การหาทางออกให้กับการออกจากโรงเรียนกลางคัน เพื่ออนาคตที่มั่นคงและดีขึ้นของเด็กผู้ลี้ภัยในประเทศไทย

สองปีของการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากในหลายด้านต่อชีวิตผู้คนทั่วโลก นอกจากวิกฤตฉุกเฉินด้านสาธารณสุขแล้ว ข้อจำกัดต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องมาจากการแพร่ระบาดทำให้เกิดวิกฤตทางการศึกษาครั้งใหญ่ที่ยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการจำกัดพื้นที่ได้ถูกยกเลิก และการดำเนินชีวิตกลับสู่ “ปกติ” แล้วก็ตาม


วิกฤติครั้งนี้ยังทำให้ความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาทวีความรุนแรงขึ้น เด็กๆ ผู้ลี้ภัยทั่วโลกที่ต้องเผชิญการเรียนที่หยุดชะงักจากการพลัดถิ่นแล้ว ยังต้องทุกข์ทรมานกับการศึกษาที่ถดถอยลงไปด้วย นอกเหนือจากอุปสรรคด้านภาษา นี่เป็นความท้าทายที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และพันธมิตรให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ของการทำงานในประเทศไทยในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่นี้

UNHCR ดำเนินโครงการมอบเงินช่วยเหลือที่ครอบคลุมค่าบริการการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต เพื่อให้แน่ใจว่าเด็ก ๆ ผู้ลี้ภัยที่ได้รับการลงทะเบียนแล้วสามารถเข้าถึงการศึกษาทางไกลได้ แต่อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดครั้งใหญ่นี้ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และสุขภาพจิตของเด็ก ๆ ด้วยเช่นกัน นอกเหนือจากการเรียน หลายโรงเรียนได้จัดพื้นที่มอบความช่วยเหลือด้านการฟื้นฟูอารมณ์และสังคมโดยคุณครูและเพื่อนร่วมชั้นเรียน

“หนูคิดถึงการไปโรงเรียน” ไอชา อายุ 9 ขวบ ที่พักพิงอยู่ในกรุงเทพฯ กล่าว “หนูคิดถึงตอนที่มีเพื่อน ๆ และการได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ ๆ”

ไอชา เดินทางมาจากประเทศปากีสถานพร้อมกับครอบครัวเมื่อ 6 ปีก่อน ตามนโยบาย “การศึกษาเพื่อปวงชน” ของประเทศไทย ไอชา มีสิทธิได้เข้าเรียนในโรงเรียนโดยไม่จำกัดสัญชาติและสถานะทางกฎหมาย ทำให้เด็ก ๆ ผู้ลี้ภัยในเขตเมือง เช่น ไอชา ได้รับประโยชน์จากการศึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายจนถึงอายุ 15 ปี

ไม่ต่างจากเด็กคนอื่น ๆ ที่เรียนภาษาที่สอง ไอชา ต้องเผชิญความท้าทายในการอ่านและเขียนภาษาไทยในช่วงเริ่มต้น อามิรา คุณแม่ของไอชาลงทะเบียนให้เธอเข้าเรียนหลักสูตรภาษาไทยแบบเร่งรัดที่จัดโดย UNHCR และ โรงเรียนภคินีศรีชุมพาบาล เป็นเวลา 6 เดือน

“หนูเรียนภาษาไทย วัฒนธรรม และภาษาอังกฤษ” ไอชา เล่าให้ฟัง “หนูเรียนวิธีการนับเลขและคำศัพท์ง่าย ๆ เช่น ผัก ผลไม้ และสีต่าง ๆ ในภาษาไทย ที่สำคัญไปกว่านั้น หนูได้เรียนพยัญชนะภาษาไทยจากหลักสูตรนี้ ตอนนี้หนูสามารถช่วยมาลิก น้องชายคนเล็กทำการบ้านภาษาไทยได้แล้วค่ะ”

“หนูคิดถึงการไปโรงเรียน”

ใน พ.ศ. 2564 UNHCR สังเกตว่าความจำเป็นของการเรียนออนไลน์เนื่องจากการระบาดครั้งใหญ่นี้ ส่งผลต่อการเข้าเรียนของนักเรียน เด็กเล็กๆ ส่วนใหญ่ไม่มีสมาธิในการเรียนด้วยตัวเอง หากไม่มีผู้ปกครองหรือผู้ดูแล UNHCR ได้ขยายหลักสูตรภาษาไทยแบบเร่งรัด เพื่อให้ผู้ใหญ่สามารถช่วยเด็ก ๆ ทำการบ้านได้ หลักสูตรภาษาไทยนี้ได้ช่วยให้เด็กๆ ผู้ลี้ภัยปรับตัวเข้ากับระบบการศึกษาของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีอัตราความสำเร็จถึงร้อยละ 70

UNHCR ประมาณการณ์ว่า ร้อยละ 48 ของเด็กผู้ลี้ภัยทั่วโลกยังไม่ได้เข้าโรงเรียน ในประเทศไทยแม้ว่าจะมีการปิดโรงเรียนและมีปรับใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เข้มงวดขึ้นใน พ.ศ. 2564 แต่ UNHCR สามารถลงทะเบียนให้เด็กผู้ลี้ภัยเข้ารับการศึกษาในระบบได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้ด้วยกลยุทธ์การกำหนดเป้าหมายเพื่อสนับสนุนช่วงเปลี่ยนผ่านของเด็กผู้ลี้ภัยเข้าสู่การศึกษาในระบบของประเทศไทย และการลดความเสี่ยงของการออกจากโรงเรียนกลางคันในช่วงการเรียนออนไลน์

“ใน พ.ศ. 2564 UNHCR ได้ช่วยให้เด็กอายุ 6 – 17 ปี ได้รับการศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลในประเทศไทยถึงร้อยละ 55” ยอดธัช พรรณสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายโครงการอาวุโส UNHCR ประจำประเทศไทย อธิบาย

“แต่อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนการเข้ารับการศึกษาของเด็ก ๆ ในระบบการศึกษานี้ยังคงมีความท้าทาย จากการพูดคุยกับผู้ปกครอง อุปสรรคด้านภาษามักเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่พวกเขาพูดถึงในการไม่ส่งเด็ก ๆ เข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลของประเทศไทย เนื่องจากเกือบทุกโรงเรียนกำหนดให้เด็ก ๆ ต้องสามารถพูดและเขียนภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว ชั้นเรียนภาษาไทยที่โรงเรียนภคินีศรีชุมพาบาล ที่ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจาก UNHCR และดำเนินการโดยโคเออร์ ช่วยเสริมทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นให้แก่เด็ก ๆ เพื่อการปรับตัวให้เข้ากับโรงเรียนรัฐบาลของประเทศไทย และได้รับความสนใจจากผู้ปกครองหลายท่าน

“ฉันมั่นใจว่าหากเขาสามารถแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ เขาจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้กับโลกใบนี้”

การก้าวข้ามอุปสรรคด้านภาษาไม่ใช่เพียงความท้าทายเดียว สำหรับเด็กผู้ลี้ภัยบางคน รวมถึงเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย พวกเขายังต้องการการสนับสนุนที่มากกว่านี้
มาลิก น้องชายของไอชา มีความบกพร่องทางการได้ยิน เขาไม่สามารถพูดได้จนเมื่อปีที่ผ่านมา ด้วยการสนับสนุนจาก UNHCR มาลิกถูกส่งตัวไปยังมูลนิธิฉือจี้ ที่ได้มอบบริการผู้ป่วยนอกแก่ผู้ลี้ภัยในเขตเมือง ที่นั่นเขาได้รับเครื่องช่วยฟัง และในที่สุด หลังจากผ่านมา 6 ปี คุณแม่ของมาลิก ได้ยินลูกของเธอเรียก “แม่” เป็นครั้งแรก

“ฉันไม่สามารถหาคำพูดใดมาบรรยายความรู้สึกยินดีตอนที่ฉันสามารถคุยกับเขาเป็นครั้งแรกได้เลย” เธอพูดพร้อมน้ำตาแห่งความยินดี “การสนับสนุนทางการแพทย์เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น มาลิกยังต้องการการดูแลและการสนับสนุนเพิ่มในด้านการเรียน”

ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 โรงเรียนรัฐบาลหลายแห่งในประเทศไทย ได้กลับมาเปิดสอนในชั้นเรียนอีกครั้ง UNHCR สนับสนุนการกลับไปเรียนด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางแก่ครอบครัวผู้ลี้ภัย แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่นี้จำเป็นต้องให้เด็ก ๆ ได้ปรับตัวเข้ากับ “ชีวิตวิถีใหม่’ อีกครั้ง

“งานของเราไม่ได้หยุดลงหลังจากเด็ก ๆ ได้เข้าเรียนและสามารถเรียนในระบบได้ครบ 1 ปีเท่านั้น” ยอดธัช อธิบาย “ขอบเขตการทำงานของเรามุ่งไปที่การรักษาอัตราการเข้าเรียนของเด็กๆ ให้ถึงระดับมัธยมศึกษา ใน พ.ศ. 2565 ทีมของเราจะคอยเฝ้าสังเกตการณ์และเข้าถึงความต้องการทางการศึกษาของเด็ก ๆ อยู่เสมอในสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากมีงบประมาณที่เพียงพอ เราจะจัดการสอนเสริมรายสัปดาห์สำหรับเด็ก ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม”

แม้จะใช้เครื่องช่วยฟังเพียงอย่างเดียวมาเป็นเวลา 1 ปี และไม่เคยไปโรงเรียนด้วยการใส่เครื่องช่วยฟังเลย คุณแม่ของมาลิกยังมีความหวังต่ออนาคตของเขา มาลิกเช่นเดียวกับไอชา ได้กลับไปเรียนในโรงเรียนแล้ว

“มาลิก ไม่ได้ต้องการให้ช่วยเหลือตลอดเวลา แต่ความเอาใจใส่และความละเอียดอ่อนระหว่างการสอนจะช่วยพัฒนาความสามารถและทักษะของเขาได้อย่างแน่นอน เขาเป็นเด็กที่มีจิตใจเมตตา” อามิรา สังเกต “ฉันมั่นใจว่าหากเขาสามารถแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ เขาจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้กับโลกใบนี้”

Page 6 of 18