ก่อนหน้านี้ที่นี่ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้า และภายในไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยเลย สีลอกออกจากผนังของกำแพงอาคารที่เสียหาย แต่เราได้มาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพราะได้รับการบริจาคจากเทศบาล เอลลิส เรียกพลอฟดิฟ ว่าบ้านนับตั้งแต่ออกจากยูเครนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เธอมีความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูที่นี่เพื่อเด็ก ผู้หญิง และผู้สูงอายุจำนวนมากที่กำลังต้องการที่ให้พักพิง
“ภายในระยะเวลา 2-3 วันแรก หลังสงครามเกิดขึ้น เราเริ่มทำศูนย์รวบรวมของบริจาค และด้วยความช่วยเหลือจาก เพื่อน ครอบครัว และสมาคมต่าง ๆ เราสามารถรวบรวมอาหาร ยา ผ้าห่ม และผ้าพันแผลได้อย่างรวดเร็ว แต่เมื่อการทำงานขยายตัวอย่างรวดเร็ว เราตระหนักได้ว่ายังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำ” เอลลิส เล่า ขณะที่เธอเดินอยู่ในชั้นแรก ๆ ของโรงพยาบาลที่ตอนนี้ได้รับการฟื้นฟูใหม่แล้ว
เอลลิส สามารถจัดการปรับปรุงชั้น 1-3 ของโรงพยาบาลได้จากทั้งหมด 4 ชั้น นับตั้งแต่เริ่มโครงการในเดือนมีนาคม ด้วยความช่วยเหลือจากอาสาสมัครผู้ลี้ภัย และการบริจาคจากธุรกิจท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชนชาวบัลแกเรีย
ภายใต้การอุปถัมภ์ของ Ukraine Support and Renovation Foundation องค์กรการกุศลของเธอ โรงพยาบาลที่ได้รับการฟื้นฟูใหม่เปิดทำการอีกครั้งในเดือนมิถุนายน และตอนนี้ที่นี่เป็นบ้านของผู้ลี้ภัย 130 คน รวมไปถึงเด็ก ๆ 51 คน
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) กำลังปรับปรุงชั้น 4 ของอาคารทั้งชั้น นอกจากนี้ยังมอบที่นอน ผ้าห่ม และชุดอุปกรณ์ประกอบอาหาร เพื่อเติมเต็มความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่เทศบาลมอบความช่วยเหลือด้วยการมอบไฟฟ้า เครื่องทำความร้อน และอาหาร
“ทีมเจ้าหน้าที่ด้านความคุ้มครองทำงานอยู่ในพื้นที่ช่วยผู้ลี้ภัยในพลอฟดิฟ รวบรวมข้อมูลโครงการที่มอบความช่วยเหลือพื้นฐานเหล่านี้ โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเช่นนี้ รวมไปถึงจากการบริหารส่วนท้องถิ่น เทศบาล ผู้ลี้ภัย ชุมชนที่ให้ที่พักพิง และภาคเอกชน สร้างความรู้สึกของการได้เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งในทางกลับกันยังทำให้เกิดการมีส่วนร่วม และการบูรณาการร่วมกันอีกด้วย” เซดา คูซูคู ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศบัลแกเรีย กล่าว
หลายครอบครัวพักพิงอยู่ด้วยกันในห้องพักรวม และที่ศูนย์แห่งนี้ประกอบไปด้วยห้องครัว 4 ห้อง ต่อชั้น ทำให้ผู้ลี้ภัยมีอิสระในการเตรียมอาหารของตนเอง ในพื้นที่เก็บของ ผู้ลี้ภัยหญิงช่วยกันจำแนก และจดบันทึกรายการเสื้อผ้าที่ได้รับการบริจาคเพื่อให้แจกจ่ายได้มากขึ้น แม้ว่าเด็ก ๆ ชาวยูเครนส่วนใหญ่เข้าเรียนในโรงเรียนของบัลแกเรีย แต่ที่ศูนย์แห่งนี้ยังมีการเรียนการสอนทั้งภาษาบัลแกเรีย และภาษาอังกฤษทุกวัน ขณะที่ชั้นเรียนเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวงจรไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ และกิจกรรมศิลปะบำบัด มีการเรียนการสอน2-3 ครั้งต่อสัปดาห์
ก่อนช่วงหยุดยาวมาถึง เด็ก ๆ ช่วยกันเปลี่ยนศูนย์แห่งนี้ให้เป็นดินแดนมหัศจรรย์ในฤดูหนาว ด้วยเครื่องประดับที่ประดิษฐ์เอง รวมไปถึงต้นคริสต์มาสที่ตั้งอยู่ที่บริเวณจุดต้อนรับ และพื้นที่ส่วนกลาง โรงพยาบาลยังจัดกิจกรรม Christmas Bazaar เป็นเวลา 2 วัน เพื่อเปิดพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้าที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง เช่น เครื่องประดับ ของเล่น งานถักต่าง ๆ รวมไปถึงสินค้าทำมืออื่น ๆ เพื่อช่วยระดมทุนหาของขวัญให้เด็ก ๆ
“ราวกับว่าที่ศูนย์แห่งนี้เป็นเหมือนหมู่บ้านเล็ก ๆ หรือชุมชนในแง่ที่ทุกคนช่วยเหลือกันทุกเรื่อง ตั้งแต่การทำความสะอาด ไปจนถึงการช่วยดูแลเด็ก ๆ เมื่อครอบครัวของพวกเขาต้องออกไปทำงาน ที่นี่ทุกคนเป็นเครือข่ายของการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่เพียงแต่ในเวลาที่พวกเขาต้องอยู่ที่ศูนย์แห่งนี้ แต่ยังรวมถึงตอนที่พวกเขาตัดสินออกจากที่นี่เพื่อเช่าที่พักพิงอยู่เอง” เอลลิส อธิบาย
นาตาเลีย อาร์ติอุกห์ เดินทางมายังเมืองพลอฟดิฟ จากเหตุระเบิดครั้งใหญ่ในเมืองซาโปริซเซีย พร้อมกับลูก ๆ น้องสาว หลานชาย และหลานสาว ในเดือนมิถุนายน หลังได้ยินข่าวเกี่ยวกับการปรับปรุงอาคารโรงพยาบาล และน้ำใจของคนในชุมชน ตอนนี้เธอช่วยงานประจำวันของศูนย์ ที่นอกเหนือจากการช่วยให้ผู้คนในการหางานแล้ว ชุมชนยังทำหน้าที่เป็นเครือข่ายในการให้ความช่วยเหลืออีกด้วย
“เราพยายามมอบความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับเด็ก ๆ ที่นี่ เพื่อให้พวกเขาสามารถปรับตัว และมันช่วยทำให้รู้สึกว่านี่เป็นครอบครัวใหญ่จริง ๆ ทุกคนให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเสมอ และเรารู้สึกได้ว่าเราสามารถพึ่งพากันได้” อาร์ติอุกห์ กล่าว
เรเมน เนดจาลคอฟ วิศวกรเกษียณ เป็นหนึ่งในอาสาสมัครชาวบัลแกเรีย ที่ตัดสินใจมอบความช่วยเหลือ โดยเริ่มจากบริจาคอาหาร และผ้าห่ม รวมไปถึงการแบ่งปันสิ่งที่เขาให้ความสนใจ และชื่นชอบ คือความรู้ด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวงจรไฟฟ้า ตอนนี้เขาสอนในชั้นเรียนเกี่ยวกับวงจรไฟฟ้า คาบละ 2 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ให้กับเด็ก ๆ ที่ศูนย์ ในห้องที่เขาจัดไว้เอง
“หากเด็ก ๆ เหล่านี้สามารถเรียนรู้บางสิ่งจากผมได้ และแบ่งปันความรู้นั้นให้กับผู้อื่น มันจะช่วยให้พวกเขาเติบโตขึ้น และหวังว่าในเวลาไม่กี่ชั่วโมงในชั้นเรียน จะทำให้จิตใจของพวกเขาออกห่างจากปัญหาต่าง ๆ ที่พวกเขาอาจกำลังเผชิญ” เนดจาลคอฟ กล่าว หลังสาธิตวิธีการทำงานของเครื่องปั๊มน้ำให้กับกลุ่มนักเรียน
“ผมรู้สึกว่าผมเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวใหญ่นี้”
นอกจากปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญที่บ้านเกิด แต่ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ก็ได้พบกับสิ่งที่ช่วยปลอบโยนจิตใจจากน้ำใจของคนในชุมชนแห่งนี้ เช่นเดียวกับ อิกอร์ โปรโครอฟ ศัลยแพทย์เด็ก วัย 61 ปี
โปรโครอฟ หนีจากการทิ้งระเบิดครั้งใหญ่ในเมืองคาร์คิฟ เมื่อไม่นานมานี้ และปัจจุบันพักอยู่ในศูนย์แห่งนี้ เป็นหมอประจำที่นี่
“ผมพักพิงอยู่ในศูนย์แห่งนี้ในช่วงสองถึงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่รู้สึกราวกับว่าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น ผมมักได้รับอาหารโฮมเมดเสมอ” โปรโครอฟ เล่า
“ผู้คนต่างรู้สึกยินดีที่มีหมออยู่ที่นี่ เผื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน และผมมักต้องอยู่ดูแลผู้ป่วยตลอดคืน” เขาเสริม “ผมรู้สึกขอบคุณที่ได้รับการปลอบโยนจิตใจในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับความสูญเสียมากมายเช่นนี้”
Share on Facebook Share on Twitter