เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ชื่นชมรัฐบาลไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของพันธมิตรระดับโลกเพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติอย่างเป็นทางการ ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขและป้องกันปัญหาภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ
พันธมิตรระดับโลกเพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาตินี้ เป็นโครงการใหม่ซึ่งจะเปิดตัวในเดือนตุลาคม พ.ศ 2567 เพื่อเร่งรัดการแก้ปัญหาภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติให้ลุล่วงภายในปี พ.ศ. 2573 ผ่านความร่วมมือของหลายภาคส่วน โดยยึดถือและให้เกียรติประสบการณ์ของทั้งอดีตบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติและผู้ที่ยังคงไร้รัฐไร้สัญชาติอยู่ในปัจจุบัน
พันธมิตรระดับโลกเพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาตินี้เป็นการต่อยอดความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม และจะสร้างแรงกระเพื่อมอย่างต่อเนื่องจากโครงการ #IBelong เพื่อที่ยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติภายในปี พ.ศ. 2567 นอกจากนี้พันธมิตรระดับโลกจะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยเพิ่มการขับเคลื่อนและกระตุ้นให้เกิดความมุ่งมั่นในทางการเมืองและเร่งรัดให้เกิดการแก้ปัญหาภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติอย่างเป็นรูปธรรม
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนประชากรไร้รัฐไร้สัญชาติมากที่สุดในโลก โดยมีบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วมากกว่า 500,000 คนอาศัยอยู่ในประเทศ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติส่วนใหญ่ประกอบด้วยประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งจำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการทางทะเบียนราษฎรและการขอสัญชาติ รวมทั้งบริการอื่นๆ ของรัฐ
แม้ว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ แต่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาที่สำคัญที่จะแก้ไขปัญหาภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ “ประเทศไทยให้คำมั่นสัญญาที่สำคัญต่อที่ประชุมผู้ลี้ภัยโลก (Global Refugee Forum) ในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา” แทมมี ชาร์ป ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าว “เรารู้สึกยินดีที่ประเทศไทยที่แสดงเจตนารมณ์ที่จะจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ และส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางทะเบียนราษฎรให้กับบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยให้ความสำคัญเร่งด่วนแก่เด็กและผู้สูงอายุ นอกจากนี้คำมั่นของประเทศไทย ยังรวมไปถึงการทบทวนกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเพื่อเอื้ออำนวยในการเข้าถึงสถานะการมีถิ่นที่อยู่อาศัยในประเทศโดยถูกต้องตามกฎหมาย การเข้าถึงสัญชาติ และสิทธิพลเมือง”
ประเทศไทยได้ดำเนินการปฏิรูปกฎหมายสัญชาติและการทะเบียนราษฎรอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เพื่อปรับปรุงการเข้าถึงสัญชาติและสถานะบุคคล และในปี พ.ศ. 2548 ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล การดำเนินการดังกล่าวนี้มีส่วนช่วยให้บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่จดทะเบียนแล้วมากกว่า 80,000 คนได้รับสัญชาติไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา
เชียววู อดีตบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ได้รับสัญชาติไทยในปี พ.ศ. 2564 และนำมาซึ่งการแก้ไขสถานะบุคคลให้กับลูกทั้งห้าคนของเธอในเวลาต่อมา “ฉันแค่อยากให้พวกเขา (บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติคนอื่นๆ) ได้รับบัตรประจำตัวอย่างรวดเร็วเหมือนฉัน ในตอนนี้ ลูกๆ ของฉันสามารถเดินทางไปได้ทุกที่ที่ต้องการและไม่มีปัญหาในการศึกษาเล่าเรียน พวกเขามีความสุขมาก พวกเรารู้สึกสบายใจ ฉันหวังว่าทุกคนจะสามารถรู้สึกเช่นเดียวกันกับเราได้”
ถึงกระนั้น ยังมีปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานบางประการ รวมถึงเสรีภาพในการเดินทาง การเข้าถึงบริการสาธารณะและกระบวนการการได้รับความคุ้มครองทางสังคม ยิ่งไปกว่านั้น การแก้ไขสถานะทางกฎหมายของบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติจำนวนกว่าครึ่งล้านนับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรระดับโลกเพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติของประเทศไทยในครั้งนี้ เป็นการส่งสัญญาณถึงความตั้งใจที่จะยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ และยืนยันที่จะดำเนินการอย่างเต็มที่ให้บรรลุภารกิจของพันธมิตร
Share on Facebook Share on Twitter