UNHCR: การพลัดถิ่นทั่วโลกทำลายสถิติอีกครั้ง ชี้ชัดแนวโน้มที่พุ่งสูงขึ้นตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

จำนวนผู้ที่ถูกบังคับให้หนีออกจากบ้านของตนเองเพิ่มขึ้นทุกปีตลอดทศวรรษที่ผ่านมา และแตะระดับสูงสุดที่เคยบันทึกไว้ แนวโน้มนี้มีเพียงทางเดียวที่จะแก้ไขได้ ด้วยการผลักดันร่วมกันครั้งใหม่สู่การสร้างสันติภาพ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) กล่าววันนี้

เมื่อปลาย พ.ศ. 2564 ผู้พลัดถิ่นจากสงคราม ความรุนแรง การประหัตประหาร และการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน มีจำนวน 89.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากสถิติเมื่อ 10 ปีก่อน ตามรายงานแนวโน้มประจำปีของ UNHCR

หลังจากการรุกรานของรัสเซียในประเทศยูเครน ทำให้วิกฤตการถูกบังคับให้พลัดถิ่นขยายตัวเร็วที่สุดและเป็นหนึ่งในสถานการณ์การพลัดถิ่นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกทั้งสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ จากทวีปแอฟริกา ถึงประเทศอัฟกานิสถาน และประเทศอื่นๆ ดันสถิติเพิ่มสูงถึง 100 ล้านคน

“ทุกๆ ปีตลอดทศวรรษที่ผ่านมา สถิติไต่ระดับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” นายฟิลลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าว “ชุมชนระหว่างประเทศต้องร่วมกันลงมือทำเพื่อช่วยเหลือโศกนาฏกรรมของมนุษยชน แก้ไขความขัดแย้ง และหาทางออกที่ยั่งยืน ไม่เช่นนั้นแนวโน้มที่เลวร้ายนี้จะยังคงดำเนินต่อไป”

ปีที่แล้วเกิดความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นและที่ปะทุขึ้นใหม่ให้เห็นใน 23 ประเทศ โดยมีประชากรทั้งหมดกว่า 850 ล้านคน ต้องเผชิญกับความตึงเครียดของความขัดแย้งในระดับกลางหรือสูง ตามข้อมูลจากธนาคารโลก

ในขณะเดียวกัน ความขาดแคลนทางอาหาร ภาวะเงินเฟ้อ และวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ทำให้ผู้คนลำบากยิ่งขึ้น ขยายขอบเขตการรับมือด้านมนุษยธรรม ในขณะที่งบประมาณที่คาดการณ์ไว้ในหลายสถานการณ์ยังคงขาดแคลนอีกมาก

จำนวนผู้ลี้ภัยพุ่งสูงใน พ.ศ. 2564 ถึง 27.1 ล้านคน ผู้เดินทางเพื่อลี้ภัยเข้ามาใหม่เพิ่มขึ้นในประเทศยูกันดา ชาด และซูดาน และอีกหลายๆ ประเทศ ผู้ลี้ภัยส่วนมาก เหมือนในอดีตได้รับที่พักพิงจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีทรัพยากรที่จำกัด ส่วนจำนวนผู้ขอลี้ภัย สูงถึง 4.6 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11

ปีที่แล้ว ยังเป็นปีที่ได้เห็นจำนวนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศจากความขัดแย้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 มากถึง 53.2 ล้านคน จำนวนที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่ เช่น ประเทศเมียนมา ความขัดแย้งในภูมิภาคทิเกรย์ของเอธิโอเปียและภูมิภาคอื่นๆ ที่กระตุ้นการต่อสู้ของผู้คนนับล้านภายในประเทศ อีกทั้งการจลาจลในภูมิภาคซาเฮล ผลักดันให้เกิดการพลัดถิ่นในประเทศครั้งใหม่ โดยเฉพาะในประเทศบูร์กินา ฟาโซ และชาด

ความเร็วและจำนวนการพลัดถิ่นยังคงล้ำหน้าทางออกที่สามารถมอบให้ผู้พลัดถิ่น เช่น การเดินทางกลับประเทศด้วยความสมัครใจ การตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม หรือการผสมผสานกลมกลืนกับชุมชนที่พักพิง แต่ทั้งนี้ รายงานแนวโน้มประจำปียังคงมีแสงแห่งความหวัง เมื่อจำนวนผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศที่ได้เดินทางกลับมาตุภูมิใน พ.ศ. 2564 มีจำนวนเพิ่มขึ้น กลับไปสู่ระดับเดิมก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยการเดินทางกลับบ้านด้วยความสมัครใจเพิ่มขึ้น ร้อยละ 71 แม้ว่าด้วยจำนวนจะยังคงที่ไม่มากนัก

“ในขณะที่เราได้เห็นสถานการณ์ผู้ลี้ภัยครั้งใหม่ๆ และสถานการณ์เดิมที่ปะทุขึ้นอีก หรือที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ เราก็ได้เห็นตัวอย่างจากหลายประเทศและชุมชนที่ทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออกแก่ผู้พลัดถิ่น” นายกรันดี เสริม “สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เช่น ความร่วมมือระดับภูมิภาคในการเดินทางกลับมาตุภูมิของชาวไอวอรี แต่การตัดสินใจที่สำคัญเหล่านี้ต้องการให้มีการทำซ้ำหรือยกระดับในที่อื่นๆ”

และแม้ว่าจำนวนบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติโดยประมาณนั้นเพิ่มขึ้นเล็กน้อยใน พ.ศ. 2564 มี 81,200 คนแล้วที่ได้รับสัญชาติหรือได้รับการยืนยันตัวตน เป็นจำนวนที่ลดลงมากที่สุดตั้งแต่เริ่มต้นแคมเปญ #IBelong โครงการยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติทั่วโลกของ UNHCR ในพ.ศ. 2557

#UNHCR #WithRefugees

 

ข้อมูลสำคัญจากรายงานแนวโน้มโลกของ UNHCR ประจำ พ.ศ. 2564

เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 ผู้คนมากกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก ต้องถูกบังคับให้พลัดถิ่นจากการประหัตประหาร ความขัดแย้ง ความรุนแรง การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเหตุการณ์อื่นๆ ที่กระทบสาธารณชนอย่างรุนแรง

ปลาย พ.ศ. 2564 จำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลกอยู่ที่ 89.3 ล้านคน ประกอบด้วย

  • ผู้ลี้ภัย 1ล้านคน
    • ผู้ลี้ภัยในความห่วงใยของ UNHCR 3 ล้านคน
    • ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ ในความห่วงใยของ UNRWA 8 ล้านคน
  • ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ 2 ล้านคน
  • ผู้ขอลี้ภัย 6 ล้านคน
  • ชาวเวเนซุเอลาที่พลัดถิ่นอยู่ทั่วโลก 4 ล้านคน

ในจำนวนผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นชาวเวเนซุเอลาทั่วโลกใน พ.ศ. 2564

  • ประเทศที่มีรายได้ต่ำ – ปานกลาง มอบที่พักพิงร้อยละ 83
  • ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด มอบที่พักพิงถึงร้อยละ 27 จากจำนวนทั้งหมด
  • ร้อยละ 72 พักพิงอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านติดกับประเทศต้นทางของตน
  • สาธารณรัฐตุรเคียมอบที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยเกือบ 3.8 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนประชากรที่มากที่สุดในโลก ตามมาด้วย ประเทศยูกันดา (1.5 ล้านคน) ปากีสถาน (1.5 ล้านคน) และเยอรมนี (1.3 ล้านคน) โดยโคลอมเบียมอบที่พักพิงแก่ผู้พลัดถิ่นชาวเวเนซุเอลานอกประเทศ 1.8 ล้านคน
  • ประเทศเลบานอน มอบที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยมากที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศ (1 ใน 8) ตามด้วยจอร์แดน (1 ใน 14) และตุรเคีย (1 ใน 23) เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศ เกาะอารูบา มอบที่พักพิงแก่ชาวเวเนซุเอลาที่พลัดถิ่นนอกประเทศมากที่สุด (1 ใน 6) ตามด้วยประเทศกือราเซา (1 ใน 10)

มากกว่า 2 ใน 3 (ร้อยละ 69) เดินทางมาจาก 5 ประเทศ

  1. ซีเรีย (6.8 ล้านคน)
  2. เวเนซุเอลา (4.6 ล้านคน)
  3. อัฟกานิสถาน (2.7 ล้านคน)
  4. ซูดานใต้ (2.4 ล้านคน)
  5. เมียนมา (1.2 ล้านคน)

ใน พ.ศ. 2564

  • ทั่วโลกมีผู้ลี้ภัยชาวเวเนซุเอลา ผู้ขอลี้ภัย และผู้อพยพ 6.1 ล้านคน (รายงานผ่านแพลตฟอร์มประสานงานเพื่อผู้ลี้ภัยและผู้อพยพจากเวเนซุเอลา)
  • มีผู้ยื่นขอลี้ภัย 1.4 ล้าน โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่เปิดรับการยื่นขอลี้ภัยมากที่สุด (188,900) ตามด้วยประเทศเยอรมนี (148,200) เม็กซิโก (132,700) คอสตา ริกา (108,500) และฝรั่งเศส (90,200)

ทางออกที่ยั่งยืน

  • ใน พ.ศ. 2564 มีผู้พลัดถิ่นเดินทางกลับพื้นที่หรือประเทศต้นทาง 5.7 ล้านคน รวมถึงผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ 5.3 ล้านคน และผู้ลี้ภัย 429,300 คน

ข้อมูลและภาพเพิ่มเติมสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์

หมายเหตุ:

รายงานแนวโน้มประจำปีของ UNHCR ถูกเผยแพร่ควบคู่กับรายงานประจำปี ที่ให้รายละเอียดโครงการและกิจกรรมของ UNHCR เพื่อบ่งชี้ถึงความขาดแคลนของผู้ที่ถูกบังคับให้หนีออกจากบ้านของตน รวมถึงประชากรบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก