ฟาฮิมา คุณแม่ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียเข้าพบ UNHCR เพื่อขอความช่วยเหลือด้านการฟื้นฟูจิตใจให้กับลูกสาวที่ได้รับความบอบช้ำทางจิตใจอย่างรุนแรงจากเหตุระเบิดในวันที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา
© รูปถ่ายของมานาร์ เด็กหญิงผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย อายุ 4 ขวบ ที่บ้านของเธอในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน © UNHCR/Diego Ibarra Sánchez
แรงระเบิดจากท่าเรือกรุงเบรุตที่ปะทะมาถึงบ้านของเธอในเขตจนาห์ ย่านเมืองหลวงของเลบานอน ทำให้ตัวฟาฮิมาลอยข้ามไปอีกฝั่งของห้อง แต่ในความความคิดของเธอระยะทางที่กระเด็นไปนั้นราวกับถูกเหวี่ยงออกไปนอกห้องเลยทีเดียว “ฉันรู้สึกเหมือนกลับไปอยู่ในซีเรียตอนประเทศโดนทิ้งระเบิดอีกครั้ง ฉันลืมไปชั่วขณะว่าตอนนี้ฉันอยู่ในประเทศเลบานอนและมีเหตุระเบิดเกิดขึ้นที่นี่” ฟาฮิมา ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียวัย 35 ปี จากเมืองอเลปโป เล่า
สำหรับฟาฮิมาที่สูญเสียมุสตาฟา ลูกชายของเธอก่อนครอบครัวจำเป็นต้องหนีออกมาจากความขัดแย้งในประเทศซีเรีย เหตุการณ์ในเบรุตเมื่อต้นเดือนสิงหาคมได้นำความทรงจำและความรู้สึกเจ็บปวดนั้นกลับมาอีกครั้ง ความรู้สึกแรกที่เข้าครอบงำคือความตื่นตระหนก เมื่อเธอหามานาร์ ลูกสาวคนเล็กวัย 4 ขวบ ที่กำลังเล่นกับพี่ชายอยู่นอกบ้านขณะเกิดเหตุไม่เจอ
“ฉันรู้สึกว่าโลกสลายไปแล้ว”
“ตอนที่ฉันออกไปข้างนอก ฉันเห็นควัน เศษกระจกที่ตกอยู่ตามพื้น และฉันหาลูกสาวไม่เจอ” ฟาฮิมาเล่า “ฉันรู้สึกว่าโลกสลายไปแล้ว มันเป็นความรู้สึกที่ไม่สามารถอธิบายได้เลย” มานาร์ถูกพบซ่อนตัวอยู่หลังกระถางต้นไม้ใหญ่หน้าตึกใกล้บ้านและเธอถูกนำตัวมาพบแม่ของเธออย่างรวดเร็ว แต่ผ่านไปไม่นาน ก็สามารถเห็นได้ชัดว่าเหตุการณ์ในวันนั้นส่งผลต่อจิตใจของมานาร์เป็นอย่างมาก
เด็กหญิงนัยน์ตาสีฟ้า ผมหยิกสีทองผู้ไม่เคยหวาดกลัวกับสิ่งใด ตอนนี้ไม่ยอมหลับโดยไม่ล็อคประตูห้องนอน หวาดกลัวเสียงดัง และไม่ยอมอยู่ห่างจากแม่อีกเลย “เธอเปลี่ยนไป เธอมีความหวาดกลัวอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” ฟาฮิมาเล่า “เธอมักจะยกมือขึ้นมาปิดหูเมื่อได้ยินเสียงอะไรดังขึ้นมาและพูดว่าจะมีระเบิดอีกแล้ว ซึ่งเธอไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน เธอเคยเป็นเด็กที่กล้าหาญมากๆ”
ด้วยความเป็นห่วงสภาพจิตใจของลูกสาว ฟาฮิมาจึงติดต่อ UNHCR เพื่อขอความช่วยเหลือ โดยเธอได้รับการแนะนำไปยังมูลนิธิ Makhzoumi องค์กรพัฒนาเอกชนท้องถิ่นพันธมิตรที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก UNHCR ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิตแก่ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียและชาวเลบานอนกลุ่มเปราะบาง เพื่อทำนัดเข้าพบนักจิตวิทยา
ในวันสุขภาพจิตโลก (10 ตุลาคม) ที่ผ่านมา UNHCR ยืนยันความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการมอบความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตแก่บุคคลในความห่วงใย ได้แก่ ผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น และบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ รวมไปถึงสมาชิกกลุ่มเปราะบางในชุมชนที่มอบที่พักพิงด้วยเช่นกัน
UNHCR พยายามรวมการเยียวยาด้านสุขภาพจิตและจิตสังคมในการดำเนินงาน ซึ่งมีความสำคัญมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นวิกฤตด้านสุขภาพจิตจากการต้องแยกกันอยู่ตามลำพังที่มากขึ้น วิถีชีวิตบางอย่างที่หายไป และอนาคตที่ไม่แน่นอน
ทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือ UNHCR และองค์กรพันธมิตรต่างๆ ได้ยกระดับกิจกรรมการสนับสนุนด้านจิตสังคมเพื่อตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในกลุ่มผู้พลัดถิ่น ซึ่งรวมไปถึงอัตราการฆ่าตัวตายหรือการทำร้ายตัวเองที่เพิ่มสูงขึ้น 3 เท่า ตามรายงานจากศูนย์ติดต่อรับเรื่องของ UNHCR ในประเทศเลบานอน
นับตั้งแต่เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นเมื่อสองเดือนก่อน มิร์นา มาวัตนักจิตวิทยาเล่าว่าเธอได้เห็นเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ใกล้ศูนย์กลางการระเบิดหลายคนเข้ามาที่คลินิกของเธอด้วยภาวะการป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง หรือ post-traumatic stress disorder (PTSD) เพิ่มมากขึ้น “เด็กๆ เหล่านี้แสดงอาการหวาดกลัว ด้วยการร้องไห้ กรีดร้อง และอยู่ติดกับพ่อแม่ตลอดเวลา พวกเขาฝันร้ายระหว่างคืน บางคนปัสสาวะรดที่นอน” มิร์นาเล่า
ระหว่างการรักษา มิร์นาใช้การเล่าเรื่องเพื่ออธิบายเด็กๆ ว่าเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างเหตุระเบิดนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และเหตุการณ์ได้ผ่านไปแล้ว พร้อมสอนวิธีในการเอาชนะความกลัวของพวกเขา เธอบอกว่าระดับความเจ็บปวดในผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่หนีจากความรุนแรงในบ้านเกิดมายังประเทศเลบานอนเพื่อแสวงหาความปลอดภัยอาจสูงกว่าคนทั่วไป “พวกเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะเหตุการณ์นี้ดึงความทรงจำจากประสบการณ์ในอดีตมาด้วย” เธออธิบาย
แม้ว่ามานาร์เกิดในประเทศเลบานอนและไม่เคยเผชิญความขัดแย้งในประเทศซีเรียมาก่อน แต่การบำบัดนั้นเป็นเรื่องที่มีความท้าทายสำหรับเด็กในวัยเยาว์นี้ “เมื่อเด็กคนนึงต้องเผชิญกับเหตุการณ์ความรุนแรงในวัยเยาว์ การรักษาเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าเพราะพวกเขายังไม่สามารถแสดงความรุ้สึกของพวกเขาออกมาได้” มิร์นาเล่าว่า “ด้วยเหตุนี้เราจึงพยายามให้มานาร์แสดงออกผ่านการวาดรูป การเล่น หรือบางครั้งเราก็ใช้ดนตรีเข้าช่วย”
ฟาฮิมาเล่าว่าหลังจากผ่านการบำบัดไปเพียง 3 ครั้ง เธอสังเกตุเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของมานาร์เมื่อเธออยู่กับนักจิตวิทยา แต่เธอกลับมีอาการหวาดกลัวขึ้นอีกเมื่อกลับถึงบ้าน” “คุณหมอทำให้เธอรู้สึกปลอดภัยและเข้าใจว่าเหตุระเบิดนั้นเป็นอดีตไปแล้วและมันจะไม่เกิดขึ้นอีก” ฟาฮิมาเล่า “แต่ฉันรู้สึกได้ว่าเมื่อเธอกลับมาบ้าน เธอจะลืมไปว่าคุณหมอได้พูดอะไรไว้ (ขณะได้รับการบำบัด) และกลับมามีพฤติกรรมเหมือนเดิมอีกครั้ง”
มิร์นากล่าวอีกว่าระยะเวลาในการรักษานั้นเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา แต่ที่ฟาฮิมาได้มาขอความช่วยเหลือตั้งแต่ต้นนั้นทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น “หากปัญหาด้านสุขภาพจิตไม่ได้รับการรักษา มันจะยิ่งพอกพูนและยากต่อการฟื้นฟู” เธอกล่าว “ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของมานาร์และวิธีรับมือของครอบครัว… ทุกอย่างใช้เวลา เราไม่สามารถบอกได้ว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่ แต่มันจะเกิดผลดีกับเธอแน่นอน”
“เมื่อฉันเห็นนักบำบัด ฉันรู้สึกได้ว่ามีความหวัง”
ขณะที่มานาร์ถูกส่งตัวไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตโดยตรง ยังมีผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่ไม่ได้รับโอกาสนี้ และความต้องการความช่วยเหลือด้านจิตวิทยานั้นมีมากเกินกว่าศักยภาพของระบบบริการด้านสุขภาพจิตในประเทศที่มอบที่พักพิงไปมาก รวมถึงในเลบานอนด้วย
เพื่อรับมือกับความต้องการนี้ UNHCR และองค์กรพันธมิตรจึงนำแนวทางอื่นมาปฏิบัติเพื่อให้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้มากขึ้นเช่น การจัดอบรมเครือข่ายผู้ลี้ภัยเพื่อเป็นอาสาสมัครออกช่วยเหลือคนในชุมชน พวกเขาสามารถช่วยเยียวยาจิตใจเบื้องต้นและส่งต่อผู้ที่มีอาการรุนแรงเพื่อเข้ารับความช่วยเหลือเพิ่มเติมหากจำเป็น
ทั้งที่ฟาฮิมาบอกเองว่าได้ใจสลายไปแล้วที่ต้องเห็นมานาร์เปลี่ยนไป แต่เธอดีใจที่ตัวเองและลูกสาวได้รับโอกาสในการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ และเธอยังได้รับความช่วยเหลือจากอาการบอบช้ำทางจิตใจของเธอเองด้วยเช่นกัน และยังเป็นการทำให้เธอมองข้ามความรู้สึกว่าปัญหาด้านสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่น่าอับอายอีกด้วย
“ความเศร้าโศกของฉันต่อการจากไปของลูกชายและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในซีเรีย รวมถึงสถานการณ์ของมานาร์ตอนนี้ทำให้ฉันเปลี่ยนไปมาก บางครั้งฉันนอนไม่หลับ” ฟาฮิมาเล่า “เมื่อฉันได้พบนักบำบัด ฉันรู้สึกว่าฉันมีความหวัง ฉันรู้สึกได้ว่าสถานการณ์ของพวกเราดีขึ้น”
Share on Facebook Share on Twitter