UNHCR ในประเทศไทย

รัฐบาลไทยได้ร่วมมือกับหน่วยงานนานาชาติ องค์การนอกภาครัฐ และผู้บริจาคทั้งภาครัฐและเอกชนมาอย่างยาวนานเพื่อให้ความคุ้มครอง ความช่วยเหลือ และหาทางออกที่ยั่งยืนให้แก่ผู้ลี้ภัยที่หลั่งไหลมาจากประเทศกัมพูชา ลาว เวียดนาม เมียนมา และประเทศอื่นๆ

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (The United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) ได้เริ่มทำงานในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเป็นครั้งที่สองในปีพ.ศ. 2524 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำงานด้านมนุษยธรรมในช่วงวิกฤติผู้ลี้ภัยโดยทางเรือจากสงครามอินโดจีน ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยและทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในปี พ.. 2541 รัฐบาลไทยได้ร้องขอให้ UNHCR เข้ามาให้ความช่วยเหลือในการมอบความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยจากเมียนมา ในพื้นที่ชายแดนไทยเมียนมา ปัจจุบัน ประเทศไทยให้ที่พักพิงที่ปลอดภัยแก่ผู้ลี้ภัยจากประเทศเมียนมา 81,942 คน (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน พ.ศ 2567) ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาลไทยจำนวน 9 แห่งบริเวณแนวชายแดนไทย-เมียนมา นอกจากนี้ยังมีผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยในเขตเมืองประมาณ 5,500 คนจาก 40 ประเทศทั่วโลก และบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่ได้ขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลไทยอีกราว 480,000 คน

นับตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2559 ผู้ลี้ภัยกว่า 1,000 คน ในค่ายที่ให้การพักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา เดินทางกลับมาตุภูมิผ่านโครงการเดินทางกลับมาตุภูมิโดยสมัครใจนำโดยรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมา ด้วยการสนับสนุนของ UNHCR และองค์กรที่เกี่ยวข้อง

แต่อย่างไรก็ตามผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการเดินทางกลับมาตุภูมิ และ UNHCR ยังคงทำงานร่วมกับรัฐบาลทั้งสองประเทศรวมถึงชุมชนผู้ลี้ภัยและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างใกล้ชิด เพื่อหาทางออกที่ยั่งยืนและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพื่อยุติภาวะการลี้ภัยที่ยาวนานของผู้ลี้ภัยในประเทศไทย

ในขณะเดียวกัน UNHCR ยังทำงานเพื่อสนับสนุนการมอบความคุ้มครองระหว่างประเทศแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือผ่านโครงการต่างๆ เช่นการคุ้มครองเด็กผ่านการสนับสนุนองค์กรที่เกี่ยวข้องและการทำงานเพื่อป้องกันความรุนแรงทางเพศ (Sexual and Gender-Based Violence) รวมถึงการทำงานเพื่อให้ผู้ลี้ภัยสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย

สำหรับผู้ลี้ภัยในเขตเมืองและผู้ขอลี้ภัย ในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2562 UNHCR ต้อนรับมติคณะรัฐมนตรีในการจัดตั้งระบบคัดกรองบุคคลที่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองระหว่างประเทศ

เนื่องจากประเทศไทยมิได้เป็นภาคีในอนุสัญญาผู้ลี้ภัยปี ค.ศ. 1951 และไม่มีกฎหมายว่าด้วยผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ ด้วยเหตุนี้ผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยผู้ซึ่งมิได้มีสิทธิตามกฎหมายที่จะพำนักในประเทศไทย เป็นที่คาดหวังว่าหลังจากมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ระบบคัดกรองนี้จะทำให้บุคคลที่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองระหว่างประเทศสามารถพำนักในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว และทำให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยเสถียรมากขึ้น

นอกจากนี้ ในเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยร่วมลงนามในข้อตกลงทางเลือกในการกักกันเด็ก นับเป็นก้าวสำคัญของการหาทางเลือกในการกักตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแม่และเด็ก สอดคล้องกับคำมั่นของรัฐบาลไทยที่ให้ไว้ในการประชุมระดับโลกครั้งแรกว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย ที่นครเจนีวา ในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการทำงานตามปฏิญาณที่สามารถปฏิบัติได้จริง การวางนโยบายระยะยาว รวมถึงการเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติในการพัฒนาชีวิตผู้ลี้ภัย ตลอดจนชุมชนที่มอบที่พักพิงให้แก่ผู้ลี้ภัยทั่วโลกที่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือจากนานาชาติ

ปัจจุบัน UNHCR ยังคงทำงานเต็มกำลังเพื่อมอบความคุ้มครองและความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยในเขตเมืองรวมไปถึงการพิจารณาสถานะผู้ลี้ภัย การมอบความช่วยเหลือฉุกเฉิน มอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ด้านสาธารณสุข ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย สังคมและการสนับสนุนด้านการดูแลทางสังคมจิตใจ นอกจากนี้เรายังสนับสนุนการเข้าถึงการศึกษาเช่นวิชาภาษาไทย การมอบความช่วยเหลือด้านการเงินและความช่วยเหลือด้านอื่นๆ แก่ผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยในเขตเมืองและผู้ที่อยู่ในสถานกักกันผ่านองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการหาทางออกที่ยั่งยืนแก่ผู้ที่เปราะบางมากที่สุด

UNHCR ยังทำงานเพื่อสนับสนุนการความพยายามในการมอบสัญชาติแก่บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลไทยราว 475,000 คน สืบเนื่องจากการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการการมอบสัญชาติ ทำให้บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมากกว่า 100,000 คน ได้รับสัญชาตินับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ซึ่งสอดคล้องกับคำมั่นสัญญาที่รัฐบาลไทยได้แถลงต่อที่ประชุมระดับสูงว่าด้วยภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ ในการแก้ไขปัญหาภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ ณ นครเจนีวา ในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2562

UNHCR ทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรโดยได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่รัฐ ในการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายการขอสัญชาติและทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันการไร้รัฐไร้สัญชาติใน 3 อำเภอ ของจังหวัดเชียงราย โครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือในระดับเขต จากทั้งผู้บริหารโรงเรียน ผู้นำชุมชนต่างๆ รวมถึงภาคประชาสังคมท้องถิ่นทำงานเพื่อช่วยเหลือบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ

UNHCR ในประเทศไทย มีเจ้าหน้าที่ชาวไทยและชาวต่างชาติ ทำงานที่สำนักงานในกรุงเทพและสำนักงานในแม่ฮ่องสอนและแม่สอด รวมกันราว 120 คน ในปี พ.ศ. 2563 UNHCR ประเทศไทย ขยายขอบเขตการทำงานครอบคลุมการทำงานในพื้นที่ประเทศกัมพูชา ลาวและเวียดนาม ในประเทศกัมพูชา UNHCR สนับสนุนรัฐบาลในกระบวนการคัดกรองผู้ขอลี้ภัยแห่งชาติ ผ่านการส่งเสริมและสร้างศักยภาพ โดยมีเป้าหมายให้ผู้ลี้ภัยสามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ รวมถึงการรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชุมชนที่ลี้ภัยอยู่

นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนการป้องกันการไร้รัฐไร้สัญชาติด้วยการสร้างศักยภาพและจัดอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในการลงทะเบียนพลเมือง ในเวียดนาม UNHCR ทำงานเพื่อลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ ปฏิรูปกฎหมายและนโยบาย และความเป็นไปได้ในการลงนามใน อนุสัญญาว่าด้วยการลดความไร้สัญชาติ ปี พ.ศ. 2497 และ พ.ศ. 2504 ผ่านโครงการร่วมกับกระทรวงยุติธรรมรวมถึงการให้การสนับสนุนในการพัฒนากลยุทธ์ในการทำงานและการวิเคราะห์เพื่อให้ความช่วยเหลือบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ