กรุงเทพ – นายฟิลลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ร่วมหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ลี้ภัยและบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยกับรัฐบาลไทยระหว่างการเดินทางเยือนประเทศไทยเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดในวันอังคาร
เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมเนียมปฎิบัติของประเทศไทยที่มีมาอย่างยาวนานในการให้ความคุ้มครองด้านมนุษยธรรมและความช่วยเหลือแก่ผู้ที่หนีภัยจากความไม่สงบและความขัดแย้ง ข้าหลวงใหญ่ฯ สนับสนุนให้เปิดพรมแดนและปฏิบัติตามหลักการไม่ส่งกลับ
นายกรันดี เดินทางเยือนที่พักพิงชั่วคราวบ้านถ้ำหิน จ. ราชบุรี โดยได้รับการต้อนรับจากผู้ลี้ภัยจากเมียนมาที่ร่วมแบ่งปันเรื่องราวและความหวังในอนาคตของพวกเขา
ที่พักพิงชั่วคราวบ้านถ้ำหิน เป็นหนึ่งในที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งในประเทศไทย โดยปัจจุบันประเทศไทยให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยจากเมียนมา 90,081 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงและกะเหรี่ยงแดงที่ต้องลี้ภัยบางคนต้องลี้ภัยมานานถึง 30 ปี
UNHCR ร่วมกับรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกา เปิดโครงการริเริ่มการตั้งถิ่นฐานใหม่กลุ่มใหญ่ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ลี้ภัยเช่นผู้ลี้ภัยจากบ้านถ้ำหิน ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ในประเทศที่สาม
“การตั้งถิ่นฐานใหม่กลุ่มใหญ่เป็นโอกาสที่เปลี่ยนชีวิตของผู้ลี้ภัยเหล่านี้” นายกรันดี กล่าวขณะเยี่ยมชมที่พักพิงชั่วคราวบ้านถ้ำหิน “อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะไป และสำหรับพวกเขาจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่องในการขยายสิทธิของผู้ลี้ภัย เช่น การให้โอกาสในการทำงานหรือโอกาสเข้าถึงการศึกษา”
ข้าหลวงใหญ่ฯ ชื่นชมรัฐบาลไทยสำหรับความคืบหน้าในการพัฒนาระบบในประเทศเพื่อคัดกรองบุคคลที่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองระหว่างประเทศ
นายกรันดี ยืนยันว่า UNHCR ยังคงมุ่งมั่น ในการสนับสนุนรัฐบาลไทย เพื่อให้มั่นใจว่ากฎระเบียบดังกล่าวสอดคล้องกับหลักการ และมาตรฐานระหว่างประเทศในการขอลี้ภัย
ในส่วนของสถานการณ์บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ เพิ่มเติมจากคำมั่นสัญญาที่ประเทศไทยให้ไว้ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติในปี พ.ศ. 2562 ตลอดจนบทบาทในกลุ่มเพื่อนของโครงการ #IBelong ข้าหลวงใหญ่ฯ สนับสนุนให้ประเทศไทยส่งเสริมการดำเนินการเพื่อแก้ไขและลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ รวมถึงผ่านการพัฒนาแผนปฏิบัติการระดับชาติต่อไป
“ประเทศไทยแสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทในการลดและยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติมาโดยตลอด” นายกรันดี กล่าว อย่างไรก็ตาม ทรัพยากรมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนเจตจำนงทางการเมืองให้เป็นการปฏิบัติ เราจะสนับสนุนประเทศไทยต่อไปเพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงเพื่อเร่งความก้าวหน้าในการยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ”
สุดท้ายนี้ นายกรันดี มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าประเทศไทยจะยกระดับคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยในปี พ.ศ. 2562 ได้อย่างไร เขาสนับสนุนให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในช่วงการประชุมฯ ในปี พ.ศ. 2566 ที่กำลังจะมาถึง และมีส่วนร่วมในการส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาการช่วยเหลือและหาทางออกแก่ผู้ที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นและบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ
การเดินทางเยือนประเทศไทยครั้งนี้กระชับความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างรัฐบาลไทยและ UNHCR เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย และบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย
หลังการเข้าพบผู้แทนอาวุโสของรัฐบาลไทยในวันนี้ ข้าหลวงใหญ่ฯ จะเข้าร่วมการประชุมระดับสูงระดับภูมิภาคเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในวันอังคารที่ 17 ตุลาคม
Share on Facebook Share on Twitter