รายงานล่าสุดของ UNHCR ระบุว่า เด็กผู้ลี้ภัยในวัยเรียนมากกว่าครึ่งหรือ 3.7 ล้านคน จากจำนวนทั้งหมด 7.1 ล้านคน ไม่ได้เข้าเรียนหนังสือ
รายงาน Stepping Up วิกฤติการศึกษาของผู้ลี้ภัย แสดงให้เห็นว่า ยิ่งเด็กผู้ลี้ภัยอายุมากขึ้น อุปสรรคที่ทำให้เด็กๆเข้าถึงการศึกษาก็สูงขึ้นเช่นกัน
เด็กผู้ลี้ภัยเพียงร้อยละ 63 ได้เรียนในระดับประถมศึกษา ขณะที่สัดส่วนของเด็กทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 91 มากไปกว่านั้น ร้อยละ 84 ของเยาวชนทั่วโลกได้รับการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา แต่สำหรับเยาวชนผู้ลี้ภัย มีเพียงร้อยละ 24 เท่านั้นที่ได้รับโอกาสนั้น
“โรงเรียนคือสถานที่ที่มอบโอกาสครั้งที่ 2 ของผู้ลี้ภัย” นายฟิลลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติกล่าว “เราล้มเหลวในการมอบโอกาสในการเสริมสร้างทักษะและความรู้ที่ผู้ลี้ภัยต้องการ เพื่ออนาคตที่ดีขึ้น”
อัตราการสมัครเข้าเรียนของเด็กผู้ลี้ภัยในระดับประถมและมัธยมศึกษาลดลงอย่างมากเป็นผลกระทบโดยตรงจากการขาดแคลนงบประมาณด้านการศึกษาเพื่อผู้ลี้ภัย ดังนั้น UNHCR จึงเรียกร้องให้รัฐบาล ภาคเอกชน หน่วยงานด้านการศึกษาและผู้บริจาค สนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อสนับสนุนแนวคิดใหม่เพื่อริเริ่มมอบการศึกษาในระดับมัธยมให้แก่ผู้ลี้ภัย
“เราจำเป็นต้องลงทุนการศึกษาเพื่อผู้ลี้ภัย หรือชดใช้ให้กับรุ่นของเด็กที่ประสบชะตากรรมในการเติบโตขึ้นมาโดยไม่สามารถมีชีวิตที่พึ่งพาตนเอง หางานทำ และทำประโยชน์ต่อชุมชนของตนเองได้” ข้าหลวงใหญ่ฯ กล่าว
แนวคิดใหม่ของการสนับสนุนการศึกษาในระดับมัธยมมีเป้าหมายในการก่อสร้างและซ่อมแซมโรงเรียน ฝึกอบรมครูผู้สอน และสนับสนุนด้านการเงินแก่ครอบครัวผู้ลี้ภัยเพื่อให้พวกเขาสามารถจ่ายค่าเล่าเรียนของลูกๆ ได้
รายงานฉบับนี้ยังเรียกร้องให้อนุญาตผู้ลี้ภัยเข้าถึงระบบการศึกษาในประเทศแทนการศึกษานอกระบบที่ไม่เป็นทางการ และให้เด็กผู้ลี้ภัยได้อยู่ในระบบการศึกษาจนจบหลักสูตร ตั้งแต่ระดับเตรียมประถมศึกษา ประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา ซึ่งจะทำให้พวกเขาได้คุณวุฒิที่เป็นที่ยอมรับเพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยหรือสาขาวิชาชีพที่สูงขึ้น
ปัจจุบันถึงแม้ว่าเยาวชนผู้ลี้ภัยจะสามารถเอาชนะอุปสรรคจนสามารถเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาได้สำเร็จ แต่มีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่สามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไปได้ ขณะที่เยาวชนทั่วโลกมีโอกาสศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาถึงร้อยละ 37
UNHCR ยังได้เรียกร้องให้โรงเรียน มหาวิทยาลัย และกระทรวงศึกษาธิการใช้แนวทางที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงเมื่อเกี่ยวข้องกับเอกสารรับรอง
เด็กผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ถูกปิดกั้นโอกาสในการศึกษาเนื่องจากพวกเขาถูกบังคับให้หนีออกจากบ้านของตนอย่างไม่ตั้งตัว ต้องต้องทิ้งผลสอบ เอกสารรับรองการศึกษา หรือแม้แต่เอกสารระบุตัวตนไว้ข้างหลัง และถึงแม้ว่าจะมีเอกสารรับรองครบถ้วน ประเทศที่มอบที่พักพิงบางประเทศก็ปฎิเสธที่จะรับรองวุฒิทางการศึกษาที่ออกให้ผู้ลี้ภัยจากประเทศต้นทาง
ปัญหาด้านการศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัยทั่วโลกเป็นเรื่องเร่งด่วน ในปี พ.ศ. 2561 มีผู้ลี้ภัยทั่วโลกมากกว่า 25.9 ล้านคน หรือ 20.4 ล้านคนภายใต้การดูแลของ UNHCR มากกว่าครึ่งเป็นผู้ลี้ภัยอายุต่ำกว่า 18 ปี และอีกหลายล้านคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ยืดเยื้อด้วยความหวังอันริบหรี่ที่จะได้กลับบ้าน
แนวคิดริเริ่มในการสนับสนุนการศึกษาในระดับมัธยมเป็นประเด็นสำคัญในการประชุม Global Refugee Forum ที่จะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 และยังเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างคำมั่นในการแสดงความรับผิดชอบทั่วโลกร่วมกันต่อสถานการณ์ของผู้ลี้ภัย
หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ
รายงาน ‘Stepping Up: Refugee Education in Crisis’ วิกฤตการศึกษาของผู้ลี้ภัย เป็นรายงานด้านการศึกษาประจำปี ฉบับที่ 4 ของ UNHCR
รายงานฉบับที่ 1 : ‘Missing Out’ เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2559 ก่อนการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญเพื่อผู้ลี้ภัยและผู้อพยพในปี พ.ศ.2559 เรียกร้องให้ผู้บริจาคร่วมสนับสนุนงบประมาณเป็นเวลาหลายปีเพื่อให้งบประมาณสนับสนุนการศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัยเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้
รายงานฉบับที่ 2: ‘Left Behind’ เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2560 เน้นย้ำถึงความแตกต่างระหว่างโอกาสในการเข้ารับการศึกษาระหว่างเด็กทั่วไปและเด็กผู้ลี้ภัย และเรียกร้องให้การศึกษาของผู้ลี้ภัยได้รับการพิจารณาเป็นเรื่องพื้นฐานในการมอบความช่วยเหลือแบบฉุกเฉินต่อผู้ลี้ภัย
รายงานฉบับที่ 3 : ‘Turn the Tide’ เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2561 เน้นย้ำว่าเมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2560 จำนวนเด็กผู้ลี้ภัย 4 ล้านคนไม่ได้เข้าโรงเรียน โดยเพิ่มขึ้น 500,000 คน ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี
รายงานประจำปีนี้ รวมบทนำโดยนายฟิลลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติและบทส่งท้ายจากนายกอร์ดอน บราวน์ ผู้แทนพิเศษขององค์การสหประชาชาติด้านการศึกษาทั่วโลก
Share on Facebook Share on Twitter