เจนีวา – ปีที่ผ่านมา สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อวิกฤติการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นใหม่และทวีความรุนแรงขึ้น มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจำนวนสูงที่สุด
ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
จากรายงานการเตรียมความพร้อมและตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินในปี พ.ศ. 2566 ที่มีการเผยแพร่ในวันนี้ UNHCR ประกาศภาวะฉุกเฉินจำนวน 43 ฉบับ เพื่อเพิ่มความช่วยเหลือใน 29 ประเทศ และจัดส่งของบรรเทาทุกข์กว่า 7.4 ล้านชิ้น เพื่อช่วยเหลือกว่า 16.7 ล้านคนทั่วโลก UNHCR ได้มอบสิ่งของบรรเทาทุกข์รวมมูลค่ากว่า 53.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,872.5ล้านบาท)จากคลังสิ่งของบรรเทาทุกข์กว่า 7 แห่ง
“ในหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเพิ่มขึ้นของสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีหลายวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ และวิกฤตการณ์ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขก็ดูจะเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ เรามีความพยายามอย่างมากในการขยายขอบเขตใน
การมอบความช่วยเหลือ” คุณโดมินิค ไฮด์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความร่วมมือ UNHCR กล่าว “ไม่ว่าจะเกิดความขัดแย้งใด การละเมิดสิทธิมนุษยชน ภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือสภาพอากาศที่รุนแรง สถานการณ์ฉุกเฉินเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดการพลัดถิ่นเพิ่มมากขึ้น หลายครอบครัวต้องการความช่วยเหลือและการคุ้มครองด้านมนุษยธรรม ซึ่งระดับของความทุกข์ทรมาณของมนุษย์นั้นไม่สามารถประเมินได้ และเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เป็นการย้ำเตือนถึงความจำเป็นในการลงมือทำร่วมกัน และแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน”
ในปี พ.ศ. 2566 UNHCR ตอบสนองต่อหลากหลายสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วโลก มอบความช่วยเหลือแก่ผู้คนหลายล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวในประเทศซีเรีย, ตุรเคีย และอัฟกานิสถาน; ท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นใหม่ของซูดาน และความขัดแย้งเก่าระหว่างคาราบัค และโซมาเลีย; ความเสื่อมโทรมของสถานการณ์ความขัดแย้งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก การโยกย้ายถิ่นที่ไม่คาดฝันแบบผสมผสานระหว่างผู้ลี้ภัย และแรงงานข้ามชาติในกลุ่มประเทศละตินอเมริกาและทะเลแคริบเบียน รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วมในลิเบียและจงอยแอฟริกา
จากสถานการณ์ฉุกเฉินที่เพิ่มสูงขึ้นในปี พ.ศ. 2566 และแนวโน้มของสถานการณ์ที่ยังคงอยู่และเพิ่มสูงขึ้นอีกในปี
พ.ศ. 2567 โดยคาดการณ์ว่าจำนวนผู้พลัดถิ่นจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 130 ล้านคนภายในสิ้นปี พ.ศ. 2567 ความจำเป็นในการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และการมอบความช่วยเหลือแก่ผู้ถูกบังคับให้ลี้ภัยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน
Share on Facebook Share on Twitter