“ตอนที่ผมอายุ 10 ขวบ ผมกับครอบครัวได้หนีจากปากีสถานมายังประเทศไทยในปี 2012 ด้วยเหตุที่ครอบครัวต้องเผชิญกับความขัดแย้งเรื่องศาสนา และกลัวว่าจะมีอันตรายคุกคามชีวิต ตอนนั้นผมกำลังเตรียมตัวสอบปลายภาคชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แต่แทนที่จะอยู่ในห้องสอบ เราจำเป็นต้องออกจากประเทศ เราจึงรวบรวมสิ่งของและออกเดินทางมายังประเทศไทยซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางใหม่ของเรา”
ในที่สุดเราได้มาถึงที่ปลอดภัย แต่ประเทศไทยไม่ใช่ภาคีสมาชิกตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี 1951 จึงไม่มีการรับรองสถานภาพผู้ลี้ภัยในเขตเมือง สถานะที่ไม่ได้รับการรับรองของเรานั้นส่งผลให้เราไม่สามารถมีงานทำได้ และไม่สามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานด้านสาธารณสุขและการศึกษาได้
ทุกสิ่งรอบตัวเป็นสิ่งใหม่และแปลกตาสำหรับเรา ทั้งภาษา อาหาร และวัฒนธรรมทางสังคม ด้วยความกังวล พ่อแม่ของผมออกจากบ้านเพียงเพื่อหาสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันเท่านั้น ผมไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่ได้เล่นกีฬา และไม่มีโอกาสได้สร้างมิตรภาพกับใคร
ในฐานะผู้ลี้ภัย เราต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจาก UNHCR เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด การสร้างชีวิตใหม่เป็นเรื่องไม่ง่ายนัก แม่ของผมรับจ้างเย็บผ้า ซึ่งเป็นงานที่ปลอดภัยที่สุดที่เธอสามารถทำได้ที่บ้าน และจะออกจากบ้านเพียงเพื่อรับหรือส่งงานเย็บผ้า
ตอนที่อายุครบ 18 ปี ผมรู้สึกกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับอนาคต เพราะเราใช้ชีวิตในแบบคนชายขอบมาเป็นเวลานาน เมื่อเห็นพ่อแม่ต้องใช้ล่ามอยู่เสมอแม้แต่ในการกรอกแบบฟอร์มง่ายๆ ก็ทำให้ผมตระหนักว่าการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกด้านของชีวิต ผมตัดสินใจหาโอกาสเรียนหนังสือด้วยความหวังว่าจะได้มีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการใช้ชีวิตแบบไร้ความหวัง
เนื่องจากผมไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ การเข้าเรียนในโรงเรียนไทยจึงไม่ใช่ทางเลือก ผมค้นหาและเจอโปรแกรม Cambridge International General Certificate of Secondary Education (IGCSE)/A-level ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับระดับสากล เทียบเท่ากับการจบการศึกษามัธยมศึกษา
หลังจากห่างจากการศึกษาในระบบมาถึง 8 ปี ผมจึงไม่พร้อมนักในทางวิชาการ ผมต้องแปลเนื้อหาจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาอูรดู การแก้โจทย์คณิตศาสตร์พื้นฐานและความเข้าใจในแนวคิดวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยากมาก ทำให้ผมรู้สึกท้อแท้เมื่อรู้ตัวว่าเรียนช้าไปมาก
“ผมได้เรียนรู้บทเรียนที่มีค่า เราไม่ควรยอมแพ้ที่จะมีหวัง แม้ในเวลาที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีโอกาสใดๆก็ตาม”
เมื่อผมตัดสินใจเรียน IGCSE บางคนในละแวกบ้านแนะนำพ่อแม่ให้ห้ามผมไปเรียน โดยให้เหตุผลว่าผมห่างจากการเรียนมานานเกินไปและจะสอบตก อย่างไรก็ตาม พ่อแม่เชื่อมั่นในความสามารถของผม และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ผมจึงมุ่งมั่นที่จะไม่ทำให้พวกเขาผิดหวัง และความไว้วางใจและศรัทธาของพวกเขาเป็นแรงผลักดันให้ผมผ่านความท้าทายเหล่านั้น
ในขณะที่ผมกำลังพยายามเรียน ปัญหาสุขภาพของแม่ก็เป็นเรื่องที่ทำให้ต้องเป็นห่วง เพราะตั้งแต่มาถึงประเทศไทย แม่ไม่สามารถได้รับการดูแลสุขภาพตามความเหมาะสมได้ ในปี 2021 อาการของแม่ทรุดลง และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจ ในขณะที่ผมกำลังเตรียมตัวสอบ IGCSE ผมต้องดูแลแม่ ไปหาหมอกับแม่ตามนัดทุกครั้ง และใช้เวลาที่รอพบหมอเป็นช่วงเวลาทบทวนบทเรียน ผมพกสมุดบันทึกไปโรงพยาบาลด้วยเสมอๆ และใช้เวลาที่รอ อ่านทบทวนบทเรียน
เมื่อวันสอบมาถึง….
ผมออกจากศูนย์สอบ หายใจโล่งอก และตอนนี้เหลือแค่รอผลสอบเท่านั้น
วันที่ผลสอบออก…
ผมอยู่ที่บ้าน ผมสอบผ่าน IGCSE แล้ว ! แต่ความยินดีนั้นก็ชะงักลง เพราะผมตกใจกับค่าธรรมเนียมการศึกษาระดับ A-levels ซึ่งเทียบเท่ากับชั้นปีที่ 12-13 และเป็นคุณสมบัติขั้นต่ำในการสมัครเข้าเรียนระดับปริญญา ผมเรียนหนักและตั้งใจจนสอบสำเร็จ แต่ผมไม่มีเงินจำนวนมากขนาดนั้น โชคดีที่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดนั้น ในวินาทีที่ผมกำลังจะต้องยอมแพ้ไม่เรียนต่อ…ผมได้รับข่าวดีว่าได้รับทุนการศึกษา
ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี ผมเรียนสำเร็จ ซึ่งโดยปกติแล้วใช้เวลา 4 ปี การเดินทางของผมเพื่อจบ IGCSE และ A-levels นั้นยากลำบากและเต็มไปด้วยความท้าทาย ตลอดเวลานี้ ผมได้เรียนรู้บทเรียนที่มีค่า ว่าไม่ควรยอมแพ้ความหวัง แม้ในยามที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีโอกาสใดๆก็ตาม ผมเชื่อว่าที่ไหนมีความมุ่งมั่น ที่นั่นก็จะมีทางออกเสมอ
ในปีนี้ ความพยายามของผมก็ส่งผลอีกครั้ง ผมได้รับการตอบรับให้เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มหาวิทยาลัยสยาม กรุงเทพฯ ด้วยทุนการศึกษาจาก UNHCR-DAFI programme ซึ่งสนับสนุนนักศึกษาผู้ลี้ภัยให้ได้เข้าศึกษาระดับปริญญาตรี ทุนนี้ครอบคลุมค่าธรรมเนียมการศึกษาของผมทั้ง 4 ปี การได้เรียนระดับมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่ทั้งพ่อ แม่และผมภูมิใจ ผมจะเป็นคนแรกในครอบครัวที่จบการศึกษาระดับปริญญา
“การศึกษาทำให้ผมมีความมั่นใจ ทำให้ผมใช้ชีวิตอย่างมีความหวังเพื่ออนาคตที่ดีกว่า แม้ว่าใบปริญญาจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดที่ผมเผชิญอยู่ได้ แต่ใบปริญญาจะช่วยให้ผมมีอนาคตที่สดใสขึ้นได้อย่างแน่นอน”
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ริเริ่ม “แคมเปญระดับโลก Aiming Higher” เพื่อระดมทุนและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนลดช่องว่างทางการศึกษานี้ผ่านการมอบทุนการศึกษาให้เยาวชนผู้ลี้ภัยที่มากด้วยความรู้ความสามารถได้สานต่อความหวังและความฝันจากการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาและฝึกทักษะวิชาชีพเฉพาะด้าน
สำหรับผู้ลี้ภัย การศึกษาคือ “โอกาสครั้งที่สอง” ในการสร้างชีวิตใหม่และอนาคตที่ดีขึ้นของพวกเขา ครอบครัว และชุมชนที่มอบที่พักพิง
โครงการทุนการศึกษาโดยอัลเบิร์ต ไอนสไตน์เพื่อผู้ลี้ภัย (Albert Einstein German Academic Refugee Initiative) หรือทุน DAFI ที่ UNHCR จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือกับรัฐบาลเยอรมันใน ปี พ.ศ.2535 ปัจจุบัน โครงการดังกล่าวได้มอบทุนการศึกษาแก่เด็ก และเยาวชนผู้ลี้ภัยจำนวน 26,300 คน ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยประเทศที่ผู้ลี้ภัยพักพิงและได้รับทุนการศึกษามากที่สุดคือ เอธิโอเปีย เคนยา สาธารรัฐอิหร่าน ปากีสถาน และอียิปต์ โดยสาขาที่ได้รับทุนการศึกษามากที่สุดคือ การแพทย์ บริหารธุรกิจ สังคมศาสตร์ วิศวกรรม และคอมพิวเตอร์ ทุนการศึกษาจะครอบคลุม ค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จำเป็น เช่น ค่าเดินทาง รวมถึงอุปกรณ์การเรียน จากรายงานปีล่าสุด ได้มีการมอบทุนการศึกษาแก่ผู้ลี้ภัยมาแล้วกว่า 9,300 คน ใน 54 ประเทศทั่วโลก
คุณสามารถร่วมสนับสนุนการศึกษาของผู้ลี้ภัยกับ UNHCR ได้ตอนนี้การบริจาคจากคุณในวันนี้จะช่วยให้เยาวชนผู้ลี้ภัยอย่างอาเหม็ดได้รับ “โอกาสครั้งที่สอง”
โปรดบริจาคที่นี่ https://unh.cr/66f27f384
Share on Facebook Share on Twitter