ภัยแล้งรุนแรงทำให้ชาวโซมาเลีย 1 ล้านคน ต้องพลัดถิ่นนับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2564 และคาดการณ์ว่าจะมีคนหนีออกมาเพิ่มากขึ้นจากความอดอยาก
อิสแซค ฮัสซัน อายุ 82 ปี สูญเสียลูก 4 คน จากวิกฤตความอดอยากในโซมาเลียในปี พ.ศ. 2554 ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นพรากชีวิตของภรรยาและปศุสัตว์ของเขาก่อนที่เขาจะหนีมายังค่ายที่พักพิงในเมือง Baidoa พร้อมกับสมาชิกครอบครัวที่เหลือ © UNHCR/Nabil Narch
© อิสแซค ฮัสซัน อายุ 82 ปี สูญเสียลูก 4 คน จากวิกฤตความอดอยากในโซมาเลียในปี พ.ศ. 2554 ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นพรากชีวิตของภรรยาและปศุสัตว์ของเขาก่อนที่เขาจะหนีมายังค่ายที่พักพิงในเมือง Baidoa พร้อมกับสมาชิกครอบครัวที่เหลือ © UNHCR/Nabil Narch
น้ำในแม่น้ำแห้งเหือด ไม่มีอาหารให้เด็ก ๆ และไม่มีเงินจ่ายภาษี คุณแม่ลูก 7 วัย 35 ปี หนีออกจากบ้านใน Lower Shabelle ที่ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ที่เธอและสามีปลูกผักและผลไม้
“บางคนถูกทำร้ายเสียชีวิต (โดยกลุ่มติดอาวุธ) และอีกหลายคนถูกจับตัวไป รวมถึงแม่ของฉันด้วย” เธอเล่า “เราจึงต้องหนีเพื่อเอาชีวิตรอด ฉันไม่สามารถแม้แต่พาลูกทุกคนมาได้ ลูกของฉันสี่คนยังอยู่กับย่าของพวกเขา ฉันพามาได้แค่ลูกคนเล็ก 3 คน มาด้วยเท่านั้น”
ฟาติ กำลังนั่งอยู่บนถังเก็บน้ำสะอาดเปล่าหน้าที่พักของเธอ ปูด้วยกิ่งไม้และเศษเสื้อผ้าเก่า ๆ เธอเล่าถึงการเดินทางที่อันตรายตลอด 15 วันก่อนเดินทางมาถึงค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศในเมือง Dolow ทางตอนใต้ของโซมาเลีย
“มันยากลำบากมาก” เธอเล่า “เราเอาเด็ก ๆ นั่งบนลา และให้ผู้ใหญ่เดินเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรจนถึง” บางคนที่มากับเราสูญเสียลูกระหว่างทาง
“อาหารคือสิ่งสำคัญเป็นอันดับแรก เราจึงสามารถคิดถึงเรื่องการศึกษาและเรื่องอื่น ๆ ได้ หลังจากเรามีอาหาร”
ฟาติ สามีของเธอและลูก ๆ รอดชีวิตจากบททดสอบ และพักพิงอยู่ร่วมกับผู้พลัดถิ่นอีกหลายพันครอบครัวในที่พักพิงชั่วคราวที่ตั้งขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นชานเมือง Dolow ค่ายที่พักพิงที่เธออยู่ตอนนี้ไม่มีห้องน้ำและมีจุดจ่ายน้ำเพียงจุดเดียว
“เราเดินทางมาถึงพื้นที่ที่ว่างเปล่า ไม่มีที่พักพิง และเราไม่มีสัมภาระอะไรติดตัวมาเลย เราทิ้งทุกอย่างไว้ข้างหลัง” เธอเล่า “อาหารเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดเป็นอันดับแรก เราจะสามรถคิดถึงการศึกษา และสิ่งอื่น ๆ ได้ต่อเมื่อเรามีอาหาร และมีที่ให้พักพิง”
โซมาเลีย ไม่ต่างจากพื้นที่อื่น ๆ ของจะงอยแอฟริกา ที่กำลังเผชิญกับภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี หลังจากฝนไม่ตกติดต่อกัน 4 ฤดูกาล มากกว่า 7 ล้านคนจาก 15 ล้านคนในประเทศกำลังเผชิญกับความอดอยากรุนแรง ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าในฤดูกาลหน้าระหว่างเดือนตุลาคม และธันวาคมมีแนวโน้มว่าฝนจะไม่ตกอีกครั้ง ส่งผลให้ในหลายพื้นที่ของประเทศต้องเผชิญกับความอดอยากก่อนสิ้นปีที่จะถึงนี้ เว้นแต่จะมีการเร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
ชาวโซมาเลียหลายแสนคนต้องทิ้งบ้านและออกเดินทางผ่านเส้นทางที่อันตรายเพื่อตามหาอาหาร น้ำ และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม นับตั้งแต่ภัยแล้งครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนมกราคม ปีที่ผ่านมา มากกว่า 1 ล้านคน ถูกบังคับให้หนีออกจากบ้าน รวมไปถึงอีก 875,000 คน ที่พลัดถิ่นในปีนี้ นอกจากนี้ยังมีอีก 365,000 คน ที่ต้องหนีจากความขัดแย้ง
ภัยแล้งไม่ใช่เรื่องแปลกในโซมาเลีย โดยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่เปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เกิดภาวะภัยแล้งซ้ำแล้วซ้ำอีกสลับกับน้ำท่วม รวมถึงภาวะอดอยากครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 โดยทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 250,000 คน คนเลี้ยงสัตว์ และชุมชนเกษตรกรรมมีเวลาที่จะฟื้นตัวจากภัยพิบัติครั้งหนึ่งก่อนที่จะเกิดภัยพิบัติอีกครั้งน้อยเกินไป
ในบรรดาผู้เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2554 มีลูกสี่คนของอิสแซค ฮัสซัน รวมอยู่ด้วย เพื่อช่วยสมาชิกครอบครัวที่เหลือ พวกเขาจึงเดินทางไปยังโมกาดิชู เมืองหลวง และเดินทางกลับบ้านในอีกหนึ่งปีต่อมาเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ฝนที่ยังคงไม่ตกตามฤดูกาลอย่างต่อเนื่อง และสัตว์เลี้ยงเพียงไม่กี่ตัวที่เหลืออยู่ตายลงเพราะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
“ผมเสียวัว 40 ตัว และแพะ 30 ตัว” ชายชราวัย 82 ปี จากเมือง Diinsoor ทางตะวันออกเฉียงใต้ของโซมาเลียเล่า “พืชไร่ และสัตว์เลี้ยงตายหมด สัตว์เลี้ยงตายจากความอดอยาก และพืชไร่ตายเพราะขาดน้ำ”
เขาต้องหนีอีกครั้งในเดือนเมษายน แต่ภรรยาของเขาเสียชีวิตทันทีหลังจากเดินทางมาถึงค่ายในเมือง Baidoa
ฮาชิม อับดีราชิด เจ้าหน้าที่ด้านความคุ้มครองของ UNHCR ในเมือง Baidoa กล่าวว่า ผู้คนมักมาถึงค่ายโดยไม่มีอะไรเลย “UNHCR ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในการช่วยชีวิต เช่น อุปกรณ์ที่พักฉุกเฉิน ผ้าพลาสติกเอนกประสงค์ ผ้าห่ม ชุดครัว และชุดสุขอนามัย แต่เรามีทรัพยากรที่จำกัดในการให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด
“ตอนนี้เรากำลังมุ่งเป้าไปที่กลุ่มเปราะบางที่สุด รวมถึงกลุ่มที่ต้องการความคุ้มครอง เช่น ผู้หญิงและผู้สูงอายุ”
ในเดือนมิถุนายน UNHCR ต้องการงบประมาณ 9.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 329 ล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือชุมชนผู้พลัดถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในโซมาเลีย จนถึงขณะนี้ ได้รับงบประมาณเพียง 2.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 97 ล้านบาท) เท่านั้น และต้องการงบประมาณเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วนในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าเพื่อมอบความช่วยเหลือในระยะยาว เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถปรับตัวเข้ากับวิกฤตสภาพภูมิอากาศและฟื้นฟูวิถีชีวิตของพวกเขา
“โซมาเลียอยู่ในความเสี่ยงของการเกิดความอดอยาก ผลกระทบจากความขัดแย้งในยูเครนและผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง เราต้องการงบประมาณอย่างเร่งด่วนเพื่อช่วยชีวิตผู้คนต่อไปก่อนทุกอย่างสายเกินไป” ฮาชิมกล่าว
ในประเทศที่การเลี้ยงสัตว์และการทำเกษตรกรรมทำให้ประชากรได้มากกว่าครึ่งหนึ่งดำรงชีวิตอยู่ได้ การสูญเสียปศุสัตว์ประมาณ 3 ล้านตัว จากความหิวโหยและการขาดแคลนน้ำถือเป็นความเสียหายร้ายแรงต่อครอบครัวของพวกเขา
“เราไม่เคยเห็นความแห้งแล้งเช่นนี้มาก่อน”
ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศแห่งหนึ่งในเมือง Dolow ซากสัตว์และกระดูกสัตว์กระจัดกระจายอยู่ในบริเวณที่พิงชั่วคราว
“ภัยแล้งได้คร่าชีวิตสัตว์เหล่านี้ไปจนหมด” ออสมาน อิบราฮิม โมฮาเหม็ด วัย 70 ปี กล่าว “ซากสัตว์ที่คุณเห็นคือวิถีชีวิตของผู้คน”
“วัวที่ตายแล้วตัวนี้ช่วยชีวิตครอบครัวนี้ที่นี่” เขากล่าวเสริมพร้อมชี้ไปที่ที่พักพิงใกล้เคียง “มันเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่บังคับให้เราต้องหนี”
ออสมาน ออกจากบ้านในภูมิภาค Middle Jubba พร้อมลูก ๆ 13 คน หลังจากสูญเสียสัตว์เลี้ยงทั้งหมด
“เราไม่เคยเห็นความแห้งแล้งเช่นนี้มาก่อน” เขากล่าว “ผมได้เห็นความแห้งแล้งมาแล้วสี่ครั้ง แต่ผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน”
จนกว่าความช่วยเหลือจะมาถึง ฟาติก็เตรียมน้ำในถังเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งวัน และปรุงอาหารให้ลูก ๆ ของเธอเพียงวันละครั้งเท่านั้น “คนเก่งที่สุดจะทำอาหารวันละมื้อ มีคนที่ต้องทนหิวเป็นเวลาสามถึงสี่วัน (เพราะ) พวกเขาไม่มีอาหาร” เธอกล่าว “ช่วงนี้มีเด็กเสียชีวิตเพราะความอดอยากและท้องเสีย”
“เราต้องการความช่วยเหลือในทุก ๆ ด้าน” เธอกล่าวเสริม “สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนที่สุดคือ อาหาร น้ำ และห้องน้ำ”
Share on Facebook Share on Twitter