การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลต่อผู้ลี้ภัยอย่างไร
ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นตกอยู่ในสถานะของคนชายขอบและเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เปราะบางมากที่สุดในสังคม พวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยงในการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของไวรัส COVID-19เนื่องจากเข้าถึงน้ำสะอาด ระบบสาธารณสุขและการบริการทางการแพทย์ได้อย่างจำกัด
มากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ลี้ภัยและเกือบจะทั้งหมดของผู้พลัดถิ่นทั่วโลกพักพิงอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง พวกเขามักเผชิญกับความท้าทายและความเปราะบางซึ่งสมควรถูกนำมาพิจารณาในการทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมและตอบสนองในวิกฤต COVID-19 การที่เราดูแลกลุ่มคนที่เปราะบางมากที่สุดให้ปลอดภัยหมายถึงเราช่วยให้ทุกคนปลอดภัย
การทำงานในพื้นที่ทั่วโลก
UNHCR ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศอย่างไรในการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส
เรายกระดับการทำงานเพื่อปกป้องผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศให้ปลอดภัยโดยการมอบความช่วยเหลือด้วยสิ่งของบรรเทาทุกข์เช่น น้ำสะอาด ยารักษาโรคและของใช้เพื่อสุขอนามัย เราติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดและตอบสนองต่อสถานการณ์เพื่อจำกัดการติดเชื้อ นอกจากนี้เรายังสนับสนุนด้านสาธารณสุขและสุขอนามัยให้กับชุมชนที่ให้ที่พักพิงแก่ผู้พลัดถิ่น รวมไปถึงการลำเลียงความช่วยเหลือฉุกเฉินทางอากาศและสร้างพื้นที่เพื่อคัดแยกและดูแลผู้ป่วย
เราสนับสนุนการสื่อสารเพื่อสร้างความรับรู้ผ่านทางเครือข่ายของชุมชน เสนอแนวทาง ข้อมูลและมาตรการการป้องกัน เช่น การล้างมือ การเว้นระยะห่างทางสังคม การคัดแยกผู้ป่วยและสถานที่ที่พวกเขาสามารถเข้ารับบริการด้านสาธารณสุข เรามอบอุปกรณ์การสร้างที่พักพิง สิ่งของบรรเทาทุกข์และขยายความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากการแพร่ระบาด เราทำงานเพื่อให้แน่ใจว่าผู้พลัดถิ่นได้รับความคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิต่างๆ ที่พึงได้รับ ซึ่งรวมถึงสิทธิในการขอลี้ภัยแม้จะมีการปิดชายแดน เราทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรในพื้นที่เพื่อให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยาและการป้องกันความรุนแรงทางเพศ
การทำงานของ UNHCR ในประเทศไทย
สำหรับการทำงานเพื่อช่วยเหลือในวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 UNHCR ทำงานเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ขอลี้ภัย ผู้ลี้ภัยและบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยถูกรวมอยู่ในแผนการตอบสนองของประเทศ สามารถเข้าถึงบริการการตรวจหาเชื้อไวรัสโดยไม่มีค่าใช้จ่ายและเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขรวมไปถึงมาตรการและทางเลือกอื่นแทนการกักขังผู้ขอลี้ภัยและผู้ลี้ภัย
ยิ่งไปกว่านั้น UNHCR ยังจัดตั้งกลุ่มประสานงานการรับมือการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 สำหรับผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยในเขตเมือง และสำหรับผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาและบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติเพื่อแบ่งปันข้อมูลการช่วยเหลือและการตอบสนองในวิกฤตนี้ โดย UNHCR มอบความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยในเขตเมืองที่เปราะบางมากที่สุดเพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงความต้องการพื้นฐาน นำไปสู่เสถียรภาพโดยรวมของพื้นที่ในเขตเมือง อันเป็นการสนับสนุนมาตรการการป้องกันและความพยายามของรัฐบาลไทยอีกทางหนึ่ง
Dashboards
- กลุ่มประสานงานการรับมือการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 สำหรับพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง ตามแนวชายแดนไทย – เมียนมา (มกราคม – ธันวาคม 2564)
- คณะทำงานเพื่อให้ความคุ้มครอง: กลุ่มประสานงานการรับมือการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 สำหรับผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยในเขตเมือง (มิถุนายน 2563)
- การประเมินผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19: ผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยในเขตเมืองในประเทศไทย (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564)
- กลุ่มประสานงานการรับมือการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 สำหรับคนไร้รัฐไร้สัญชาติ (21 กรกฎาคม 2565)