แสดงความตกลงดังกล่าวระหว่างการประชุมระดับสูงที่จัดขึ้น ณ กรุงเทพฯ โดย UNHCR ด้วยความเห็นชอบจากรัฐบาลไทย
ผู้แทนรัฐบาลจากประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตกลงร่วมกันเดินหน้าเพื่อป้องกันและลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยได้แสดงความตกลงดังกล่าวระหว่างการประชุมระดับสูงที่จัดขึ้น ณ กรุงเทพฯ โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) ด้วยความเห็นชอบจากรัฐบาลไทย
การประชุมดังกล่าวมีผู้แทนรัฐบาลจาก 16 ประเทศเข้าร่วม ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่ให้แต่ละประเทศได้นำเสนอถึงความก้าวหน้า ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices) ความสำเร็จในการดำเนินงาน ความร่วมมือระหว่างประเทศ อีกทั้งเป็นเวทีร่วมหารือถึงข้อท้าทายและการวางแผนจัดการปัญหาต่าง ๆ
หลายประเทศร่วมตกลงที่จะดำเนินการจดทะเบียนการเกิด เข้าถึงกลุ่มประชากรที่เข้าถึงยาก (hard-to-reach populations) และอีกหลายประเทศจะทำการปฏิรูปกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์เด็กที่ไร้รัฐไร้สัญชาติ
แครอล แบทเชอร์เลอร์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านไร้รัฐไร้สัญชาติประจำ UNHCR ซึ่งร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย ได้กล่าวว่า “หนึ่งในหลาย ๆ ประการสำคัญที่สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้กับฉันในวันนี้ ก็คือหลาย ๆ ประเทศได้แถลงว่าจะไม่ยอมให้มีเด็กที่ไร้รัฐไร้สัญชาติเกิดขึ้นในประเทศอีกต่อไป”
การประชุมระดับสูงที่กรุงเทพฯ เป็นงานที่จัดขึ้นก่อนจะถึงครึ่งทางของแคมเปญ #IBelong ของ UNHCR ที่มีเป้าหมายเพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติภายในระยะเวลา 10 ปี โดยจะมีการจัดประชุมระดับสูงสากลว่าด้วยการยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ (Global High Level Meeting on Ending Statelessness) ณ กรุงเจนีวา ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้
หนึ่งในผู้ร่วมงานคนสำคัญ นางสาวน้ำผึ้ง ปัญญา อดีตบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ วัย 18 ปี ผู้ได้รับสัญชาติไทยเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ สามารถเดินทางไปร่วมแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะนี้เธอกำลังเตรียมตัวเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย ได้กล่าวว่า “การได้รับการระบุตัวตนและมีโอกาสเป็นตัวแทนของประเทศไทย นับเป็นช่วงเวลาที่รู้สึกภาคภูมิใจมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต”
ช่วงระยะเวลากว่าห้าปีที่ผ่านมา ผู้คนนับหมื่นในแถบเอเชียที่ไม่เคยถือสัญชาติใด และได้รับสัญชาติจากความพยายามในการแก้ปัญหาดังกล่าวของรัฐบาล
บุคคลผู้ซึ่งไม่ได้รับการรับรองว่าเป็นคนชาติโดยรัฐใดเลย ภายใต้บทบัญญัติทางกฎหมายแห่งรัฐนั้น ถือว่าบุคคลนั้นตกอยู่ในภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ การที่บุคคลถูกปฏิเสธสถานะทางกฎหมาย ย่อมส่งผลให้เผชิญความยากลำบากนับตั้งแต่เกิดจนสิ้นชีวิต
บ่อยครั้งที่คนไร้รัฐไร้สัญชาติถูกปฏิเสธการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเข้าถึงการศึกษา การบริการสาธารณสุขและโอกาสในการทำงานตลอดช่วงชีวิต ในบางกรณี พวกเขาไม่สามารถที่จะจดทะเบียนสมรส เดินทางได้อย่างอิสระ ถือครองทรัพย์สิน ทำงาน หรือแม้แต่ถูกปฏิเสธการทำพิธีศพและการออกมรณบัตร
หมายเหตุ
ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับแคมเปญ #IBelong ของ UNHCR https://www.unhcr.org/ibelong/
เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อ
ประจำกรุงเทพฯ: ดวงมน สุชาตานนท์ sujatano@unhcr.org +66 81 855 8522
เจนนิเฟอร์ แฮริสัน [email protected] +66 82 290 8831
Share on Facebook Share on Twitter