บทความนี้สรุปจากสิ่งที่โจฮันเนส แวน เดอ คลาว ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศบังคลาเทศ ที่ได้แถลงต่อสื่อมวลชนในวันที่ 23 มีนาคม 2564 ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ เมืองเจนีวา
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อการสูญเสียชีวิตและความทุกข์ทรมานครั้งใหญ่จากเหตุเพลิงไม้ในค่ายผู้ลี้ภัยกูตูปาลอง เมืองคอกซ์บาซา เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564
จากรายงานเบื้องต้นเมื่อเช้าวันที่ 23 มีนาคม 2564 ผู้ลี้ภัยที่สูญเสียชีวิตในกองเพลิงมีจำนวน 15 คน บาดเจ็บอีกมากกว่า 560 คน และสูญหายอีกประมาณ 400 คน
เพื่อสนับสนุนการรับมือต่อสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐบาลของบังคลาเทศ UNHCR ประสานงานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) หน่วยงานอื่นๆ ขององค์การสหประชาชาติ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่เป็นพันธมิตร รวมถึงผู้ลี้ภัยอาสาสมัคร เร่งจัดหาความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและมอบความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากว่า 45,000 คน ที่สูญเสียที่พักอาศัยและข้าวของเครื่องใช้จากเหตุเพลิงไหม้
จากการประมาณการ ที่พักอาศัยอย่างน้อย 10,000 หลัง ถูกเพลิงไหม้และได้รับความเสียหาย แต่คาดว่าตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้นในวันข้างหน้า หลังการเข้าประเมินเพิ่มเติม ผู้ลี้ภัยที่ต้องโยกย้ายที่พักได้เข้าอาศัยในที่พักพิงชั่วคราวในชุมชนภายในค่ายแล้ว
ในขณะที่ยังไม่ทราบจำนวนผู้ลี้ภัยที่ได้รับบาดเจ็บจากเพลิงไหม้ที่แน่นอน UNHCR ได้มอบเวชภัณฑ์ผ่านคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) เพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ถูกไฟไหม้ รวมถึงการช่วยเหลือฉุกเฉินด้านการเยียวยาจิตใจ อาสาสมัครด้านสาธารณสุขจากชุมชนผู้ลี้ภัยกำลังช่วยส่งตัวผู้ลี้ภัยที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนไปยังหน่วยให้บริการที่จำเป็นในด้านต่างๆ
ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญายังเป็นศูนย์กลางของการทำงานตอบสนองต่อเหตุการณ์นี้ และเราอยู่ในพื้นที่ทันทีตั้งแต่เมื่อคืนหลังจากสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ UNHCR กำลังเตรียมความพร้อมในการออกเอกสารทางการใหม่แก่ผู้ที่สูญเสียเอกสารไปจากเหตุเพลิงไหม้
UNHCR ได้ส่งมอบผ้าห่ม 3,000 ผืน, ตะเกียงพลังงานแสงอาทิตย์ 14,500 ดวง, ชุดอุปกรณ์ประกอบอาหาร 10,400 ชุด และมุ้งกันยุง 11,500 หลังเรียบร้อยแล้ว เรายังทำงานร่วมกับองค์การอ็อกแฟม (Oxfam) เพื่อมอบน้ำสะอาดฉุกเฉินและความช่วยเหลือด้านสุขอนามัย รวมถึงการสร้างห้องน้ำฉุกเฉิน 20 ห้อง, จุดจ่ายน้ำสะอาด, ถังเก็บน้ำ, ถังน้ำเอนกประสงค์ และเม็ดทำน้ำสะอาด โดยในจุดที่ผู้ลี้ภัยได้ย้ายไปรวมตัวกันอยู่นั้นได้รับการแจกจ่ายน้ำสะอาดจากถังเก็บน้ำเป็นจำนวน 4 ถัง
ด้วยระบบเสียงตอบรับอัตโนมัติของ UNHCR ทำให้เราสามารถโทรหาครอบครัวผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในบริเวณค่ายที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้ถึงประมาณร้อยละ 70 นอกจากนี้ทีมงานของ UNHCR กำลังตรวจสอบความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยของที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ลี้ภัยที่ต้องโยกย้ายที่พักอาศัยและให้แน่ใจว่าการช่วยเหลือนั้นเพียงพอต่อความต้องการที่เร่งด่วน รวมถึงสำหรับเด็กที่ไม่มีผู้ปกครองและเด็กที่พลัดหลงจากครอบครัวด้วยเช่นกัน
ค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองค็อกซ์ บาซาร์ เป็นที่พักพิงของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญามากกว่า 870,000 คน โดยส่วนใหญ่หรือราว 720,000 คน เดินทางเข้ามาในพ.ศ. 2560 จากเหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ของประเทศเมียนมา
ในพ.ศ. 2564 UNHCR ต้องการงบประมาณ 9,146 ล้านบาท (294.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อมอบความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา แต่ในปัจจุบันเรามีงบประมาณเพียงร้อยละ 16 ของงบประมาณทั้งหมดที่ต้องการ ความรุนแรงและความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการที่จำเป็นนั้นเร่งด่วนยิ่งขึ้น อีกทั้งยังขยายการใช้ทรัพยากรที่เดิมทีมีอยู่อย่างจำกัดมากขึ้นอีก UNHCR จึงเปิดระดมทุนการช่วยเหลือจากรัฐบาลและผู้บริจาคภาคเอกชนอย่างด่วนที่สุด การสนับสนุนอย่างทันถ่วงทีจากทุกฝ่ายมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและช่วยให้ UNHCR สามารถขยายความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาและชุมชนที่ให้ที่พักพิงในสถานการณ์นี้ได้
เหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตการณ์ ทำให้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญามีความเปราะบางอีกทวีคูณและต้องการความช่วยเหลือที่จำเป็นอย่างเร่งด่วนที่สุด และเราไม่สามารถทำงานที่สำคัญนี้ได้โดยลำพัง โปรดช่วยพวกเขาตอนนี้ผ่านทาง
บริษัทหรือองค์กรที่มีความประสงค์ในการบริจาคเพื่อมอบความช่วยเหลือเร่งด่วนหลังสถานการณ์เพลิงไหม้กับ UNHCR สามารถติดต่อได้ที่ [email protected]
#UNHCRThailand #WithRefugees #Rohingya
Share on Facebook Share on Twitter