ด้วยความช่วยเหลือของ UNHCR ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลน กำลังสร้างบ้านใหม่ที่ทนทานต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
© โดโรธี กำลังเตรียมตัวกลับบ้านหลังรดน้ำเสร็จ แต่เงินที่ได้รับจากการขายมันที่เธอปลูก ยังไม่เพียงพอต่อการดูแลลูก ๆ ทั้ง 7 คน © UNHCR/Hélène Caux
วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2565 ไซโคลนกอมเบ ทำให้เกิดแผ่นดินถล่มบนชายฝั่งของประเทศโมซัมบิก ก่อนเคลื่อนตัวเข้าปะทะพื้นที่ สร้างความเสียหายในจังหวัดนามพูลา และแซมเบเซีย ความเร็วลมทวีความรุนแรงขึ้นเป็น 190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำลายบ้านเรือน โรงเรียน ถนนหนทาง และสะพาน นอกจากพื้นที่เพาะปลูกยังถูกน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ที่พักพิงของผู้พลัดถิ่น และผู้ลี้ภัยที่ไม่เข็งแรงเพียงพอไม่สามารถทนทานต่อความรุนแรงของไซโคลนกอมเบได้
หลังคาบ้านของพาทริซิโอ ในคอร์เรน ที่พักพิงสำหรับผู้พลัดถิ่นภายในประเทศในจังหวัดนามพูลา ถูกพัดตกลงไปในสวน ส่วนกำแพงดินเริ่มแตกและพังทลายลง “อนาสตาเซีย ภรรยาของผม และลูก ๆ ทั้ง 9 คน ของเรา จ้องมองด้วยความตกตะลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้น” พาทริซิโอ กล่าว “เราถูกทิ้งอยู่ในพื้นที่เปิด ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที”
เพื่อนบ้านของพาทริซิโอ เสนอที่พักในบ้านของพวกเขา ครอบครัวของพาทริซิโออยู่ที่นั่นหนึ่งสัปดาห์ขณะที่พวกเขากำลังสร้างที่พักพิงชั่วคราวขึ้นใหม่
ที่พักพิงส่วนใหญ่ในที่พักพิงชั่วคราวคอร์เรนสำหรับผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ และที่พักพิงชั่วคราวมาราเทน สำหรับผู้ลี้ภัยที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนามพูลาได้รับความเสียหายในคืนนั้นเช่นเดียวกัน
โมซัมบิก เป็นหนึ่งในประเทศที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากที่สุด หลายปีที่ผ่านมา รูปแบบการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในหลายเหตุการณ์ เช่น พายุไซโคลน พายุโซนร้อน น้ำท่วม และภัยแล้ง เกิดขึ้นถี่และรุนแรงมากขึ้น ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 ไซโคลนอิดาอี พัดเข้าประเทศโมซัมบิก รวมถึงมาลาวี และซิมบับเว ตามมาด้วยไซโคลนเคนเน็ต ทำให้ราว 250,000 คน ต้องพลัดถิ่น และ 650 คน เสียชีวิต
ปีนี้ปีเดียวเมื่อรวมพายุโซนร้อนอนา และไซโคลนกอมเบ ทั้งประเทศต้องเผชิญทั้งพายุโซนร้อนและไซโคลนรวมแล้ว 5 ครั้ง โดยมีผู้ได้รับผลกระทบจากไซโคลนกอมเบ เหตุการณ์เดียวมากถึง 736,000 คน
นอกจากผลกระทบร้ายแรงจากภัยพิบัติด้านสภาพอากาศแล้ว โมซัมบิกยังเผชิญกับความขัดแย้งครั้งใหญ่จากกลุ่มติดอาวุธทางตอนเหนือในจังหวัดคาโบ เดลกาโด ซึ่งขณะนี้ได้ขยายพื้นที่ไปยังจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงจังหวัดนามพูลา ความรุนแรงทำให้เกือบ 1 ล้านคน ต้องพลัดถิ่นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560
หมู่บ้านของพาทริซิโอ ในจังหวัดคาโบ เดลกาโด ถูกกลุ่มติดอาวุธโจมตี 3 ครั้ง “สองครั้งแรก เราหนีไปแอบในพุ่มไม้และกลับมาที่บ้านหลังจากที่พวกเขาปล้นทุกอย่างไป” เขาเล่า
ระหว่างการโจมตีครั้งที่สองในเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 หลานของพาทริซิโอ วัย 22 ปี ถูกยิงที่ศีรษะ และลูกสาววัย 24 ปี ถูกลักพาตัว เขาไม่รู้เลยว่าเธออยู่ที่ไหน และยังมีชีวิตอยู่หรือไม่นับตั้งแต่เธอถูกลักพาตัวไป
“ระหว่างการโจมตีครั้งที่สามในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 พวกเขาเผาบ้าน 70 หลัง รวมถึงบ้านของผม และยังตัดหัวคนหลายคน เราไม่มีทางเลือกนอกจากหนีเอาชีวิตรอด จนกระทั่งมาอยู่ที่นี่”
เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย และจิตใจของพาทริซิโอ ไม่นานมานี้เขาและภรรยา ช่วยกันสร้างบ้านหลังใหม่ที่แข็งแรงมากขึ้นให้กับครอบครัว ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่สนับสนุนโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และ Caritas องค์กรพันธมิตร
โครงการนี้ผู้พลัดถิ่นมีส่วนร่วมในการออกแบบ ก่อสร้าง และเสริมสร้างความแข็งแรงให้ที่พักพิงของพวกเขาเพื่อรับมือกับสภาพอากาศที่รุนแรง พวกเขาเตรียมโคลนสำหรับก่อกำแพง และช่วยคนงานต่อเติมหลังคา การมีส่วนร่วมของผู้พลัดถิ่นทำให้พวกเขารู้สึกว่านี่เป็นบ้านของพวกเขาจริง ๆ และยังเสริมสร้างทักษะในการก่อสร้าง หรือซ่อมแซมความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอนาคต
“เราสร้างให้มีหลังคายื่นออกมารอบบ้านเพื่อให้ทนทานต่อแรงลมพายุ” อาร์มาโด มาเคฟ เจ้าหน้าที่ด้านที่พักพิงของ UNHCR กล่าว “เราได้ปรับปรุงโครงสร้างของที่พักด้วย”
เขาอธิบายว่าที่พักพิงหลังใหม่ถูกสร้างจากวัสดุที่หาได้ในพื้นที่ เช่น ไม้ และไม้ไผ่ มัดให้แน่นด้วยเชือกจากการนำยางเก่ากลับมาใช้ใหม่ โดยนำแผ่นสังกะสีมาทำเป็นหลังคา จนถึงตอนนี้ที่พักพิงใหม่ในคอร์เรนสร้างเสร็จแล้วราว 300 หลัง และมีแผนสร้างเพิ่มเติมอีก 250 หลังให้เสร็จภายในปลายปีนี้ เราจึงต้องการงบประมาณ และการสนับสนุนเพื่อให้สามารถสร้างที่พักพิงเพิ่มเติมแก่ผู้พลัดถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่รุนแรงได้
ในอนาคต แนวทางที่คล้ายคลึงกันนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อสร้างบ้านใหม่ให้กับผู้ลี้ภัยและชุมชนที่ให้ที่พักพิงที่อยู่ในพื้นที่โดยรอบของมาราเทน โดยที่พักพิงชั่วคราวแห่งนี้เป็นที่พักพิงของผู้ลี้ภัย 9,300 คน ส่วนใหญ่มาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และบุรุนดี ซึ่งได้รับผลกระทบจากไซโคลนกอมเบ เช่นเดียวกัน ทำให้ที่พักพิงราวร้อยละ 80 ได้รับความเสียหาย ขณะที่บางส่วนถูกทำลายราบคาบ ชุมชนในพื้นที่หลายพันคนได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
“มันช่างโศกนาฏกรรมที่น่าเศร้า” โดโรธี ผู้ลี้ภัยชาวบุรุนดี วัย 35 ปี กล่าว “บ้านของเราหายไป ภายในช่วงเวลาเพียงไม่กี่นาที หลังคาถล่มลงมาแทบจะทันทีที่ฉันพาลูกทั้ง 7 คน ออกมาได้อย่างปลอดภัย ไม่ต่างอะไรกับการหนีจากความขัดแย้ง เด็ก ๆ ต่างร้องไห้ ฉันรู้สึกโดดเดี่ยว และหมดกำลัง สามีของฉันจากไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และฉันไม่มีใครให้พึ่งพา”
โดโรธี และลูก ๆ ของเธอพักอยู่กับเพื่อนบ้านชั่วคราว และย้ายเข้ามาในที่พักพิงที่ยังว่างอยู่ในเวลาต่อมา แต่พวกเขาหวังว่าจะสามารถย้ายเข้าบ้านหลังที่โบสถ์ของค่ายกำลังช่วยสร้างขึ้นใหม่
“ฉันไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร”
แม้ว่าจะได้รับความช่วยเหลือ แต่โดโรธี ผ่านแต่ละวันไปได้อย่างยากลำบาก “ฉันปลูกมันในพื้นที่เล็ก ๆ ที่ชาวโมซัมบิกเป็นเจ้าของ พืชผลของฉันถูกทำลายจากไซโคลนกอมเบ แต่ฉันทำความสะอาดพื้นที่และปลูกมันขึ้นมาใหม่ ตอนนี้มันที่ฉันปลูกขึ้นใหม่อีกครั้งแล้ว”
โดโรธี ขายผลผลิตของเธอแก่ผู้ลี้ภัยคนอื่น ๆ และนำเงินที่ได้มาซื้ออาหารอย่างอื่น ๆ แต่ยังไม่เพียงพอ “ฉันตัวคนเดียวกับลูก ๆ อีก 7 คน และไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร หวังว่าเราจะสามารถย้ายไปยังบ้านใหม่ที่ทำให้เรารู้สึกถึงบ้านอีกครั้งได้เร็ว ๆ นี้”
วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ผู้ลี้ภัย และผู้พลัดถิ่น เช่น พาทริซิโอ และโดโรธี ที่ขาดแคลนทั้งอาหาร ที่พักพิง ความปลอดภัย และอาชีพเปราะบางมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามพวกเขายังตั้งใจเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
“ผมมีความสุขที่จะสามารถย้ายเข้ามาในที่พักพิงใหม่ได้เร็ว ๆ นี้ และพอใจกับทุกขั้นตอนที่เราได้มีส่วนร่วมในการสร้างมันขึ้นมา” พาทริซิโอ กล่าว “เมื่อเปรียบเทียบกับที่พักพิงหลังก่อนหน้านี้ หลังใหม่นี้ดีกว่ามาก ผมรู้ได้เลย หากมีไซโคลน หรือพายุโซนร้อน ผมจะรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นในบ้านหลังนี้ สิ่งที่ผมต้องการตอนนี้คือพื้นที่ส่วนหนึ่งในการเพาะปลูกเพื่อนำมาเป็นอาหารของครอบครัว และการที่ผมสามารถพึ่งพาตนเองได้”
Share on Facebook Share on Twitter