Close sites icon close

เว็บไซต์ของแต่ละประเทศ

Search form

ค้นหาในเว็บไซต์ของประเทศ

ข้อมูลประเทศ

เว็บไซต์ของแต่ละประเทศ

ปีแห่งความวุ่นวาย: ความขัดแย้ง วิกฤต และการพลัดถิ่นในปี 2567

เรื่องราว

ปีแห่งความวุ่นวาย: ความขัดแย้ง วิกฤต และการพลัดถิ่นในปี 2567

แม้จะเปรียบเทียบกับช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปี พ.ศ. 2567 ยังคงเป็นปีแห่งความวุ่นวายที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นใหม่ วิกฤตเดิมที่ยังคงปะทุ และผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นส่งผลให้จำนวนผู้คนที่ต้องถูกบังคับให้หนีออกจากบ้านเพราะความขัดแย้งและการประหัตประหารเพิ่มขึ้นเกือบถึง 123 ล้านคน เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตัวเลขนี้เพิ่มสูงขึ้นจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรงขึ้นผู้คนนับแสนคนยังคงหลบหนีความรุนแรงในซูดาน ยูเครน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และพื้นที่อื่นๆ ในขณะที่มีผู้พลัดถิ่นใหม่เพิ่มสูงขึ้น และมีผู้คนหลายล้านคนที่ยังคงติดอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องลี้ภัยไม่สามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย และไม่มีโอกาสที่จะได้สร้างชีวิตใหม่ในที่ที่พวกเขาจากมา เราจำเป็นต้องหาทางออกอย่างเร่งด่วน ทั้งทางออกเพื่อยุติความขัดแย้งรวมถึงแนวทางการช่วยผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นให้พวกเขาสามารถมีส่วนร่วมและสร้างอนาคตร่วมกับชุมชนใหม่ของพวกเขาได้ เนื้อหาต่อไปนี้เป็นรวบรวมส่วนหนึ่งของสถานการณ์ที่สำคัญที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ตอบสนองในปี พ.ศ. 2567 และบางส่วนของการพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้นท่ามกลางวิกฤต ความขัดแย้งในซูดาน สงครามและการนองเลือดในซูดานยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานที่ไม่อาจจินตนาการได้ และนำไปสู่การพลัดถิ่นครั้งใหญ่ที่กลายมาเป็นหนึ่งในวิกฤตการพลัดถิ่นที่ใหญ่ที่สุดในโลกในตอนนี้ แม้ว่าทั่วโลกจะไม่ได้ให้ความสนใจต่อสถานการณ์เหล่านี้มากนักก็ตาม นับตั้งแต่เกิดการสู้รบในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2566 ผู้คนมากกว่า 12 ล้านคน ถูกบังคับให้หนีออกจากบ้าน โดยจำนวนนี้กว่า 3 ล้านคนต้องหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และกว่า 8.4 ล้านคนต้องพลัดถิ่นในซูดาน ความขัดแย้งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นคงด้านอาหารประชาชนมากกว่าครึ่งหนึ่งกำลังเผชิญกับความหิวโหย ผู้คนที่อพยพมายังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ชาด ซูดานใต้ และอียิปต์ ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในขณะที่ระบบสาธารณสุข การศึกษา และการบริการด้านสังคมในประเทศนั้นๆ…
6 กุมภาพันธ์ 2025 Also available in:
สี่วันหลังจากมีการยุติการโจมตี ประชาชนยืนอยู่ใต้ซากปรักหักพังของอาคารที่ถูกระเบิดในเมืองเทียร์ ประเทศเลบานอน เมื่อวันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน © UNHCR/Ximena Borrazas

แม้จะเปรียบเทียบกับช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปี พ.ศ. 2567 ยังคงเป็นปีแห่งความวุ่นวายที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นใหม่ วิกฤตเดิมที่ยังคงปะทุ และผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นส่งผลให้จำนวนผู้คนที่ต้องถูกบังคับให้หนีออกจากบ้านเพราะความขัดแย้งและการประหัตประหารเพิ่มขึ้นเกือบถึง 123 ล้านคน เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ตัวเลขนี้เพิ่มสูงขึ้นจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรงขึ้นผู้คนนับแสนคนยังคงหลบหนีความรุนแรงในซูดาน ยูเครน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และพื้นที่อื่นๆ ในขณะที่มีผู้พลัดถิ่นใหม่เพิ่มสูงขึ้น และมีผู้คนหลายล้านคนที่ยังคงติดอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องลี้ภัยไม่สามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย และไม่มีโอกาสที่จะได้สร้างชีวิตใหม่ในที่ที่พวกเขาจากมา

เราจำเป็นต้องหาทางออกอย่างเร่งด่วน ทั้งทางออกเพื่อยุติความขัดแย้งรวมถึงแนวทางการช่วยผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นให้พวกเขาสามารถมีส่วนร่วมและสร้างอนาคตร่วมกับชุมชนใหม่ของพวกเขาได้

เนื้อหาต่อไปนี้เป็นรวบรวมส่วนหนึ่งของสถานการณ์ที่สำคัญที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ตอบสนองในปี พ.ศ. 2567 และบางส่วนของการพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้นท่ามกลางวิกฤต

ความขัดแย้งในซูดาน

สงครามและการนองเลือดในซูดานยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานที่ไม่อาจจินตนาการได้ และนำไปสู่การพลัดถิ่นครั้งใหญ่ที่กลายมาเป็นหนึ่งในวิกฤตการพลัดถิ่นที่ใหญ่ที่สุดในโลกในตอนนี้ แม้ว่าทั่วโลกจะไม่ได้ให้ความสนใจต่อสถานการณ์เหล่านี้มากนักก็ตาม

นับตั้งแต่เกิดการสู้รบในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2566 ผู้คนมากกว่า 12 ล้านคน ถูกบังคับให้หนีออกจากบ้าน โดยจำนวนนี้กว่า 3 ล้านคนต้องหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และกว่า 8.4 ล้านคนต้องพลัดถิ่นในซูดาน ความขัดแย้งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นคงด้านอาหารประชาชนมากกว่าครึ่งหนึ่งกำลังเผชิญกับความหิวโหย

ผู้คนที่อพยพมายังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ชาด ซูดานใต้ และอียิปต์ ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในขณะที่ระบบสาธารณสุข การศึกษา และการบริการด้านสังคมในประเทศนั้นๆ กำลังประสบปัญหาอย่างหนักและงบประมาณที่ไม่เพียงพอที่จะใช้เติมเต็มช่องว่างที่เกิดขึ้นฤดูฝนทำให้สถานการณ์ในค่ายผู้ลี้ภัยที่แออัดยิ่งเลวร้ายลงทั้งในซูดาน ชาด และซูดานใต้ ทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้างส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคและมาลาเรีย

ในปี พ.ศ. 2568 หากความพยายามในการสร้างสันติภาพล้มเหลวและสงครามยังคงดำเนินต่อไป คาดว่าจำนวนผู้ที่ถูกบังคับให้หนีจะเพิ่มขึ้นกว่า 16 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ท้าทายอย่างมากในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแม้แต่ในระดับพื้นฐานที่สุดก็ตาม

สถานการณ์ฉุกเฉินในเลบานอน

ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนเป็นต้นมา การโจมตีทางอากาศได้ทวีความรุนแรงขึ้นไปในหลายเมืองทั่วเลบานอนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคนและเกือบ 900,000 คน ต้องพลัดถิ่นภายในประเทศ นอกจากนี้ประชาชนกว่า 557,000 คนต้องเดินทางข้ามพรมแดนไปยังประเทศซีเรีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวซีเรียที่เคยหนีมายังเลบานอนเพื่อแสวงหาความปลอดภัยเมื่อหลายปีก่อน

จากข้อตกลงยุติการหยุดยิงที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ทำให้ผู้ผลัดถิ่นจำนวนมากเริ่มเดินทางกลับไปยังทางตอนใต้ของเลบานอน แต่การโจมตีที่กินเวลายาวนานกว่า 2 เดือนทำให้ในหลายพื้นที่ได้รับความเสียหายกลายเป็นซากปรักหักพังและอาจต้องใช้เวลาหลายปีในการฟื้นฟู

UNHCR ร่วมกับองค์การสหประชาชาติและพันธมิตรมอบความช่วยเหลือฉุกเฉินและอุปกรณ์กันหนาวให้แก่ผู้พลัดถิ่นและผู้ที่เดินทางกลับไปยังเลบานอน และเรายังคงต้องการงบประมาณในการอีกมาก

UNHCR ได้เรียกร้องให้มีการยุติการหยุดยิงแบบถาวรหลายครั้งเพื่อหยุดยั้งความทุกข์ยากของประชาชนในเลบานอนและกาซา และเรียกร้องให้จัดหาเงินทุนช่วยเหลือที่จำเป็นให้แก่สำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (UNRWA) อีกครั้ง

ซีเรียกับเส้นทางแห่งการเปลี่ยนแปลง

การโจมตีที่เปิดฉากขึ้นโดยกลุ่มติดอาวุธในวันที่ 27 พฤศจิกายน นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม จุดประกายความหวังว่าวิกฤตผู้พลัดถิ่นที่ใหญ่ที่สุดในโลกจะยุติลงแต่ขณะเดียวกันก็สร้างความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตอันใกล้ของประเทศ

ก่อนเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ผู้คนกว่า 13 ล้านคน ยังคงพลัดถิ่นทั้งในซีเรียและประเทศเพื่อนบ้านหลังจากเผชิญวิกฤติมานานกว่า 14 ปี ความต้องการด้านมนุษยธรรมพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ท่ามกลางบ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากที่ถูกทำลาย และภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ นับตั้งแต่การโจมตีเริ่มต้นขึ้นประชาชนกว่า 1 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กที่ต้องพลัดถิ่นจากพื้นที่ต่างๆ เช่นใน อาเลปโป ฮามา ฮออมส์ และอิดลิบ โดยจำนวนมากต้องพลัดถิ่นมากกว่าหนึ่งครั้ง

ภายหลังจากความขัดแย้งทางการเมือง ชาวซีเรียหลายพันคนได้เดินทางกลับประเทศจากเลบานอนและทูร์เคียโดยสมัครใจในขณะที่บางส่วนเลือกที่จะหลบหนีไปทางอื่น ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียหลายล้านคนกำลังติดตามสถานการณ์ในประเทศของตนอย่างใกล้ชิดเพื่อให้แน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะเป็นไปโดยสันติ เคารพสิทธิของพวกเขา และจะช่วยให้พวกเขาสามารถเดินทางกลับประเทศได้อย่างปลอดภัย

สงครามในยูเครน

ผ่านมาแล้วกว่า 1,000 วัน นับตั้งแต่เกิดความขัดแย้งชาวยูเครนหลายพันคนเสียชีวิต และกว่า 6.7 ล้านคน ต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยรวมถึง 400,000 คน ที่ข้ามพรมแดนเข้าในยุโรปเพื่อแสวงหาความปลอดภัยระหว่างเดือนมกราคมถึงสิงหาคมปี พ.ศ. 2567

การโจมตีทางอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้นในหลาย ๆ เมือง เช่น เคียฟ คาร์คิฟ โอเดสซา และดนิโปร ทำให้ประชาชนยังคงต้องหลบหนีออกจากบ้านที่อยู่ในชุมชนแนวหน้าทางภาคตะวันออกของประเทศ ขณะนี้มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศมากกว่า 3.5 ล้านคน มีเด็กจำนวนมากไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนได้ต้องเรียนออนไลน์หรือในบางพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักต้องเรียนหนังสือในที่หลบภัยใต้ดินเพื่อป้องกันการโจมตีทางอากาศที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง

UNHCR กำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลยูเครนเพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการฟื้นฟูประเทศ อย่างไรก็ตามกระแสความช่วยเหลือและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่เคยหลั่งไหลเข้ามาอย่างล้นหลามในช่วงต้นของสงครามกำลังมีแนวโน้มลดลงจนทำให้วิกฤตนี้อาจถูกลืมได้อีกครั้ง

ในขณะเดียวกันการโจมตีที่พึงเกิดขึ้นได้ทำลายระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานส่งผลกระทบต่อระบบทำความร้อน ระบบไฟฟ้า และระบบน้ำประปาที่ถูกตัดขาดทำให้ประชาชนหลายล้านคนต้องเผชิญกับความยากลำบาก ในขณะที่ยูเครนกำลังเข้าสู่ฤดูหนาวเป็นปีที่สามแล้วนับตั้งแต่เกิดสงคราม

สถานการณ์ในอัฟกานิสถาน

กว่าสามปีหลังจากการเปลี่ยนแปลงอำนาจในเดือนสิงหาคม ปี 2564 ชาวอัฟกานิสถานยังคงเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ยังคงดำเนินต่อเนื่อง และมรดกของความขัดแย้งมาตลอดหลายทศวรรษ รวมทั้งผลกระทบที่เพิ่มมากขึ้นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งสิทธิและเสรีภาพที่ลดน้อยลงของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง

แม้ว่าสถานการณ์ความมั่นคงโดยรวมจะดีขึ้นแต่อัฟกานิสถานยังคงต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างมากผู้ลี้ภัยที่เพิ่งเดินทางกลับประเทศและผู้ที่ยังพลัดถิ่นเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ซึ่ง UNHCR ได้ให้การสนับสนุนผ่านการช่วยเหลือด้านการเงิน ที่พักพิง การพัฒนาทักษะ และการฝึกอาชีพ แต่ซ้ำร้ายในช่วงเดือนพฤษภาคมและกรกฎาคมเกิดน้ำท่วมฉับพลัน สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงและเกิดการพลัดถิ่นอีกครั้ง ทำให้ในหลายชุมชนต้องเผชิญกับวิกฤติอย่างซ้ำซ้อน

ในเดือนสิงหาคม ทางการได้ประกาศกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการส่งเสริมศีลธรรมและการป้องกันความชั่วร้าย ซึ่งได้เพิ่มข้อจำกัดต่อเสรีภาพของผู้หญิงรวมถึงการเดินทาง การแต่งกาย และพฤติกรรม ตลอดจนสิทธิของชนกลุ่มน้อยทางศาสนา และกลุ่ม LGBTQI+ ข้อจำกัดเหล่านี้เมื่อรวมกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นทำให้กระทบต่อสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ของผู้หญิงอย่างมาก UNHCR จึงต้องเร่งดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือด้านจิตสังคมมากขึ้นกว่าเดิม

ความขัดแย้งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

วิกฤตในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) ยังคงเป็นหนึ่งในวิกฤตที่ซับซ้อนและถูกละเลยมากที่สุดในโลกความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานหลายทศวรรษส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความรุนแรงทางเพศอย่างแพร่หลาย ทำให้ผู้คนกว่า 6.4 ล้านคนต้องพลัดถิ่นภายในประเทศและอีกกว่า 1 ล้านคน ต้องใช้ชีวิตเป็นผู้ลี้ภัยในภูมิภาคนี้

ความขัดแย้งที่กลับมาปะทุขึ้นอีกครั้งทางภาคตะวันออกของประเทศทำให้ผู้คนกว่า 940,000 คน ต้องหลบหนีในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ซึ่งในปัจจุบันหลายคนต้องอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวที่แออัดและไม่ถูกสุขอนามัยทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อความปลอดภัยและโรคระบาด รวมถึงไวรัส mpox ซึ่ง DRC เป็นศูนย์กลางของการระบาดในปีนี้ โดยสงสัยว่ามีผู้ติดเชื้อในกลุ่มผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นรวมอยู่ด้วย

UNHCR ให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินรวมถึงที่พักพิง ผ้าห่ม ชุดครัว และการดูแลด้านสภาพจิตใจ แต่เรายังขาดแคลนเงินทุนสนับสนุนอีกมากที่ส่งผลต่อความสามารถในการทำงานเพื่อตอบสนองต่อวิกฤตในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกได้อย่างเต็มที่

วิกฤตโรฮิงญา

ผ่านมากว่า 7 ปี หลังจาก ชาวโรฮิงญากว่า 750,000 คน ต้องหลบหนีจากการปราบปรามอย่างรุนแรงจากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา ไปยังบังกลาเทศ ถึงตอนนี้วิกฤตนี้ก็ยังคงไร้ทางออกที่ชัดเจน ในขณะเดียวกันความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปีที่ผ่านมาได้ทำให้สถานการณ์ของชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่เลวร้ายลง และส่งผลให้มีจำนวนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมาพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

สถานการณ์ด้านความปลอดภัยที่เลวร้ายลงส่งผลกระทบต่อผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา กว่า 1 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย 33 แห่งในเมืองค็อกซ์บาซาร์ บริเวณชายแดนบังกลาเทศ การขาดแคลนงบประมาณทำให้ความสามารถในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในค่ายลดลงส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรกมีปริมาณอาหารลดลง ศูนย์บริการด้านสุขภาพขาดแคลนอุปกรณ์และยารักษาโรค รวมทั้งน้ำดื่มที่ไม่ได้คุณภาพทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเป็นโรคอหิวาตกโรคและโรคตับอักเสบเพิ่มสูงขึ้น

ค่ายผู้ลี้ภัยต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายครั้งตั้งแต่เหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในฤดูแล้ง ไปจนถึงดินถล่มและน้ำท่วมฉับพลันในฤดูมรสุม สภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายลงในค่ายผู้ลี้ภัยทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากต้องหนีเพื่อแสวงหาความปลอดภัยโดยการเสี่ยงชีวิตเดินเรือในทะเลบนเส้นทางที่อันตรายเพื่อไปยังประเทศอินโดนีเซียและพื้นที่อื่นๆ

ภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ

ปี พ.ศ. 2567 กลายเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ซึ่งสภาพอากาศแบบสุดขั้วได้สร้างความเสียหายไปทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งหรือเป็นพื้นที่พักพิงของผู้พลัดถิ่นเป็นจำนวนมาก

รายงานของ UNHCR ที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายนระบุว่า 3 ใน 4 ของผู้พลัดถิ่นทั่วโลกอาศัยอยู่ในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยอีกครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งจากความขัดแย้งและจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง หลายคนต้องหลบหนีจากสงครามความขัดแย้งซ้ำยังต้องมาเสี่ยงต่อการพลัดถิ่นซ้ำจากจากภัยแล้งและน้ำท่วมอย่างรุนแรงอีกครั้ง

สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นใน เคนยา บุรุนดี และโซมาเลีย ระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม เมื่อฝนตกหนักทั่วภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก ส่งผลให้น้ำท่วมค่ายผู้ลี้ภัยและศูนย์พักพิงของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ นอกจากนี้ในเดือนพฤษภาคม ผู้คนมากกว่าครึ่งล้านคนในทางตอนใต้ของบราซิลต้องพลัดถิ่นเนื่องจากน้ำท่วมรวมถึงผู้ลี้ภัยและผู้คนที่ต้องการความคุ้มครองระหว่างประเทศจากเวเนซุเอลา เฮติ และคิวบา น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปีนี้ยังส่งผลกระทบต่อผู้พลัดถิ่นในเยเมน ซูดาน และพื้นที่ต่างๆ ทั่วแอฟริกาตะวันตกและตอนกลางอีกด้วย

นอกเหนือจากการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติดังกล่าวแล้ว UNHCR ยังเรียกร้องให้มีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและชุมชนที่ให้ที่พักพิงเพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถเตรียมตัวและรับมือต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

ความรุนแรงทางเพศที่เกิดจากความขัดแย้งเพิ่มสูงขึ้น

ความรุนแรงทางเพศเป็นภัยคุกคามต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทั่วโลก องค์การสหประชาชาติระบุว่าผู้หญิงราว 1 ใน 3 คนต้องเผชิญกับความรุนแรงทางเพศ สำหรับผู้หญิงที่ต้องตกอยู่ในภาวะสงครามหรือถูกบังคับให้หนีออกจากบ้านยิ่งเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น และจากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าภัยคุกคามทางเพศเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากสงครามที่ทวีความรุนแรงขึ้นเช่นกันปีที่แล้วเพียงปีเดียวมีรายงานว่าความรุนแรงทางเพศที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเพิ่มขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าผู้รอดชีวิตจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้ก็ตาม

ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกผู้หญิงและเด็กผู้หญิงต้องเผชิญกับผลกระทบอันเลวร้ายจากความขัดแย้ง โดยมีเหตุการณ์การข่มขืนรวมถึงการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากคนในชุมชนสูงขึ้น

ในอัฟกานิสถานข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้นต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง และอัตราความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้เกิดวิกฤตด้านสุขภาพจิตที่รุนแรง

UNHCR ทำงานร่วมกับผู้ลี้ภัยและชุมชนที่ให้ที่พักพิง รวมทั้งพันธมิตรในพื้นที่เพื่อให้การสนับสนุนด้านจิตสังคม ที่พักที่ปลอดภัย ความช่วยเหลือด้านกฎหมายและสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้รอดชีวิต ในขณะเดียวกันได้ดำเนินโครงการป้องกันความรุนแรงเพื่อหยุดยั้งปัญหาก่อนที่จะเกิดขึ้น

ความคืบหน้าในการยุติภาวะไร้รัฐสัญชาติ

ปีนี้ถือเป็นบทสรุปของแคมเปญ #IBelong ซึ่งดำเนินมายาวนานกว่า 10 ปี ภายใต้การดำเนินงานของ UNHCR ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีผู้คนกว่า 500,000 คนทั่วโลกที่เคยถูกกีดกันจากสิทธิในการมีสัญชาติ และต้องใช้ชีวิตอย่างไร้ตัวตนให้ได้รับสัญชาติแล้ว

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอย่างน้อย 22 ประเทศได้ดำเนินแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติสำหรับปีนี้ประเทศเติร์กเมนิสถานได้เดินตามรอยประเทศคีร์กีซสถาน โดยประกาศว่าสามารถยุติภาวะไร้สัญชาติทั้งหมดในประเทศได้สำเร็จรวมถึงประเทศไทยได้ก้าวสู่ก้าวสำคัญในการยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยอนุมัติแนวทางเร่งรัดให้เกือบครึ่งล้านคนรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยให้ได้รับสิทธิในการพำนักถาวรและได้รับสัญชาติไทยนอกจากนี้ซูดานใต้ได้เข้าร่วมอนุสัญญาสำคัญระหว่างประเทศ 2 ฉบับ ว่าด้วยการยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ

แม้ว่ายังมีงานอีกมากที่ต้องทำ UNHCR ได้เปิดตัว Global Alliance to End Statelessness ในเดือนตุลาคม โดยมีกว่า 100 ประเทศและองค์กรภาคประชาสังคมเข้าร่วมและมุ่งมั่นที่จะทำให้ภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติกลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์

ยุคเฟื่องฟูของกีฬา

ในช่วงฤดูร้อน นักกีฬาผู้ลี้ภัยและพาราลิมปิกจำนวน 45 คน ได้เข้าร่วมแข่งขันในโอลิมปิกและพาราลิมปิก ที่กรุงปารีสปี 2567 ซึ่งนับเป็นทีมผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของทั้งสองรายการ ในพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกนาย ฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้รับรางวัล Olympic Laurel เพื่อเป็นการยกย่องถึงความมุ่งมั่นของเขาและ UNHCR ในการใช้พลังของกีฬาเพื่อยกระดับชีวิตของผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นทั่วโลก

ซินดี้ งามบา นักกีฬามวยโอลิมปิกผู้ลี้ภัยคว้าเหรียญรางวัลแรกให้กับทีมผู้ลี้ภัยโอลิมปิกได้สำเร็จด้วยเหรียญทองแดงในประเภทมวยสากลหญิง รุ่นน้ำหนัก 75 กิโลกรัม ในขณะเดียวกันนักกีฬาคนอื่นๆ ที่ร่วมลงแข่งขันใน 12 ชนิดกีฬาก็สามารถทำลายสถิติของตนเอง และได้แสดงให้คนทั้งโลกได้เห็นถึงความสามารถและความมุ่งมั่นของพวกเขา

ไม่กี่สัปดาห์ต่อมาในการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ ซาเกีย คูดาดี และกิลเลียม จูเนียร์ อาตังกานา พร้อมด้วยนักวิ่งนำทางดอนาร์ด เอ็นดิม นยามจูอา สามารถคว้าเหรียญทองแดงในประวัติศาสตร์ในการแข่งขันเทควันโดพาราลิมปิกหญิง และวิ่ง 400 เมตรชาย T11 ได้ตามลำดับ ชัยชนะของพวกเขาถือว่าเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการกีฬา สร้างแรงบันดาลใจและเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้พิการที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นกว่า 18 ล้านคนทั่วโลก

UNHCR ร่วมมือกับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล มูลนิธิผู้ลี้ภัยโอลิมปิก และคณะกรรมการพาราลิมปิกสากล เพื่อให้การสนับสนุนผู้ลี้ภัยในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก