ข้อมูลใหม่พบว่าจำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลกที่เพิ่มสูง เป็นจำนวนสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ชุดภาพถ่ายของ UNHCR จากปี พ.ศ.2565 แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ฉุกเฉินเบื้องหลังจำนวนผู้พลัดถิ่นเหล่านี้
เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นทั้งหมด เดินทางข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ โดยร้อยละ 58 ของจำนวนผู้พลัดถิ่นทั้งหมดไม่ได้เดินทางข้ามพรมแดน และร้อยละ 70 พักพิงอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านของตนเองที่มีรายได้ระดับต่ำ-ปานกลาง
จำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ในปี พ.ศ. 2566 สถานการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ในซูดาน ในช่วงเดือนเมษายน และความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และวิกฤตการณ์ที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศยังบังคับให้ผู้คนต้องพลัดถิ่นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วโลก
ด้านล่างคือชุดภาพถ่ายของ UNHCR จากปี พ.ศ.2565 ที่แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ฉุกเฉินเบื้องหลังจำนวนผู้พลัดถิ่นเหล่านี้
คุณแม่ชาวยูเครนกำลังอุ้มลูกวัย 3 เดือน และ 3 ขวบ ข้ามชายแดน Tiszabecs ไปยังประเทศฮังการี เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 หลังจากที่เธอหนีออกจากยูเครนและต้องทิ้งสามีของเธอไว้ข้างหลัง สถานการณ์ในยูเครนที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องทำให้เกิดผู้พลัดถิ่นผู้พลัดถิ่นมากที่สุด โดยปีที่ผ่านมา ชาวยูเครน 5.7 ล้านคน ต้องลี้ภัย ขณะที่อีกนับล้านกำลังพลัดถิ่นอยู่ในยูเครน
บาฮาดูร์ ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกัน อายุ 60 ปี ยืนอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังที่ครั้งหนึ่งเป็นบ้านของเขาบนริมฝั่งแม่น้ำคาบูล จังหวัด Khyber Pakhtunkhwa ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศปากีสถาน ปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ.2565 ฝนตกหนักต่อเนื่องในช่วงมรสุม ทำให้น้ำในแม่น้ำเอ่อล้นตลิ่งในบริเวณใกล้เคียง พัดบ้านของบาฮาดูร์ออกไปในเวลาไม่กี่นาที ราว 8.2 ล้านคน ต้องพลัดถิ่นอยู่ภายในประเทศจากเหตุน้ำท่วมในปากีสถาน นับเป็นจำนวนผู้พลัดถิ่นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มากที่สุดในปี พ.ศ. 2565 กรมอุตุนิยมวิทยาของปากีสถานกล่าวว่า ความรุนแรงของฝนในฤดูมรสุมและน้ำท่วมที่เกิดขึ้นตามมาเป็นผลมาจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โอเด็ต อายุ 4 ขวบ (ทางขวา) กับพ่อแม่ของเธอในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ Plaine Savo ของคองโก โอเด็ต ทุกข์ทรมานจากแผลจากมีดพร้าบนศีรษะ ตอนที่กลุ่มติดอาวุธโจมตีค่ายผู้พลัดถิ่นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 62 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก จำนวนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศทั่วโลกจากความขัดแย้งเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 18 หรือ 62.4 ล้านคน ในปี พ.ศ.2565 จากสถานการณ์ในยูเครน คองโก เอธิโอเปีย และเมียนมา
อดีตผู้ลี้ภัยชาวไอโวเรียนเดินทางกลับบ้านในสาธารณรัฐโกตดิวัวร์ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2565 หลังจากพักพิงอยู่ในไลบีเรียประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแสวงหาความปลอดภัยในพื้นที่อื่นทางตะวันตกของแอฟริกาจากสงครามกลางเมืองนานกว่าทศวรรษในช่วงปี พ.ศ. 2545-2550 และ พ.ศ.2554-2555 แต่ความมั่นคงทางการเมืองในประเทศที่มีเสถียรภาพมากขึ้นทำให้ส่วนใหญ่เดินทางกลับบ้านโดยสมัครใจในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การเดินทางกลับประเทศต้นทางของผู้ลี้ภัยทั่วโลกปีที่ผ่านมาลดจำนวนลง 339,000 คน หรือราวร้อยละ 21 นอกจากโกตดิวัวร์แล้ว ยังมีผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่เดินทางกลับไปยังซูดานใต้ ซีเรีย และแคเมอรูน
ครอบครัวที่หนีจากน้ำท่วมในภูมิภาค Far North ของประเทศแคเมอรูนกับสิ่งของที่เหลืออยู่ในบ้านของพวกเขา น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่แอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตกในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2565 ทำให้มีผู้พลัดถิ่นมากกว่า 3.4 ล้านคน ประเทศไนจีเรีย เผชิญกับเหตุน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบทศวรรษ ขณะที่ชาด ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหลังเกิดฝนตกหนัก แม่น้ำสองสายเอ่อล้นตลิ่ง เกิดน้ำท่วมในภาคกลางของซาเฮล เช่น บูร์กินา ฟาโซ มาลี และไนเจอร์ มีผู้เสียชีวิตรับร้อยคนและมีผู้พลัดถิ่นอีกหลายพันคนรวมถึงผู้ที่พลัดถิ่นก่อนหน้านี้ อุณหภูมิในซาเฮลสูงขึ้น 1.5 เท่า เร็วกว่าค่าเฉลี่ยโลก ยิ่งทำให้ความท้าทายอื่น ๆ ในภูมิภาคทวีรุนแรงขึ้น เช่น การโจมตีของกลุ่มติดอาวุธที่เกิดถี่ขึ้น
ลูเรนา กโบอาห์ (กลาง) และครอบครัว หนีจากสงครามกลางเมืองในไลบีเรีย ในปี พ.ศ. 2533 และกลายเป็นผู้ลี้ภัยในสาธารณรัฐโกตดิวัวร์ สองปีต่อมา เธอและครอบครัวตั้งถิ่นฐานใหม่ในสหรัฐอเมริกา วันนี้ลูเรนา เป็นนักสังคมสงเคราะห์ และผู้นำในการสนับสนุนผู้ลี้ภัยและดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการสภาผู้ลี้ภัยและสมาชิกคณะกรรมการสภาผู้ลี้ภัยสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2565 ผู้ลี้ภัย 114,300 คน ได้รับการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม เพิ่มขึ้นสองเท่าจากปี พ.ศ. 2564 สอดคล้องกับตัวเลขก่อนเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ ประเทศแคนาดา เป็นประเทศที่รับผู้ลี้ภัยให้เข้าไปตั้งถิ่นฐานใหม่มากที่สุด 47,600 คน ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา 29,000 คน และออสเตรเลีย 17.300 คน
เอวานเจลินา บูคูรู (ซ้าย) ผู้ลี้ภัยชาวบุรุนดี นั่งอยู่กับแม่และลูกสาวของเธอ บริเวณนอกบ้านในค่ายผู้ลี้ภัย Nyarugusu ประเทศแทนซาเนีย เอวานเจลินา ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการที่ริเริ่มโดย UNHCR เพื่อจดทะเบียนการเกิดให้กับลูกๆ ของเธอ เพื่อปกป้องพวกเขาจากการเป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ในปี พ.ศ.2565 จำนวนบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 2 หรือ 4.4 ล้านคน เนื่องจากการปรับปรุงการลงทะเบียน จำนวนนี้น้อยกว่าความเป็นจริงเนื่องจากประเทศต่าง ๆ กว่าครึ่งทั่วโลกไม่รายงานข้อมูลจำนวนบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศ ปีที่ผ่านมา 13 ประเทศ ปรับปรุงกฎหมาย นโยบาย และขั้นตอนเพื่อลดจำนวนและป้องกันการไร้รัฐไร้สัญชาติ
ซาราห์ อายุ 8 ขวบ และซาฟิยาห์ แม่ของเธอหนีจากความขัดแย้งในซีเรียมาพร้อมกับครอบครัว และแสวงหาความปลอดภัยในเลบานอน ประเทศเพื่อนบ้าน ซาราห์ เกิดมาโดยไม่มีปลายแขน เธอได้รับความช่วยเหลือด้วยแขนเทียม วิกฤตเศรษฐกิจในประเทศทำให้เกิดความตึงเครียดแก่ทั้งประชาชนชาวเลบานอน และผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในประเทศ แต่ซาฟิยาห์ บอกว่าพลังบวกของลูกสาวของเธอคือความหวังที่เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก กว่า 12 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤต ซีเรียยังคงเป็นประเทศที่ทำให้เกิดผู้ลี้ภัยมากที่สุดในโลกราว 6.5 ล้านคน โดยมากกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนผู้ลี้ภัยทั้งหมดและกลุ่มอื่น ๆ ที่มาจากซีเรียยูเครน อัฟกานิสถานและเมียนมา ต้องการความคุ้มครองจากนานาชาติ
มาเรีย เฟอร์นานดา อาร์ธิกาส กอดเอนดรี คอร์เดโร อาบีลา คู่ชีวิตของเธอ ขณะที่เจอร์ลี ลูกสาววัย 17 เดือนของเธอกำลังดื่มเครื่องดื่มเย็น นอกสถานีขนส่งในเมือง Cali ประเทศโคลอมเบีย ครอบครัวกำลังอยู่ระหว่างการเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดในประเทศเวเนซุเอลา หลังจากที่ต้องเดินทางไปมาระหว่างประเทศต่างๆ ในอเมริกาใต้ พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จในการแสวงหาความมั่นคงและปลอดภัย จำนวนชาวเวเนซุเอลาที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัย หรือกลุ่มคนที่ต้องการความคุ้มครองเพิ่มสูงขึ้นเป็น 5.5 ล้านคน ในปลายปี พ.ศ. 2564 เนื่องจากมีการคาดการณ์จำนวนประชากรใหม่ในประเทศโคลอมเบียและเปรู โดยประเทศโคลอมเบียให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยและกลุ่มที่ต้องการความคุ้มครองจากนานาชาติ 2.5 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดในภูมิภาคอเมริกา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเวนซุเอลา
ฮาลิมา ฮุสเซน คุณแม่ลูกสามวัย 28 ปี หนีจากโซมาเลีย ไปยังค่ายผู้ลี้ภัยดาดับ ประเทศเคนยา ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2565 จากภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี จากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและฝนที่ไม่ตกต้องตามฤดูกาล 5 ฤดูติดต่อกัน ในประเทศโซมาเลีย 607,300 คน กลายเป็นผู้พลัดถิ่นใหม่จากภัยแล้งและความไม่มั่นคง ขณะที่สถานการณ์แย่ลงทุกปี ผู้ลี้ภัยเดินทางจากโซมาเลีย ไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในเคนยา และเอธิโอเปีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชุมชนที่ให้ที่พักพิงยังคงเผชิญกับความขาดแคลนน้ำและอาหาร
Share on Facebook Share on Twitter