ไทยมีสุภาษิตอยู่บทหนึ่งว่า ‘ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกราญ’ อเมริกาเองก็มีคำพังเพยในทำนองเดียวกัน วรรณสิงห์ชวนเรากลับมาดูที่ปลายทางของสงคราม เมื่อคนที่ไม่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งกลับเป็นผู้เดือดร้อนที่สุด
“ผมมีโอกาสสัมผัสกับผู้ลี้ภัยครั้งแรกจริงๆ คือตอนไปอัฟกานิสถาน ประเทศที่อยู่กับสงครามมาสี่สิบปีแล้ว อีกครั้งหนึ่งคือตอนที่ผมไปทำงานกับ UNHCR ที่ค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่สุรินทร์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในเมืองไทยมีผู้ลี้ภัยพม่าอยู่ด้วยกันประมาณ 100,000 คน กระจายอยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งตามชายแดนพม่า-ไทย และ UNHCR ก็ได้ไปช่วยเหลือพวกเขา และสร้างคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น
สถานะที่เราให้เขาได้คือเป็นผู้ลี้ภัยชั่วคราวก่อนเหตุการณ์จะสงบ แต่คำว่าชั่วคราวนี้ก็อยู่กันมาสามสิบปีแล้ว
“หลายคนรู้เรื่องที่พม่ามีความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงแดง เป็นความขัดแย้งซึ่งเป็นสงครามที่ยาวนานที่สุดในโลกคือ 70 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 1949 จนปัจจุบันก็ยังอยู่ในภาวะสงคราม เพราะตั้งแต่มีการตั้งประเทศขึ้นมาก็มีหลายชนเผ่าที่ต้องการสร้างดินแดนของตัวเอง และนำมาซึ่งความขัดแย้งมาถึงตอนนี้
“ความขัดแย้งนี้สร้างผู้ลี้ภัยขึ้นมามากมาย และอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองไทยมาสามสิบปีแล้ว บ้านในค่ายผู้ลี้ภัยต้องสร้างเป็นบ้านไม้ เพื่อให้สามารถรื้อถอนได้ง่าย เพราะทุกอย่างเป็นที่พักพิงชั่วคราวเท่านั้น ตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย แปลว่าเราไม่สามารถรับผู้ลี้ภัยถาวรให้ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านเราในฐานะประชาชนของประเทศไทยได้ แต่ที่รับเข้ามาก็ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรมต่อเนื่องกันมาหลายสิบปีแล้ว สถานะที่เราให้เขาได้คือเป็นผู้ลี้ภัยชั่วคราว ก่อนเหตุการณ์จะสงบ แต่คำว่าชั่วคราวนี้ก็อยู่กันมาสามสิบปีแล้ว เด็กแทบทุกคนที่เห็นในค่ายเขาเกิดในค่ายแห่งนี้ และตามกฎหมายคือพวกเขาไม่สามารถทำงานภายนอกค่ายได้ หรือเรียนหนังสือนอกค่ายได้ อยู่ได้แต่ตรงนี้เท่านั้น
“สภาวะที่เขาต้องเจอก็คือ ผู้ชายหลายคนโดนจับไปเป็นแรงงานทาสในกองกำลังติดอาวุธของพม่า แล้วหนีตายกันมา ทรัพย์สิน ผลผลิต ที่ดิน ถูกยึดเอาไว้ทั้งหมด สถานการณ์ก็รุนแรงจนไม่สามารถกลับไปได้ สภาพของค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้มองเฉยๆ ก็เหมือนหมู่บ้านชนบททั่วไป แต่ลองนึกถึงหมู่บ้านที่ผู้อาศัยออกไปข้างนอกไม่ได้ มันก็คือคุกอย่างหนึ่ง เป็นคุกที่ไม่ได้เกิดจากการจำจองด้วยกฎหมาย แต่เกิดจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับพวกเขา
“ค่ายผู้ลี้ภัยเกิดขึ้นได้ยังไง โดยทางกฎหมาย กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ให้ที่ดิน และค่ายเหล่านี้บริหารโดยเอ็นจีโอ ส่วน UNHCR ได้เข้าไปช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและบริหารค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้ด้วย มีการสอนอาชีพ สอนคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่พ่อเสียชีวิตในสงคราม สอนอาชีพให้คนแก่คนเฒ่า ไปจนถึงกระบวนการที่สำคัญที่สุดคือกระบวนการย้ายถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม
“อีกด้านหนึ่งของ UNHCR คือการจดทะเบียนการเกิดให้กับเด็ก ไม่ใช่สูจิบัตร แต่เป็นการให้ประเทศไทยรับรองว่าเด็กคนนี้คือเด็กชาวพม่าที่เกิดในแผ่นดินไทย แปลว่าเขาไม่ได้สถานะเป็นประชาชนไทยหรือพม่า เป็นคนที่ไม่มีสัญชาติ แต่เขาสามารถเอาเอกสารนี้ไปยืนยันได้ว่าเขามีตัวตนอยู่จริง ในกรณีที่ได้กลับบ้านวันใดวันหนึ่งในอนาคต ถ้ารัฐบาลคืนสัญชาติคืนการเป็นประชาชนให้ เขาก็จะมีสิทธิต่างๆ ในฐานะพลเมืองพม่าคนหนึ่ง