เจนีวา –จำนวนผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นพุ่งสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว และปีนี้ จากรายงานแนวโน้มโลกประจำปี 2024 ที่ดำเนินการโดย สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)
การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ถูกบังคับพลัดถิ่นสูงถึง 120 ล้านคนภายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 เป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 12 สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งทั้งที่เกิดขึ้นใหม่และความขัดแย้งเดิมที่เปลี่ยนไป ตลอดจนความล้มเหลวในการแก้ไขวิกฤตการณ์ที่ยืดเยื้อยาวนาน ตัวเลขดังกล่าวจะทำให้ผู้พลัดถิ่นทั่วโลกมีขนาดเทียบเท่ากับประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 12 ของโลก ซึ่งสามารถประมาณการณ์ได้เท่าขนาดประชากรประเทศญี่ปุ่น
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ตัวเลขสูงขึ้น คือความขัดแย้งร้ายแรงในซูดาน โดยสิ้นปี พ.ศ. 2566 ชาวซูดานกว่า 10.8 ล้านคนยังคงพลัดถิ่น ปีที่ผ่านมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและเมียนมา ผู้คนหลายล้านคนต้องพลัดถิ่นภายในประเทศเนื่องจากการสู้รบที่โหดร้าย สำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (UNRWA) ประมาณการว่าภายในสิ้นปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ผู้คนกว่า 1.7 ล้านคน (ร้อยละ 75 ของประชากรทั้งหมด) ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นในฉนวนกาซาเนื่องจากความรุนแรงอย่างที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ นอกจากนี้ ประเทศซีเรียยังคงเป็นประเทศที่มีวิกฤตการพลัดถิ่นครั้งใหญ่ที่สุดของโลก จากจำนวนผู้พลัดถิ่น 13.8 ล้านคนทั้งภายในและนอกประเทศ
“เบื้องหลังตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้คือชีวิตของเพื่อนมนุษย์ที่ต้องประสบโศกนาถกรรมอย่างหาที่สุดไม่ได้ ความทุกข์ทรมานดังกล่าวเป็นการกระตุ้นเตือนให้ประชาคมระหว่างประเทศดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อจัดการกับสาเหตุของการถูกบังคับให้พลัดถิ่น” นายฟิลลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าว“ถึงเวลาแล้ว สำหรับฝ่ายที่ทำสงครามจะต้องเคารพกฎหมายพื้นฐานของสงครามและกฎหมายระหว่างประเทศ ความจริงก็คือ ไม่มีความร่วมมือไหนที่จะดีไปกว่า ความพยายามร่วมกันแก้ไขความขัดแย้ง การละเมิดสิทธิมนุษยชน และแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ตัวเลขผู้พลัดถิ่นจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด นำมาซึ่งความทุกข์ยากรูปแบบใหม่และค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่เพิ่มสูงขึ้น”
จำนวนผู้พลัดถิ่นที่เพิ่มขึ้น เกิดจากผู้คนที่ต้องหนีจากความขัดแย้งซึ่งยังคงอยู่ในประเทศของตนเอง โดยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 68.3 ล้านคน จากการอ้างอิงของข้อมูลภายในของศูนย์ติดตามตรวจสอบการพลัดถิ่น ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงถึงเกือบร้อยละ 50 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
จำนวนผู้ลี้ภัยและกลุ่มอื่น ที่ต้องการการคุ้มครองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 43.4 ล้านคน เมื่อรวบรวมผู้ลี้ภัยที่อยู่ภายใต้การดูแลของ UNHCR และ UNRWA รวมเข้าด้วยกัน ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง โดยกว่า ร้อยละ 75 อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งสร้างรายได้รวมกันน้อยกว่า ร้อยละ 20 ของรายได้ทั่วโลก
รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าทั่วโลกมีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศมากกว่า 5 ล้านคนและผู้ลี้ภัย 1 ล้านคน ได้เดินทางกลับบ้านเกิดของตนเองในปี พ.ศ. 2566 จำนวนตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าของกระบวนการแก้ไขปัญหาในระยะยาวและจำนวนผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่เพิ่มขึ้นเกือบ 160,000 คนในปี พ.ศ. 2566
“ผู้ลี้ภัย – และชุมชนที่ให้ที่พักพิงแก่พวกเขา– ต้องการความสามัคคีและความช่วยเหลือ พวกเขาจะสามารถช่วยเหลือสังคมได้รับการยอมรับ” นายฟิลลิปโป กรันดี กล่าวพิ่มเติม “ในขณะเดียวกัน ผู้คนจำนวนหลายล้านคนได้เดินทางกลับบ้านเมื่อปีที่แล้ว แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความหวังที่แม้จะริบหรี่ก็ตาม เรายังคงเห็นการแก้ปัญหาเกิดขึ้น ในหลายประเทศ เช่นประเทศเคนยาได้นำร่องในการรวมผู้ลี้ภัยเข้าไว้ในสังคม ซึ่งต้องใช้ความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง”
รายงานฉบับนี้ยังนำเสนอบทวิเคราะห์ใหม่ เกี่ยวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบที่เพิ่มขึ้นต่อผู้คนที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่น
ท่ามกลางความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นจำนวน120 ล้านคนต้องเผชิญตามที่ระบุไว้ในรายงาน
Global Trends UNHCR ยังคงมุ่งมั่น และเร่งค้นหาวิธีการและแนวทางแก้ไขใหม่ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ถูกบังคับให้ต้องพลัดพรากจากบ้านของตนเอง ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ใดก็ตาม
Share on Facebook Share on Twitter