แสงสลัวในห้องโถงแห่งหนึ่งในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านถ้ำหิน เด็กๆนั่งเรียงแถวบนพื้นกันอย่างตั้งใจ บรรยากาศเต็มไปด้วยเสียงพัดลมตั้งพื้นและเสียงกระซิบเบาๆ ของความตื่นเต้นในขณะที่เด็กๆ มารวมตัวกันเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับภาพลักษณ์เชิงบวกและการปกป้องตนเอง เด็กๆ แต่ละคนได้รับมอบหมายให้เขียนสิ่งที่ดีสามอย่างเกี่ยวกับตนเอง
เริ่มต้นด้วย เซ โยว พอ อาสาสมัครเยาวชนหญิงอายุ 11 ปี เธอยืนขึ้นและก้าวไปอย่างช้าๆ ที่หน้าห้องและค่อยๆเปิดกระดาษอย่างระมัดระวัง เธอเริ่มต้นอ่านด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล “ฉันสวย ฉันใจดี ฉันรักพ่อแม่ของฉัน” ทั่วทั้งห้องเต็มไปด้วยเสียงปรบมือจากเพื่อนๆ
ใครจะเป็นคนต่อไป? อาสาสมัครเยาวชนในเสื้อสีชมพูอ่อนถามด้วยน้ำเสียงร่าเริงผ่านไมโครโฟน ทุกคนยกมือขึ้นมีความกระตือรือร้นที่จะแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาชื่นชมเกี่ยวกับตนเอง
พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านถ้ำหิน ตั้งอยู่ในพื้นที่ล้อมรอบไปด้วยความเขียวขจี ในจังหวัดราชบุรี ของประเทศไทยเป็นบ้านสำหรับผู้หนีภัยจากเมียนมาร์ กว่า 4,900 คน เด็กๆหลายคนที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ เกิดและเติบโตมาในพื้นที่แห่งนี้
กิจกรรมการมีส่วนร่วมที่น่าสนใจนี้ นำโดยพันธมิตรของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) มูลนิธิโคเออร์ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมเพื่อสอนเด็กๆ เกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่างๆในรูปแบบที่น่าสนใจ ซึ่งโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ได้รับทุนจากสหภาพยุโรป มุ่งเน้นการให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองเด็ก โดยนำไปปรับใช้ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งของรัฐบาลไทย สำหรับผู้หนีภัยจากเมียนมาร์ในประเทศไทย
ในกิจกรรมนี้ เด็กๆได้รับการสอนเกี่ยวกับเรื่อง “การสัมผัสแบบที่ดีและไม่ดี” และ “ความรู้สึกที่ดีและไม่ดี”ซึ่งจะช่วยให้พวกเขารับรู้ได้ถึงความเสี่ยงภายในชุมชน โครงการนี้ได้รับการออกแบบเพื่อส่งเสริมให้เด็กเล็กได้รับรับรู้ต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ช่วยให้พวกเขาปกป้องตัวเองจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ทั้งจากคนแปลกหน้า สมาชิกในครอบครัว หรือบุคคลอื่น
ที่พวกเขาอาจรู้จักและมีความเชื่อใจ
กลับมาที่กิจกรรมในห้องโถงใหญ่ เด็กๆถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม อาสาสมัครเยาวชนแยกกระดาษฟลิปชาร์ทขนาดใหญ่วางบนพื้น แต่ละกลุ่มวาดภาพแผนที่ของพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ พวกเขาชี้ให้เห็นถึงพื้นที่ที่มีความปลอดภัยและพื้นที่ที่อาจมีความเสี่ยง รวมถึงแนะนำเด็กๆ ให้สำรวจสภาพแวดล้อมโดยรอบด้วยภาพ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจและให้ตระหนักรู้ถึงความปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้น
ลำดับถัดไป แผนที่ถูกแขวนบนกระดานดำ และเด็กๆได้ถูกเชิญชวนให้วาดวงกลมสีแดงบนพื้นที่ที่พวกเขาคิดว่าเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย และวงกลมสีเขียวสำหรับพื้นที่ปลอดภัย ขณะที่บางคนทำพลาดทำให้เพื่อนๆหัวเราะลั่น ในขณะที่บางคนมีการกระซิบแนะนำให้คนนำเสนอว่าควรวงกลมตรงจุดไหนบ้าง
กิจกรรมนี้ถูกจัดขึ้นโดยใช้ภาษากะเหรี่ยง เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านได้รับประโยชน์สูงสุดจากกิจกรรมนี้ อีกองค์ประกอบหนึ่งของโครงการนี้ คือเพื่อส่งเสริมศักยภาพให้กลุ่มเยาวชนผู้หนีภัยเป็นผู้นำในการริเริ่มโครงการและเพิ่มทักษะการเป็นผู้นำและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนของพวกเขา มีอาสาสมัครเยาวชนเข้าร่วมจำนวน 387 คน โดยกลุ่มนี้ได้เลือก 3 กิจกรรมสำคัญสำหรับปี พ.ศ. 2567 ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงแก่เด็กประมาณ 4,000 คน กิจกรรมนี้ประกอบด้วย การรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้สารเสพติด, การรณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการแต่งงานก่อนวัยอันควร และการฝึกการป้องกันตนเองสำหรับเด็ก ตามแนวทาง ‘No-Go-Tell’
ปิดท้ายกิจกรรมด้วยเกมเก้าอี้ดนตรี เด็กๆกลับบ้านไปด้วยรอยยิ้มที่เต็มไปด้วยความรู้สึกที่ได้เป็นส่วนหนึ่งและพลังแห่งความหวัง ในปัจจุบันมีผู้หนีภัยกว่า 80,000 คนจากเมียนมาร์ อาศัยอยู่ที่พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ ระหว่างชายแดนประเทศไทย – เมียนมาร์ กิจกรรมลักษณะนี้มีความสำคัญในการช่วยเหลือให้พวกเขาผ่านพ้นความท้าทาย โดยเสริมสร้างศักยภาพเยาวชนให้เข้าใจในความถูกต้องและตระหนักถึงพื้นที่ปลอดภัย แต่ละกิจกรรมจะช่วยสร้างความมั่นใจและช่วยสร้างชุมชนให้รู้สึกเป็นพื้นที่ปลอดภัยและได้รับการสนับสนุน
Share on Facebook Share on Twitter