ครอบครัวที่พลัดถิ่นจากการประทุของภูเขาไฟเนียรากองโกทางตะวันออกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เนื่องจากพวกเขากำลังเผชิญความยากลำบากอย่างแสนสาหัสในขณะที่พยายามเริ่มสร้างชีวิตใหม่อีกครั้ง
ฌอนและแอสเปอร์แรนซ์ มูโฮซา และลูกทั้ง 7 คน ยืนอยู่บนหินภูเขาไฟที่ปกคลุมพื้นที่ที่เคยเป็นบ้านของพวกเขา © UNHCR/Guerchom Ndebo
พอล อายุ 48 ปี ป่วยเป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงเอวลงไปและต้องนั่งรถเข็นมาตั้งแต่เด็ก ต้องให้ภรรยาและลูกๆ ช่วยเข็นรถเข็นหนีออกมาหาที่ปลอดภัย พวกเขาหนีออกมาพร้อมกับคนอีกหลายหมื่นคนตอนที่ภูเขาไฟระเบิด เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม
“หากไม่มีครอบครัว ผมก็ไม่รู้ว่าจะหนีออกมาได้อย่างไรเหมือนกัน ผมโชคดีที่รอดชีวิตและภูมิใจมากที่พวกเราทุกคนปลอดภัย” พอล กล่าว
ภรรยาและลูก ๆ ของเขาช่วยกันเข็นรถเข็นตลอดคืน เป็นเวลากว่า 12 ชั่วโมงที่แสนทรหดเพื่อไปยังเมืองเซก ซึ่งอยู่ห่างจากทางตะวันตกของเมืองโกมาไป 25 กิโลเมตร
“ผมโชคดีที่รอดชีวิต”
“ถนนทั้งขรุขระและมีระยะทางยาว เด็กๆ เหนื่อยกันมาก มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย” ฟรานซีน ภรรยาของพอลบอกเล่าถึงคืนนั้น
ครอบครัวของพอลพบที่พักพิงในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่เป็นที่พักพิงของผู้พลัดถิ่น 300 คน รวมถึงผู้พิการอีกกว่า 100 คน ผู้พลัดถิ่นบางคนเช่นพอล ต้องหนีออกมาด้วยรถเข็น ขณะที่คนอื่นๆ เดินเท้าด้วยอุปกรณ์ช่วยเดินต่างๆ หรือใช้กิ่งไม้ค้ำ
เมื่อลาวาเย็นตัวลง รัฐบาลได้สนับสนุนให้ประชาชนเดินทางกลับบ้านของตน แต่หลายคนบอกว่าพวกเขาสูญเสียทรัพย์สินไปหมดแล้ว และต้องการความช่วยเหลือในการสร้างชีวิตใหม่อีกครั้ง คนอื่นๆ เช่นพอล ยังไม่รู้แม้กระทั่งว่าบ้านของพวกเขายังอยู่หรือไม่
“ผมไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง ดังนั้นผมเลยไม่รู้ว่าเจ้าของบ้านจะยังอยู่หรือไม่เมื่อเรากลับไป หรือเขาจะปล่อยบ้านให้คนอื่นเช่าไปหรือยัง” พอล กล่าว
ภูเขาไฟเนียรากองโกเป็นหนึ่งในภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นและมีพลังอันตรายมากที่สุดในโลก ผู้คนมากกว่า 170 คน เสียชีวิตจากการปะทุครั้งล่าสุดใน พ.ศ. 2545 ที่ลาวาไหลไปในหลายพื้นที่เผาทำลายทรัพย์สินและบ้านเรือน
เจ้าหน้าที่ในเมืองโกมา รายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 32 คนจากการปะทุที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม และมีบ้านเรือนอย่างน้อย 4,000 หลัง ที่ถูกลาวาและความร้อนสูงทำลาย ไม่มีใคร หรือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านภูเขาไฟท่านใดที่คาดการณ์การปะทุในครั้งนี้ไว้ล่วงหน้า เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่ทางตอนเหนือของภูมิภาคคีวู ที่ตั้งของเมืองโกมา กำลังเผชิญกับความขัดแย้งและความรุนแรงที่ยาวนานอย่างต่อเนื่องมาหลายทศวรรษซึ่งส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นมากกว่า 2 ล้านคน
ผู้คนมากกว่า 450,000 คน หนีออกจากเมืองโกมาภายในระยะเวลาไม่กี่วันหลังเกิดการปะทุ เนื่องจากตัวเมืองยังได้รับแรงสั่นสะเทือนอย่างต่อเนื่องอีกมากกว่าพันครั้ง สร้างความหวาดกลัวต่อการปะทุขึ้นอีกครั้ง ผู้คนหนีออกไปเมืองเซกเมืองเดียวราว 120,000 คน ขณะที่คนอื่นๆ เดินทางต่อไปยังเมืองมิโนวาและบูคาวาทางตอนใต้ หรือขึ้นเหนือสู่เมืองคิวานจาในเขตรัตชูรู
ผู้คนประมาณ 8,000 คน ข้ามชายแดนไปยังประเทศรวันดา ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองโกมา โดยส่วนมากได้เดินทางกลับมายังสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกแล้ว
จูเลียน บูชาเชอร์ อายุ 50 ปี เผชิญกับการเดินทางที่ยากลำบากไม่ต่างกัน เธอเดินเท้าไปตลอดทางถึงเมืองเซก พร้อมกับลูกทั้ง 10 คน ด้วยความเจ็บปวดตลอดทาง ด้วยสุขภาพขาที่ไม่เอื้อต่อการเดินทาง เธอจึงต้องใช้ไม้ค้ำคอยพยุงตลอดทาง เธอได้พบที่พักพิงในโรงเรียนเช่นกัน
“ฉันไม่เหลืออะไรอีกแล้ว”
“ฉันต้องหยุดพักระหว่างทางหลายครั้งเพราะเจ็บขา เรานอนตามข้างทางในพื้นที่เปิดเวลาเราเหนื่อยจนไปต่อไม่ไหว” เธออธิบาย และเสริมว่าถนนเส้นที่ออกจากเมืองโกมานั้นเต็มไปด้วยผู้คนที่ต่างตื่นตระหนก
จูเลียนสูญเสียทุกอย่างตอนที่หนีมายังเมืองโกมาใน พ.ศ. 2550 หลังจากที่หมู่บ้านของเธอในเมืองมาซิซิถูกโจมจีโดยกลุ่มติดอาวุธ เธอต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า และเหตุภูเขาไฟระเบิดครั้งนี้ยังพรากทุกอย่างที่เธอเคยมีอยู่น้อยนิดไปอีก
“มีคนบอกว่าบ้านของฉันในเมืองโกมาถูกปล้น ฉันไม่เหลืออะไรอีกแล้ว” เธอเสริม
เมื่อไม่มีน้ำประปาและไฟฟ้า หลายสิบครอบครัวต้องอาศัยอยู่ในห้องเรียนโดยไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก สุขอนามัย หรือความสะดวกสบายใดๆ
ประมาณการว่ามีผู้คนราว 350,000 คนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ให้ความสำคัญลำดับแรกกับการอพยพผู้คนออกจากโรงเรียนและทำงานเพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินชีวิตจะกลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะกับเด็กๆ
“เด็กๆ ที่หนีมาจากเหตุภูเขาไฟระเบิด ตอนนี้ต้องพลัดถิ่นและมีความบอบช้ำอย่างมาก สิ่งสำคัญคือการให้เด็กๆ ได้กลับมาทำกิจวัตรประจำวันตามปกติและเพื่อให้ผู้ปกครองสามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้ด้วยเช่นกัน” ลิซ อาฮัว ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อธิบาย “สิ่งนี้จะช่วยลดความบอบช้ำของเด็กๆ ได้”
UNHCR ให้ความช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นโดยการมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ เช่น สบู่ ผ้าห่ม ตะเกียงพลังงานแสงอาทิตย์ และชุดสุขอนามัย นอกจากนี้ยังมีการสร้างที่พักพิงส่วนกลางในเมืองเซกและมิโนวาเพื่อลดความแออัดในโรงเรียนและโบสถ์
“เราต้องระดมเจ้าหน้าที่ของเราไปยังเมืองเซกและบูคาวูเพื่อเข้ามอบความช่วยเหลือแก่ผู้ที่เปราะบางมากที่สุดทันที” ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ฯ เสริม เพื่ออธิบายว่าเมื่อไม่กี่วันหลังจากเกิดเหตุทีมฉุกเฉินได้กระจายลงพื้นที่อยู่ในหลายเมือง ทั้งเซก มิโนวา คิวานจา มาซิซิ คิทชางกา และบูคาวู
แต่ยังต้องการความช่วยเหลืออีกมากเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับครอบครัวที่พร้อมเดินทางกลับบ้านและกลับไปสร้างชีวิตใหม่อีกครั้ง
แอสเปอร์แรนซ์และฌอน สามีของเธอยืนอยู่บนหินภูเขาไฟที่ปกคลุมบ้านของพวกเขาที่ครั้งหนึ่งเคยตั้งอยู่ที่มูเกอร์วานี้ หนึ่งในพื้นที่ที่ถูกลาวากวาดทำลายล้างทั้งหมด หินภูเขาไฟยังคงอุ่นอยู่ แต่ทั้งสองคนพร้อมแล้วที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง
“พวกเราคุ้นเคยกับภูเขาไฟ มันเป็นเหมือนเพื่อนบ้านของเรา แต่เราก็ยังต้องการพื้นที่เพื่อสร้างบ้านของเราขึ้นใหม่อีกครั้ง” ฌอน กล่าว
Share on Facebook Share on Twitter