กลุ่มผู้หนีภัยจากการสู้รบที่เปราะบางในประเทศไทยเริ่มได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
ในวันที่ 25 และ 26 ตุลาคม ผู้หนีภัยจากการสู้รบ (ผู้ลี้ภัย) 1,295 คน ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านถ้ำหิน อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เริ่มได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มแรกจากความพยายามของสภากาชาดไทยและกลุ่มพันธมิตรในเครือข่าย โดยการจัดการฉีดวัคซีนเข็มที่สองได้กำหนดไว้ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564
“โครงการนำร่องการฉีดวัคซีนในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านถ้ำหินโดยสภากาชาดไทยเป็นการยืนยันที่ชัดเจนถึงคำมั่นของประเทศไทยในการยึดหลักการรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายจูเซ็ปเป้ เด วินเซ็นทีส ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวระหว่างงานเปิดการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้พลัดถิ่นที่เปราะบางในประเทศไทย โดยการเปิดงานฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เชิงรุกมี ดร.อภิชาติ ชินวรรโณ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ เป็นประธาน และนายรณภพ เหลืองไพโรจน์. ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี, รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ตัวแทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR), สภากาชาดไทย, สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC), คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) และ คณะกรรมการกู้ภัยนานาชาติ (IRC) เข้าร่วม
โครงการฉีดวัคซีนที่บ้านถ้ำหินมีเป้าหมายในการฉีดให้กลุ่มประชากรที่มีความต้องการมากที่สุด ได้แก่ บุคคลที่มีโรคเรื้อรัง มีความบกพร่องทางร่างกาย ผู้สูงวัย และหญิงที่มีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ อาสาสมัครและบุคลากรวิชาชีพได้ร่วมมือกันให้บริการฉีดวัคซีนในครั้งนี้ ตูตู อาสาสมัครจาก IRC ได้แบ่งปันความประทับใจของเขาที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสภากาชาดไทย กระทรวงมหาดไทย จังหวัดราชบุรี โรงพยาบาลสวนผึ้ง IRC และ UNHCR ว่า “ผมจะได้รับการฉีดวัคซีนในครั้งนี้ด้วยและผมยังตื่นเต้นอยู่นิดหน่อย” ตูตูกล่าว “ผมยังคงหวังว่าการฉีดวัคซีนจะช่วยลดความท้าทายต่างๆ จากโรคโควิด-19 ที่มีต่อผู้พักอาศัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวได้” แม้ว่าโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อทุกคน ผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยยังคงมีความเปราะบางอย่างมากจากความท้าทายด้านปัจจัยพื้นฐาน การเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 และการจัดหาอุปกรณ์สุขอนามัยและความสนับสนุนด้านการแพทย์
โครงการนำร่องการฉีดวัคซีนโดยสภากาชาดไทยนี้ส่งเสริมกิจกรรมนำร่องที่ได้ริเริ่มไว้โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน ราชวิทยาลัยฯ ได้ดำเนินโครงการนำร่องการฉีดวัคซีนเพื่อผู้ลี้ภัยในเขตเมืองไปแล้ว 374 คน และยังได้จัดสรรวัคซีนจำนวน 20,000 โดสเพื่อผู้ลี้ภัยอีกกว่า 10,000 คน ซึ่งมีผู้หนีภัยจากการสู้รบมากกว่า 4,000 คนแล้วที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกในพื้นที่พักพิงชั่วคราวแม่หละ
UNHCR ซาบซึ้งในน้ำใจจากประเทศไทยที่ได้ช่วยเหลือบุคคลที่มีความเปราะบางมากที่สุดให้สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ และเรายังคงมุ่งมั่นสื่อสารกับชุมชนผู้หนีภัยจากการสู้รบเพื่อพยายามสร้างการตระหนักรู้ให้ได้ครอบคลุมมากที่สุดด้วยการทำงานเพื่อให้มั่นใจว่าข้อความสื่อสารเกี่ยวกับความเสี่ยงอันเนื่องมาจากโรคโควิด-19 ได้รวมอยู่ในกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินอยู่ รวมถึงการสื่อสารผ่านสื่อและข้อความตามขนบธรรมเนียมของชุมชนและในภาษาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง
ติดตามการทำงานของ UNHCR ในการมอบความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น และบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลกเพิ่มเติมได้ที่นี่
#UNHCRThailand #WithRefugees #COVID19
-
ผู้พลัดถิ่นในประเทศโมซัมบิกร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการปรับตัวในวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
23 พ.ย. 2022ด้วยความช่วยเหลือของ UNHCR ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลน กำลังสร้างบ้านใหม่ที่ทนทานต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
-
ความช่วยเหลือนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้ลี้ภัยได้อย่างไร
21 ก.พ. 2022หากไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจาก UNHCR ทาฮานิ ต้องเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอน