ความเข้าใจของเราเกี่ยวกับความเชื่อมโยงกันของสองสิ่งนี้กำลังเพิ่มขึ้น แต่การที่สภาพภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วบังคับให้ผู้คนต้องหนีและทำให้ชีวิตของ ผู้ที่ต้องพลัดถิ่นอยู่แล้วยิ่งยากลำบากและมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเชื่อและข้อมูลที่ถูกบิดเบือนมากมาย และนี่คือ 5 ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กับการพลัดถิ่นที่ถูกเข้าใจผิดมากที่สุด
ยังไม่มีหลักฐานรองรับว่าผู้คนจำนวนมากหนีจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากซีกโลกใต้ไปยังซีกโลกเหนือ ผู้คนส่วนใหญ่ที่ถูกบังคับให้หนีจากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศโดยจะย้ายถิ่นฐานอยู่ภายในประเทศของตนเอง ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2565 ภัยพิบัติต่าง ๆ ทำให้ 32.6 ล้านคน ต้องพลัดถิ่นภายในประเทศ โดยร้อยละ 98 มีสาเหตุมาจากความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำท่วม พายุ ไฟป่า และภัยแล้ง จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าติดตามการพลัดถิ่นภายใน (IDMC)
มีข้อมูลปรากฏให้เห็นน้อยถึงการเดินทางข้ามพรมแดนเพราะภัยพิบัติ จากข้อมูลที่ทราบกว่าร้อยละ 70 ของผู้ลี้ภัยทั้งหมดพักพิงอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการลี้ภัยจากความขัดแย้งหรือภัยพิบัติ พวกเขายังคงอยากอยู่ใกล้บ้านและครอบครัวมากที่สุด ผู้คนที่ถูกบังคับให้ต้องทิ้งทุกอย่างจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มักไม่มีทรัพยากรมากเพียงพอที่จะย้ายออกไปยังพื้นที่ห่างไกล
“ผู้ลี้ภัยจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (climate refugees)” เป็นวลีที่สื่อมักถูกใช้เพื่อนิยามถึงบุคคลที่ถูกบังคับให้ออกจากบ้านของตนเองเนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ แต่วลีนี้ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในกฎหมายระหว่างประเทศ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น การพลัดถิ่นที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นภายในประเทศ ในขณะที่อนุสัญญาปี ค.ศ. 1951 ว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยมอบความคุ้มครองเฉพาะผู้ที่ต้องหนีจากสงคราม ความรุนแรง ความขัดแย้ง หรือการประหัตประหารที่เดินทางข้ามพรมแดนระหว่างประเทศเพื่อแสวงหาความปลอดภัยเท่านั้น ถึงแม้ว่าการพลัดถิ่นในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภัยพิบัติยังไม่ครอบคลุมอยู่ในอนุสัญญาปี ค.ศ. 1951 แต่สามารถที่จะนำมาปรับใช้ได้เมื่อบุคคลนั้นต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการประหัตประหารหรือความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2564 ทางตอนเหนือของประเทศแคเมอรูน มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และอีกหลายหมื่นคนหลบหนีไปยังประเทศชาดที่อยู่ใกล้เคียงจากความขัดแย้งระหว่างคนเลี้ยงสัตว์และชาวประมง โดยมีต้นเหตุของปัญหามาจากทรัพยากรน้ำที่ลดลงซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กฎหมายผู้ลี้ภัยในภูมิภาคอาจให้ความคุ้มครอง ด้วยคำจำกัดความของผู้ลี้ภัยในอนุสัญญาสหภาพแอฟริกาและคำประกาศจาก Latin America’s Cartagena รวมทั้งผู้ที่แสวงหาพื้นที่ปลอดภัยจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอย่างร้ายแรง “Seriously disturbing public order” ซึ่งอาจรวมถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศด้วย
จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและสภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้น ผู้คนจำนวนมากต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากผลของน้ำท่วม พายุไซโคลน และความแห้งแล้ง ในปี พ.ศ. 2565 มีผู้พลัดถิ่นจากความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศเกือบ 32 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 41 เมื่อเทียบกับปีพ.ศ. 2551 นอกเหนือจากการพลัดถิ่นที่เป็นผลโดยตรงจากสภาพอากาศสุดขั้ว การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เราเรียกว่า “threat multiplier” ยิ่งเพิ่มผลกระทบของปัจจัยอื่น ๆ ที่สามารถนำไปสู่การพลัดถิ่นได้ เช่น ความยากจน การสูญเสียวิถีชีวิต และความตึงเครียดจากทรัพยากรที่ลดลง ซึ่งท้ายที่สุดจะก่อให้เกิดสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและการพลัดถิ่น ตัวอย่างเช่น ในประเทศบูร์กินาฟาโซ ความรุนแรงที่เลวร้ายและการพลัดถิ่นบางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ยากจนที่สุด และได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากที่สุด กลุ่มติดอาวุธจึงใช้ประโยชน์จากความตึงเครียดจากผลกระทบที่แหล่งน้ำและพื้นที่เพาะปลูกมีจำนวนลดลง ในขณะเดียวกันการเกิดขึ้นของความรุนแรงและความขัดแย้งยังสามารถลดทอนความสามารถของรัฐบาลในการตอบสนองต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไม่เพียงแต่เป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดการพลัดถิ่น แต่ถือเป็น “Threat multiplier” โดยความรู้และความเข้าใจทั้งสองเรื่องนี้เป็นกุญแจสำคัญในการตอบสนองของ UNHCR
แม้เราจะทราบดีกันว่าภัยพิบัติเกิดขึ้นอย่างกะทันหันทำให้ผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกต้องพลัดถิ่น ความเชื่อมโยงที่ซับซ้อนระหว่างสภาพภูมิอากาศและปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความขัดแย้งและความเปราะบาง ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะทราบว่ามีจำนวนผู้พลัดถิ่นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเพียงอย่างเดียวเป็นจำนวนเท่าไหร่
การคาดการณ์จำนวนผู้พลัดถิ่นในอนาคตนั้นเป็นไปได้ยากขึ้น เนื่องจากตัวเลขถูกขับเคลื่อนด้วยตัวชี้วัดที่เราใช้เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกและปรับใช้ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สิ่งที่เราทำได้มากที่สุดคือการใช้ข้อมูลเพื่อคาดการณ์แนวโน้ม รวมถึงความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในอนาคตเพื่อคาดการณ์ความเปราะบางของประชากรที่แตกต่างกัน และเพื่อบ่งชี้ถึงการปรับตัวและความพยายามในการเตรียมความพร้อมที่จะสามารถลดความเสี่ยงเหล่านั้นรวมถึงการพลัดถิ่นในอนาคตได้ ตัวอย่างเช่น โครงการ The Sahel Predictive Analytics ที่ระบุปัจจัยที่ทำให้เกิดความเปราะบางในซาเฮล รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และได้คาดการณ์ถึงความเสี่ยงเหล่านั้นว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรในอนาคตซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราจะมีการตอบสนองเชิงรุกอย่างไร
เป็นเรื่องจริงที่สภาพภูมิอากาศกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง และอุณหภูมิเฉลี่ยตอนนี้สูงขึ้นกว่าช่วงปลายทศวรรษ 1800 ถึง 1.1 องศาเซลเซียส แต่ยังไม่สายเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดความร้อนของโลกให้มากที่สุด หรือการลงทุนเพื่อการปรับตัวเพิ่มความยืนหยุ่นให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบาง และลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้คนต้องผู้พลัดถิ่นหรือผลกระทบอื่นๆ เราสามารถช่วยให้ผู้คนเตรียมตัวในการรับมือกับสภาพอากาศสุดขั้วได้ดีขึ้นและนำไปปรับใช้ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้เรายังสามารถจัดการกับต้นเหตุของปัญหาของการพลัดถิ่นที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ เช่น ความยากจน ความไม่เท่าเทียม และความรุนแรง
ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเป็นหนึ่งในผู้ที่กำลังฟื้นตัวและปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตัวอย่างเช่น ผ่านโครงการปลูกต้นไม้ การรณรงค์สนับสนุนในแคมเปญต่าง ๆ การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติและการต่อสู้กับไฟป่า ในการประชุม UN Climate Change Conference ในปีนี้ที่ประเทศดูไบ หรือCOP28 พวกเขาเรียกร้องให้มีการสนับสนุนองค์กรที่นำโดยผู้ลี้ภัยที่กำลังทำงานในโครงการต่าง ๆ มากขึ้น และขอพื้นที่เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจใด ๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา
Share on Facebook Share on Twitter