สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ชื่นชมความก้าวหน้าที่นักเรียนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยจะได้เข้าถึงสิทธิด้านสาธารณสุขผ่านการให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขภายในประเทศ ซึ่งครอบคลุมถึงการป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพ
เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขแก่กลุ่มเด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษากว่า 3,000 คน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ขึ้นทะเบียนและกำหนดเลขประจำตัว 13 หลักเรียบร้อยแล้ว โดยการให้สิทธิ (คืนสิทธิ) นี้จะทำให้เด็กนักเรียนไร้รัฐไร้สัญชาติซึ่งได้รับสิทธิด้านการศึกษาแต่ยังไม่ได้รับสิทธิด้านหลักประกันสุขภาพสามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขของรัฐได้และยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายอีกด้วย
การให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิดังกล่าวนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2553 ซึ่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์การจัดการสถานะและสิทธิของบุคคล พ.ศ. 2548 ที่มีการระบุถึงการให้สิทธิขั้นพื้นฐานแก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) เมื่อ พ.ศ. 2558 โดยได้รวมเด็กนักเรียนในสถานศึกษาไว้ด้วย
“ประเทศไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติต้องเผชิญในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานบางประการมาอย่างต่อเนื่อง” นายจูเซ็ปเป้ เด วินเซ็นทีส ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าว
“มติคณะรัฐมนตรีนี้นับเป็นอีกหนึ่งความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะขยายสิทธิด้านสาธารณสุขให้กับกลุ่มคนชายขอบ กลุ่มบุคคลเปราะบาง รวมถึงบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งนับว่ามีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19”
ความก้าวหน้านี้สอดคล้องกับคำมั่นสัญญาในการเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการให้ความคุ้มครองทางสังคม (social protection) แก่บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่รัฐบาลไทยได้แถลงต่อที่ประชุมระดับสูงว่าด้วยภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ จัดโดย UNHCR ที่นครเจนีวา เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งนับเป็นจุดกึ่งกลางของโครงการ #IBelong เพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ
ประเทศไทยได้แสดงความมุ่งมั่นและเป็นผู้นำในภูมิภาคในการป้องกันและลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติมาโดยตลอด และได้มอบความคุ้มครองสิทธิแก่บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติอีกด้วย จากการปฏิรูปกฎหมายสัญชาติและการทะเบียนราษฎรในประเทศไทยทำให้อดีตบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติมากกว่าหนึ่งแสนคนได้รับสัญชาตินับตั้งแต่ พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา
Share on Facebook Share on Twitter