ฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เตือนถึงอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ฟิลิปโป กรันดี ได้กล่าวก่อนการประชุมคณะกรรมการบริหารประจำปีของ UNHCR (UNHCR’s annual Executive Committee) ที่จัดขึ้น ณ กรุงเจนีวา ว่าการที่มีจำนวนประเทศที่ให้ความร่วมมือแก้ไขภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติเพิ่มขึ้นนั้น หมายความว่าประชาคมนานาชาติได้เข้าใกล้จุดเปลี่ยนในการยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติให้หมดไปอย่างสิ้นเชิงมากขึ้นทุกที
“ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความตระหนักรู้ของสังคมต่อประเด็นภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติและผลกระทบที่สืบเนื่องจากปัญหานี้อาจไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร แต่สิ่งนี้กำลังเปลี่ยนแปลง โดยในปัจจุบันความหวังที่จะยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติให้หมดไปอย่างสิ้นเชิงนั้น เข้าใกล้ความเป็นจริงมากยิ่งขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน” กรันดี กล่าว
“อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นก็ยังไม่น่าไว้วางใจ ทั้งนี้ เนื่องจากนโยบายชาตินิยมที่มุ่งสร้างความเสียหาย และการบิดเบือนที่มุ่งสร้างความรู้สึกต่อต้านผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ ทั้งสองสิ่งนี้มีพลังอย่างมากในระดับนานาชาติซึ่งอาจหยุดยั้งความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา ผู้คนนับล้านทั่วโลกที่ไม่มีสัญชาติหรือตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะไร้รัฐไร้สัญชาติต่างต้องการทางออกอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นชาวโรฮิงญาจากเมียนมา และประชากรชนกลุ่มน้อยที่เสี่ยงต่อภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติในรัฐอัสสัมของอินเดีย หากปราศจากทางออก เราต่างมีความเสี่ยงที่จะถูกกีดกัน ซึ่งปัญหานี้ได้ส่งผลกระทบแล้วต่อชีวิตของผู้คนนับล้าน และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาต้องมีเพิ่มขึ้นอีกเป็นทบเท่าทวีคูณ”
UNHCR ได้ริเริ่มโครงการระดับโลก #IBELONG ใน พ.ศ. 2557 เพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติให้ได้ภายใน พ.ศ. 2567 นับแต่นั้น มี 15 ประเทศ ที่ได้ร่วมเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาหลัก 2 อนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งประกอบด้วย อนุสัญญาว่าด้วยสถานะของบุคคลไร้รัฐ ค.ศ.1954 และ อนุสัญญาว่าด้วยการลดภาวะไร้รัฐ ค.ศ.1961 โดยคาดว่าระหว่างการประชุมในสัปดาห์นี้ จำนวนประเทศที่จะร่วมเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของบุคคลไร้รัฐ ค.ศ. 1954 อาจจะเพิ่มขึ้นถึง 100 ประเทศได้ในไม่ช้า
ในช่วง 5 ปีแรกของโครงการ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติจำนวนกว่า 220,000 ราย ได้รับสัญชาติแล้ว อันเป็นผลมาจากความร่วมมือและความมุ่งมั่นของประเทศและการสนับสนุนจากโครงการ #IBELONG ทั้งนี้ ประเทศที่มีความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นประเทศคีร์กีซสถานและเคนย่า หรือทาจิกิสถานและประเทศไทยล้วนมีความมุ่งมั่นตั้งใจ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คีร์กีซสถานนับเป็นประเทศแรกของโลกที่ประกาศความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติให้หมดไปได้โดยสิ้นเชิง
ยิ่งไปกว่านั้น ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ #IBELONG ประเทศมาดากัสการ์และเซียร์รา ลีโอน ได้มีการปฏิรูปกฎหมายสัญชาติ โดยอนุญาตให้มารดาสามารถส่งต่อสัญชาติให้แก่บุตรได้อย่างเท่าเทียมกับบิดา ถึงกระนั้น ยังมีอีก 25 ประเทศที่มารดายังไม่สามารถหรือยังมีอุปสรรคในการส่งต่อสัญชาติไปยังบุตร และนี่เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติทั่วโลก นอกจากนี้ไม่มีหลักประกันว่ากฎหมายสัญชาติของทุกประเทศจะมีมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เด็กที่เกิดใหม่ต้องตกอยู่ในภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ ฉะนั้น ภาวะไร้รัฐไร้สัญชาตินี้จึงยังคงสามารถส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้
การยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบในกฎหมายสัญชาติยังช่วยให้ประชาคมนานาชาติได้ทำตามคำมั่นสัญญาที่รัฐต่างๆ ได้ให้ไว้ในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ว่า “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
วันนี้ ผู้มีชื่อเสียงทั้งในด้านสื่อ สิทธิมนุษชน ผู้ลี้ภัย และบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ รวมทั้งผู้แทนแห่งรัฐสมาชิกต่างเข้าร่วมการประชุมระดับสูงว่าด้วยภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติซึ่งเป็นวาระพิเศษของการประชุมคณะกรรมการบริหารของ UNHCR ณ กรุงเจนีวา เพื่อทบทวนความก้าวหน้าของโครงการ #IBELONG ที่ได้ดำเนินการมาถึงครึ่งทางแล้ว และให้คำมั่นในการดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติให้หมดไปภายใน พ.ศ. 2567
ผู้ร่วมประชุมครั้งนี้ รวมถึง อมีนา โมฮัมเหม็ด รองเลขาธิการสหประชาชาติ, เคต บลานเชตต์ ทูตสันถวไมตรี ของ UNHCR, อนิตา รานี ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์และพรีเซ็นเตอร์ชาวอังกฤษ, มาฮา มาโม อดีตผู้ลี้ภัยไร้รัฐไร้สัญชาติและนักรณรงค์, ลามแบร์โต้ ซานเย่ ข้าหลวงใหญ่ด้านชนกลุ่มน้อยแห่งชาติจากองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE High Commissioner on National Minorities) และผู้ร่วมประชุมท่านอื่นๆ
โดยที่บางประเทศจะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาและร่วมเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ
– จบ –
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อประจำกรุงเทพฯ:
ดวงมน สุชาตานนท์ [email protected] +66 81 855 8522
เจนนิเฟอร์ แฮริสัน [email protected] +66 82 290 883
Share on Facebook Share on Twitter