากการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาและฝึกทักษะวิชาชีพเฉพาะด้าน
“งานสร้างคน สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด การศึกษาคือสิ่งที่อาตมาเน้น และให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพราะการศึกษาคือพลัง คือโอกาส คือการให้ชีวิตใหม่กับเด็ก และเยาวชน ในครั้งนี้ ได้ขยายความช่วยเหลือมาถึงน้องๆ ผู้ลี้ภัยให้ได้รับการศึกษาขั้นสูง เพื่อให้พวกเขาได้รับโอกาสครั้งที่สองและเป็นประชากรที่มีคุณภาพของโลก” พระเมธีวชิโรดม ผู้อุปถัมภ์ด้านสันติภาพและเมตตาธรรมของ UNHCR กล่าวถึงเจตนารมณ์การจัดตั้งกองทุนการศึกษาเพื่อผู้ลี้ภัย
UNHCR ได้รับความเมตตาจากพระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี) และร่วมกับ ศูนย์บริหารจัดการความยั่งยืนและส่งเสริมผู้ประกอบการ แห่งศศินทร์ และ คุณคิด คณชัย เบญจรงคกุล เปิดตัว “แคมเปญ Aiming Higher” เป็นครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมจัดเตรียมกิจกรรมพิเศษเพื่อระดมเงินบริจาคเพื่อมอบทุนการศึกษาแก่ผู้ลี้ภัยทั่วโลกภายใต้แคมเปญนี้
“ธุรกิจไม่สามารถเดินได้เพียงลำพัง การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ หากผู้ประกอบการตระหนักถึงการทำธุรกิจด้วยความเกื้อกูลและสร้างสังคมที่ดีร่วมกันในลักษณะของพันธมิตรทางสังคม และวิกฤตด้านการศึกษาระดับสูงของผู้ลี้ภัยทั่วโลก ไม่ใช่เรื่องที่เราสามารถเพิกเฉยได้อีกต่อไป นี่คือการยกระดับจริยธรรมการดำเนินธุรกิจสู่การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่แท้จริงและมีประสิทธิภาพ” คุณนิกม์ พิศลยบุตร รองผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ กล่าวถึงความร่วมมือครั้งสำคัญนี้
“ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสทางการศึกษา ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และผมอยากให้ทุกคนแบ่งปันโอกาสแบบนี้ให้กับทุกคน โดยเฉพาะกับผู้ลี้ภัยที่ต้องถูกบังคับให้หนีออกจากบ้านของตัวเอง นี่คือของขวัญชีวิตชิ้นใหญ่ที่เราสามารถมอบให้คนๆ นึงได้ และผมหวังว่า “รักไร้พรมแดน Love is Boundless” ในมิติใหม่นี้จะเป็นของขวัญชิ้นสำคัญจากคนไทยเพื่อเยาวชนผู้ลี้ภัยทั่วโลก” คุณคิด คณชัย เบญจรงคกุล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA Bangkok) กล่าวถึงผลงานสนับสนุนแคมเปญ
กิจกรรมภายใต้ “แคมเปญระดับโลก Aiming Higher” จะเริ่มจัดขึ้นตั้งแต่วันนี้และในอีก 2 ปีข้างหน้า พร้อมกิจกรรมมากมาย เพื่อระดมทุนและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนลดช่องว่างทางการศึกษาของผู้ลี้ภัย อาทิ
เป้าหมายของแคมเปญ “Aiming Higher” คือ การมอบทุนการศึกษาให้แก่ผู้ลี้ภัยจำนวน 1,800 คนทั่วโลก โดยต้องการงบประมาณอีกราว 700 ล้านบาท (23 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อเพิ่มอัตราการเข้าเรียนต่อในระดับสูงของผู้ลี้ภัยจากร้อยละ 5 ให้ได้ถึงร้อยละ 15 ภายใน ค.ศ. 2030 (15by30) ตามแนวทางที่วางไว้ในการจัดประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย ความร่วมมือจากบริษัท มูลนิธิ และบุคคลทั่วไป มีความสำคัญอย่างยิ่งในการมอบโอกาสและเปลี่ยนชีวิตของเด็กและเยาวชนผู้ลี้ภัย
ในขณะที่การศึกษาระดับสูงคือการบ่งชี้เส้นทางชีวิตของเราทุกคน สำหรับผู้ลี้ภัย การศึกษาคือ “โอกาสครั้งที่สอง” ในการสร้างชีวิตใหม่และอนาคตที่ดีขึ้นของพวกเขา ครอบครัว และชุมชนที่มอบที่พักพิง ร่วมมอบโอกาสนั้นแก่เยาวชนผู้ลี้ภัยได้ที่นี่
หากท่านมีความสนใจร่วมเป็นพันธมิตรสนับสนุนแคมเปญ Aiming Higher สามารถติดต่อเราได้ที่
อีเมล์: [email protected]
#UNHCRThailand #AimingHigher #WithRefugees #Education
แคมเปญ AIMING HIGHER
ถูกจัดทำโดย UNHCR เพื่อระดมทุนสนับสนุนการมอบทุนการศึกษาระดับสูงผ่านโครงการทุนการศึกษาโดยอัลเบิร์ต ไอนสไตน์เพื่อผู้ลี้ภัย (Albert Einstein German Academic Refugee Initiative) หรือทุน DAFI ที่ UNHCR จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือกับรัฐบาลเยอรมันในปีพ.ศ.2535 ปัจจุบัน โครงการดังกล่าวได้มอบทุนการศึกษาแก่เด็ก และเยาวชนผู้ลี้ภัยจำนวน 18,500 คนใน 53 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศที่ผู้ลี้ภัยพักพิงและได้รับทุนการศึกษามากที่สุดคือ เอธิโอเปีย เคนยา สาธารรัฐอิหร่าน ปากีสถาน และอียิปต์ โดยสาขาที่ได้รับทุนการศึกษามากที่สุดคือ การแพทย์ บริหารธุรกิจ สังคมศาสตร์ วิศวกรรม และคอมพิวเตอร์ ทุนการศึกษาจะครอบคลุม ค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จำเป็น เช่น ค่าเดินทาง รวมถึงอุปกรณ์การเรียน
พระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี)
พระนักคิด นักเขียน และนักพัฒนาสังคมที่ได้รับความนับถือจากประเทศไทย ผู้ก่อตั้งและประธาน “มูลนิธิไร่เชิญตะวัน” เพื่อสร้างสรรค์สันติภาพโลกผ่านการทำงานด้านการศึกษาและมนุษยธรรม และผู้อุปถัมภ์ด้านสันติภาพและเมตตาธรรมของ UNHCR
พระเมธีวชิโรดมให้ความกรุณาต่อ UNHCR ในการทำงานร่วมกันตั้งแต่ พ.ศ. 2559 และร่วมสนับสนุนแคมเปญ “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างนอก” Nobody Left Outside เพื่อระดมทุนแก่ผู้ลี้ภัยที่ขาดแคลนที่พักอาศัยเป็นจำนวน 2 ล้านคน UNHCR ได้ถวายตำแหน่งผู้อุปถัมภ์แก่ท่านเป็นหนึ่งในสองผู้อุปถัมภ์แรกของ UNHCR จากการอุทิศตนทำงานด้านมนุษยธรรมและเพื่อผู้ลี้ภัย
ผลงานล่าสุดเพื่อผู้ลี้ภัยของท่านรวมถึงบทกวีนิพนธ์ “ดวงตาของอนาคต” ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสถานการณ์ในประเทศอัฟกานิสถาน เพื่อส่งเสริมการศึกษาและความเมตตาต่อประชาชนชาวอัฟกัน ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นทั่วโลก
ศูนย์บริหารจัดการความยั่งยืนและส่งเสริมผู้ประกอบการ แห่งศศินทร์ (Sasin SEC)
สถาบันการศึกษาทางบริหารธุรกิจแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการประกันคุณภาพโดยมาตรฐานสากล ศศินทร์มุ่งสร้างผู้นำในอนาคตเพื่อการประกอบกิจการอย่างยั่งยืนในโลกธุรกิจที่ขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว
ผู้ประกอบการคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรของเรา ศศินทร์วางมาตรฐานการส่งเสริมการพัฒนาแนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน ผสมผสานธุรกิจและความยั่งยืนเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยและภูมิภาคมากที่สุด เหนือสิ่งอื่นใด SEC เน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานอย่างเป็นพันธมิตรเพื่อสร้างความสมดุลย์ในทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ
คุณคิด คณชัย เบญจรงคกุล
ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA Bangkok) ผู้สนับสนุนที่มีชื่อเสียงของ UNHCR และช่างภาพแฟชั่นแถวหน้าของประเทศไทย ได้มุ่งมั่นทุ่มเทในการเป็นกระบอกเสียงเพื่อผู้ลี้ภัยเสมอมา
คุณคิดได้จัดนิทรรศการภาพถ่าย “รักไร้พรมแดน Love is Boundless” ขึ้นใน พ.ศ. 2560 เพื่อถ่ายทอดมุมมองความรักในรูปแบบต่างๆ ของผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวในประเทศไทย และได้นำผลงานชุดนี้มานำเสนอในมุมมองใหม่อีกครั้งภายใต้แคมเปญ Aiming Higher
คุณคิด เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล “Stand with Refugees” จาก UNHCR ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้เพื่อเชิดชูการทำงานด้านมนุษยธรรมและความทุ่มเทให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย
Share on Facebook Share on Twitter