ท่ามกลางสถานการณ์ผู้ลี้ภัยทั่วโลกที่อยู่ในภาวะวิกฤติ โดยมีผู้คนที่ถูกบังคับให้ออกจากบ้านตนเองสูงถึง 114 ล้านคน เนื่องจากสงคราม ความรุนแรง และความขัดแย้ง
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จึงพัฒนาความร่วมมือกับบริษัท ไมซ์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด และ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 ผ่านงานวิ่งมาตรฐานสากลของประเทศไทย บางแสนซีรีย์ เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และระดมทุนช่วยเหลือเด็ก ผู้หญิง และครอบครัวผู้ลี้ภัยทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง
โดยในปีนี้ ถือเป็นโอกาสพิเศษได้เชิญโยนัส คินเด อดีตผู้ลี้ภัยชาวเอธิโอเปีย นักกีฬาโอลิปิค เข้าร่วมงานวิ่งบางแสน 21 ฮาล์ฟมาราธอนที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 17 ธันวาคม เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถของผู้ลี้ภัยที่พร้อมตอบแทนชุมชน และสังคม เมื่อได้รับโอกาส และความช่วยเหลือที่เหมาะสม
ในช่วงวัยรุ่น โยนัส เริ่มต้นจากการวิ่งไปโรงเรียนที่ประเทศเอธิโอเปีย แทนการนั่งรถ และไม่นานหลังจากนั้น ก็เริ่มวิ่งทั่วประเทศ วิ่ง 10,000 เมตร ฮาลฟ์ มาราธอน และเป็นนักวิ่งอนาคตไกล
โยนัส ลี้ภัยไปยังประเทศลักเซมเบิร์กในปีพ.ศ. 2555 โดยได้รับรองการคุ้มครองในปีต่อมา หลังจากนั้น เขาก็เข้าร่วม และชนะรายการวิ่งในประเทศลักเซมเบิร์ก ฝรั่งเศส และเยอรมัน กลายเป็นหนึ่งในนักวิ่งระยะไกลที่ดีที่สุดของประเทศ
โยนัส กล่าวว่า “กีฬาให้ชีวิตใหม่กับผมแม้ในสถานที่ที่ผมไม่คุ้นเคย และการวิ่งช่วยให้ผมเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ช่วยให้รู้จักคนใหม่ๆ และสู้กับความรู้สึกโดดเดี่ยวได้” สำหรับการเรียนภาษาท้องถิ่น โยนัส เลือกเรียนภาษาฝรั่งเศสในขณะที่ทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญการนวดในทางกีฬาสำหรับนักกีฬาควบคู่ไปด้วย
เป็นเวลา 4 ปีหลังจากที่เขาได้เดินทางมาถึงลักเซมเบิร์ก โยนัส ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิปิกส์ที่เมืองริโอ ในปีพ.ศ.2559 ซึ่งเป็นการก่อตั้งทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัยในโอลิมปิกส์เป็นครั้งแรก ซึ่งเขาได้เข้าแข่งขันวิ่งมาราธอนชาย
สำหรับเขา หนึ่งในไฮไลต์คือการได้พบกับเพื่อนเก่าที่เป็นนักวิ่งจากเอธิโอเปียในหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิก ในปีพ.ศ. 2563 โยนัสเป็นนักกีฬาผู้ลี้ภัยคนแรกที่แข่งขันในรายการโตเกียว มาราธอนได้จบในระดับนักวิ่งแถวหน้า (อีลีธ) ซึ่งดำเนินรอยตามไอดอลของเขาคือนักวิ่งโอลิมปิกชาวเอธิโอเปีย อาเบเบ บิกิลา
โยนัส ตั้งใจเผยแพร่ให้คนได้รับรู้ถึง พลังของกีฬาในการเปลี่ยนแปลงชีวิต โดยเขาได้เดินทางไปยังเจนีวา โมนาโค ปารีส และบัวโนส ไอเรส เพื่อเป็นตัวแทนทีมโอลิมปิกของผู้ลี้ภัย และแบ่งปันเรื่องราวในฐานะอดีตผู้ลี้ภัย
โยนัส กล่าวถึงการสนับสนุน UNHCR ว่า “ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้กระตุ้นการรับรู้ และช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทั่วโลก รวมถึงการเรียกร้องให้มีการเข้าถึงกีฬาที่เสมอภาคและเท่าเทียม”
#BangsaenForUNHCR #WithRefugees#UNHCRThailand
Share on Facebook Share on Twitter