คุณเป็นคนทำสารคดี เป็นนักเขียน แต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ เราเริ่มเห็นคุณบนเวที ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองบ้างไหม
จริงๆไม่ได้เยอะขนาดนั้น และผมไม่ได้มองตัวเองเป็นนักพูด นี่อาจเป็นงาน Talk เดี่ยวงานแรก ที่จัดกันจริงๆจังๆ ด้วยซ้ำและผมก็ไม่ได้จัดเอง อย่าง TEDx Bangkok หรือตามมหาวิทยาลัยที่เขาเชิญเราไปพูดเพราะเราทำงานหลักของเราคือการทำสารคดี เขียนหนังสือมากกว่า นี่ยังเป็นงานหลัก แต่ถึงอย่างไรผมก็ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นเฉพาะนักทำสารคดีหรือนักเขียนเท่านั้น ผมมองตัวเองเป็นผู้ผลิตคอนเทนท์ ไม่แน่ว่ามันจะไปอยู่ใน นิทรรศการ ภาพยนตร์ หรือนิยายก็ได้ ถามว่าเปลี่ยนแปลงไหม ก็ไม่นะ มันเป็นการพัฒนามากกว่า แล้วบังเอิญสิ่งที่ผมทำ สถานที่ที่ผมเดินทางไปอาจมีคนเคยไปมาแล้วไม่กี่คน ผมจึงได้รับโอกาสมากหน่อย
คุณมาร่วมกับโปรเจคนี้ได้อย่างไร และทำอะไรบ้าง
ผมว่าคนเราถึงจุดหนึ่งในชีวิต หลังจากเลี้ยงดูตัวเอง ทำงานที่ฝันแล้ว เราก็อยากให้การทำงานของเรามีประโยชน์สูงสุดในทางหนึ่ง หรือทำอะไรให้สังคมบ้างเป็นปกติ และผมเองก็รู้สึกว่าประเด็นที่ตัวเองรู้สึกร่วมที่สุดในโลกใบนี้คือความขัดแย้งและสงคราม ทั้งในแง่การพยายามสร้างความเข้าใจที่มาของความขัดแย้ง รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งเหล่านั้น
ในรอบหลายปีที่ผ่านมาสังคมเราอาจผ่านเรื่องความขัดแย้งมาบ้าง แต่ถ้าพูดในเรื่องสงครามนี่ ถ้าไม่นับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราอาจไม่รู้จักคำๆนี้เลย ทั้งที่ถ้ามองว่าเราไม่ได้เป็นแค่คนไทย แต่มองในฐานะมนุษย์โลก สงครามไม่เคยไกลจากเราเลย ผมมีโอกาสสัมผัสมันผ่านการเดินทาง ผ่านการทำสารคดีหลายครั้ง ทั้งในสถานที่ที่เหตุการณ์ผ่านมาแล้ว กำลังดำเนินไป หรือกำลังเกิด แล้วรู้สึกเห็นอะไรบางอย่าง เห็นคนที่เดือดร้อน เห็นคนที่ต้องออกจากบ้าน เห็นคนที่สูญเสีย บางเรื่องแม้จะเกิดมานานแล้ว แต่เมื่อได้ไปนั่งฟัง ได้เห็นสีหน้า แววตา มันก็ทำให้เรารู้สึกมากกว่าที่เราติดตามจากข่าว นั่นคือจุดมุ่งหมายที่ผมทำและเผยแพร่ผ่านงานตัวเองมาตลอด
แล้วก็เป็นความบังเอิญส่วนหนึ่งที่เมื่อ UNHCR ให้โอกาส ผมก็ได้เข้ามาทำ มาทำสื่อ มาช่วยเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยให้คนในสังคมเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ ถ้าไม่มีองค์กรมาชวน บางทีเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะนำเงินบริจาคไปตรงไหน การเข้าไปพื้นที่ผู้ลี้ภัยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เราเลยถือเป็นโอกาสที่จะเอาข้อมูลให้กับคน และทำในสิ่งที่เราคิดว่าทำได้
อะไรคือสิ่งที่คุณชอบในการทำงานครั้งนี้
อาจไม่ใช่แค่โปรเจคนี้ แต่จากการเดินทาง การศึกษาในประเด็นความขัดแย้งในโดยรวม สิ่งที่ผมชอบอย่างแรกคือทริปที่อันตรายที่สุดได้สอนอะไรให้เราเยอะที่สุด เช่น ที่ประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งที่แห่งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้ลี้ภัยซึ่งหมายถึงผู้ที่ต้องการหลีกหนีจากพื้นที่สงครามเท่านั้น แต่มันหมายถึงมีผู้ที่ใช้ชีวิตในสงครามจริงๆเลย ต้องกินข้าว ดูหนัง ขณะที่อีกด้านก็มีเสียงระเบิด ผมประทับใจที่ได้เห็นความเป็นคน เห็นความเป็นมนุษย์ที่ลึกซึ้ง เช่นเดียวกับที่ซีเรีย อิรัก เราได้เห็นวัฒนธรรม ความสามารถ ความฉลาดเฉลียวของเขา ความคิดและความลึกซึ้งทางอารมณ์ของคน เป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยเห็นผ่านสื่อเลย นั่นคือสิ่งที่เราชอบและอยากนำเสนอ
ในประเทศไทยผมได้มีโอกาสลงไปค่ายผู้ลี้ภัยที่ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพรมแดนไทยพม่าและเป็นหนึ่งในค่ายผู้ลี้ภัยทั้งหมด 9 ค่าย 4 จังหวัดตามแนวชายแดนฝั่งตะวันตกซึ่งได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน และตาก
ค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่สุรินทร์ที่ผมไป เป็นพื้นที่พักพิงชั่วคราวมากว่า 20 ปีแล้ว มีคนอยู่ที่นั่นประมาณ 2 พันคน เราได้เห็นเงื่อนไขชีวิตที่น่าสนใจและกระตุกเราหลายๆอย่าง เช่น บ้านที่เขาสร้างก็ต้องเป็นบ้านไม้ตลอด เพราะประเทศไทยไม่เคยลงนามเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951นั่นแปลว่าเราไม่สามารถรับผู้ลี้ภัยแบบถาวรได้ บ้านที่เขาอยู่จึงเป็นได้แค่สิ่งปลูกสรา้งชั่วคราว บางคนเกิดในค่าย ติดอยู่ในบ้านเราเป็นสิบๆปี ไม่เคยออกไปนอกค่ายเลย นอกจากนั้นเราเห็นการทำงานของหน่วยงานซึ่งมักถูกวิจารณ์ เรื่องไหนดีหรือไม่ดีไม่รู้ แต่มันก็บอกว่ายังมีคนทำงานด้านนี้อย่างเอาจริงเอาจังอยู่ ผมอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมชูประเด็นนี้ขึ้นมาแล้วเกิดการลงมือทำจริงๆ จะเล็กๆน้อยๆ อะไรก็ได้ที่ทำได้ มันดีกว่าการถกเถียงแต่ไม่มีการกระทำ ซึ่งมันจะเกิดประโยชน์ค่อนข้างน้อย
คนธรรมดาสามารถช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอย่างไรได้บ้าง
แน่เลยครับว่าสิ่งแรกคือเข้าใจและรับฟัง และต่อไปก็แน่นอนว่าคือเงินบริจาค คือเราไม่สามารถแก้สถานการณ์ทางการเมืองจากประเทศที่เขาจากมาได้ แต่สิ่งที่ UN ทำได้คือพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้ผู้ลี้ภัยอยู่ได้ดีขึ้นในขณะที่เขาต้องอยู่ในสภาพเหล่านี้ เช่น สอนเรื่องการงานอาชีพ สอนหนังสือให้เด็ก หรือจัดเวิร์คชอปเรื่องคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ดูแลเด็กกำพร้าที่เกิดจากสงคราม ดูแลผู้สูงอายุ หรือขั้นตอนต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น การจดทะเบียนเกิดซึ่งเป็นเอกสารที่รัฐบาลไทยรับรองว่านี่เป็นคนพม่าที่เกิดในแผ่นดินไทย หรือส่งผู้หนีภัยการสู้รบกลับบ้านด้วยความสมัครใจ แบบที่เคยทำกับกลุ่มนำร่อง 71 คนซึ่งสำเร็จมาแล้ว รวมไปถึงส่งไปประเทศที่สาม อย่างสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ตามแต่นโยบาย อย่างไรก็ตามสถิติมันก็บอกว่าในจำนวนผู้ลี้ภัยทั่วโลก จะมีเพียง 1% เท่านั้นที่สามารถลี้ภัยเพื่อไปขอาศัยและได้ทำงานในประเทศเหล่านี้ได้ ซึ่งถือว่าน้อยมาก
จากสถิติบอกเราว่าวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยตอนนี้ ถือว่าเป็นวิกฤตการณ์ที่รุนแรงที่สุดของโลกแล้ว โดยตัวเลขผู้ลี้ภัยกว่า 65.6 ล้านคน ถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยซ้ำ และผู้ลี้ภัยเหล่านั้นมีไม่น้อยมีพรสวรรค์ ถ้าได้รับความช่วยเหลือ พวกเขาก็จะมีโอกาสเหมือนคนทั่วไปได้เพราะเมื่อเขามีศักยภาพ เขาก็จะช่วยเหลือตนเองและคนอื่นๆได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม
ในฐานะที่คุณเดินทางมามาก และมักชอบไปในสถานที่แปลกๆ หรือคนส่วนใหญ่มองว่าอันตราย คุณต้องการสื่อสารอะไร
เราไมได้เริ่มจากคนข้างนอก แต่เราเริ่มที่ว่าเราอยากรู้อะไร และที่คิดว่ามันเป็นPassion (ความหลงใหล) ไปจนแก่ คือความพยายามเข้าใจมนุษย์ ผมมองว่ามนุษย์อย่างเราๆ เมื่อเงื่อนไขรอบตัวเปลี่ยน ก็สามารถหยิบอาวุธได้โดยไม่คิดอะไรเลย หรือสามารถเอาผลประโยชน์ตัวเองเหนือความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์คนอื่นได้ มันเป็นมิติของความเป็นคนธรรมดา เราก็อยากจะเข้าใจว่าเงื่อนไขของความเปลี่ยนแปลงจากคนธรรมดามันอยู่ตรงไหน เราอยากเข้าใจมันก่อน แล้วลองคิดต่อว่ามีวิธีป้องกันเรื่องเหล่านั้นตรงไหนได้บ้าง
เคยมีคนถามว่าผมไปพื้นที่เหล่านี้รู้สึกกลัวบ้างไหม ผมก็ต้องตอบว่ากลัวครับ แต่ยิ่งทำมันก็ยิ่งเติมเต็มเรา คือโอเคแง่หนึ่งมันได้เห็นโลกกว้าง อะดรีนาลีนมันก็หลั่งแบบชีวิตลูกผู้ชาย(ยิ้ม) แต่ในเชิงประโยชน์มันก็ทำให้เรามองเห็นและเปิดโอกาสให้เราทำอะไรได้มากขึ้น คือตั้งแต่ทำรายการ เถื่อน Travel (รายการโทรทัศน์) ผมก็ได้รับเชิญให้ไปพูดเรื่องความขัดแย้งบ่อยมาก กับอีกเรื่องคือการสร้างพลังให้กับตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้สำหรับผมมันไม่ยากเพราะคิดว่าตัวเองมีมันอยู่แล้ว
จนถึงตอนนี้การเดินทางของวรรณสิงห์เป็นเรื่องของการงานและสังคม หรือ Passion ส่วนตัวกันแน่
คือส่วนตัวสัก 90% อย่าง เถื่อน Travel ผมทำโดยเริ่มต้นจากการไม่มีสปอนเซอร์ด้วยซ้ำ คือทำเพราะอยากทำ แล้วค่อยตระเวนขาย ตอนแรกยังไม่รู้จะชื่อรายการเลย พอขายได้แล้วหักค่าใช้จ่าย เงินเก็เหลือเข้าตัวเองแบบว่าอย่านับเลยดีกว่า (หัวเราะ) แต่มันแฮปปี้กับชีวิตครับ รู้สึกว่าได้ทำกับสิ่งที่ฝันมานานแล้ว ถ้ามองว่ามันเป็นการหาเลี้ยงชีพไหม ก็คงไม่ เพราะถ้าคิดว่าเลี้ยงชีพเราคงทำอย่างอื่นที่เสี่ยงตายน้อยกว่า สิ่งนี้มันเป็นการเลี้ยงชีวิตมากกว่า