เจนีวา – จากประกาศการระบาดของโรค Mpox (หรือชื่อเดิมโรคฝีดาษวานร) เมื่อไม่นานมานี้ หากยังไม่ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วน อาจกลายเป็นเรื่องหายนะสำหรับผู้ลี้ภัยและชุมชนที่พลัดถิ่นในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและประเทศที่ได้รับผลกระทบต่างๆ ในแอฟริกา UNHCR แจ้งเตือนในวันนี้
ในเมือง South Kivu สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากโรค Mpox มากที่สุด พบผู้ป่วยต้องสงสัยอย่างน้อย 42 รายในกลุ่มผู้ลี้ภัย นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันและผู้ป่วยต้องสงสัยในกลุ่มผู้ลี้ภัยในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและประเทศรวันดาอีกด้วย
รายงานที่ได้รับถึงกลุ่มเสี่ยง ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ขัดแย้งที่รองรับผู้พลัดถิ่นภายในประเทศในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก กว่า 7.3 ล้านคน ในพื้นที่เหล่านี้เชื้อไวรัสได้คุกคามอย่างรวดเร็วและแย่ลงทุกที ทำให้สถานการณ์ที่ยากอยู่แล้วแย่ลงไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประชากรที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งมานานหลายสิบปี ทั้งการถูกบังคับให้ต้องพลัดถิ่นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการขาดความช่วยเหลือจากนานาชาติ
สำหรับผู้ที่ต้องหลบหนีจากความรุนแรง การใช้มาตรการป้องกันโรค Mpox ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วัฏจักรของความรุนแรงและการจู่โจม ประกอบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ส่งผลให้ผู้พลัดถิ่นถูกผลักดันให้ไปอยู่ในชุมชนที่แออัดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งยังขาดแคลนด้านน้ำสะอาดและสุขาภิบาลที่ไม่เพียงพอ ความไม่ปลอดภัยส่วนนี้ทำให้หลายพื้นที่ถูกตัดขาดจากความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
จำนวนครอบครัวผู้พลัดถิ่นที่อาศัยอยู่ในโรงเรียนที่แออัด โบสถ์และเต็นท์ในพื้นที่เกษตรกรรมไม่มีพื้นที่ต่อการเว้นระยะห่างทำให้พวกเขาได้รับการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่ UNHCR พบว่าบุคคลที่ได้รับผลกระทบบางส่วนทำตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งคัดโดยการนอนบริเวณด้านนอก ความสมดุลของโภชนาการคือสิ่งจำเป็นต่อการฟื้นฟูด้วย ซึ่งในความเป็นจริงของผู้พลัดถิ่นยังคงต้องมีการแบ่งปันอาหารอันน้อยนิด การตรวจโรคอย่างรวดเร็วของกรณีที่น่าสงสัยเป็นสิ่งสำคัญ แต่ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและเส้นทางที่ซับซ้อนทำให้การนำตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการเกิดความล่าช้า ดังนั้นผลการทดสอบจึงไม่สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในการหยุดการแพร่กระจายของเชื้อ
การดำเนินงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO), UNHCR และพันธมิตรได้สนับสนุนจุดล้างมือบริเวณพื้นที่สาธารณะในค่ายผู้ลี้ภัย และได้ยกระดับความพร้อมของระบบสาธารณสุขและมาตรการตอบสนอง รวมถึงการคัดกรองที่ทางเข้าของค่ายผู้ลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบ
ในประเทศที่พบประชากรที่มีความเสี่ยงหรือได้รับการยืนยันของการติดเชื้อ เราได้จัดกิจกรรมให้ข้อมูลและสร้างความตระหนักรู้เพื่อให้แน่ใจว่าผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างถูกต้องโดยการใช้ภาษาของชุมชนผู้พลัดถิ่น แต่ขอบเขตของการระบาดที่แพร่กระจายไปทำให้ไม่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชนเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการ
UNHCR เน้นย้ำและยืนยันว่าการรวมผู้ลี้ภัยและผู้ที่ถูกบังคับพลัดถิ่นเข้าไว้ในมาตรการเตรียมความพร้อมและตอบสนองในระดับชาติ เพื่อรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขครั้งนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ตั้งแต่การติดตามและเตรียมความพร้อมไปจนถึงการบริการทางการแพทย์ UNHCR ยังคงให้การสนับสนุนแผนเตรียมพร้อมและตอบสนองระดับชาติในประเทศที่ได้รับผลกระทบ และประเทศที่มีความเสี่ยง UNHCR ได้แสดงความชื่นชมต่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ที่ได้รวมผู้ลี้ภัยเข้าไว้ในแผนเตรียมพร้อมและตอบสนองบริการด้านสุขภาพในระดับชาติแล้ว
การตอบสนองด้านมนุษยธรรมของ UNHCR ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ได้รับงบประมาณเพียงร้อยละ 37 จาก 250 ล้านดอลลาร์ในปี พ.ศ. 2567 เพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นเร่งด่วนของผู้พลัดถิ่น โดยบริการด้านสุขภาพเป็นหนึ่งในสามส่วนที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยที่สุดในแผนงบประมาณ
ความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างประเทศ มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการขยายบริการด้านสุขภาพ ศูนย์กักกันโรค และศูนย์พักพิงด้านมนุษยธรรม การเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคสำหรับผู้คนที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่น ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ความสงบคือความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้แน่ใจว่ามีการตอบสนองอย่างยั่งยืนเพื่อหยุดการแพร่กระจายของโรค
ท่านสามารถร่วมบริจาคเพื่อมอบที่พักพิง อาหาร น้ำสะอาดและการรักษาพยาบาลเร่งด่วนผ่านเว็บไซต์ และ QR Payment ได้ที่ เว็บไซต์บริจาค
Share on Facebook Share on Twitter