จำนวนผู้พลัดถิ่นที่เพิ่มขึ้นมาจากปีที่แล้ว สืบเนื่องจากสงครามในยูเครน และการแก้ไขสถิติผู้ลี้ภัยชาวอัฟกัน รวมถึงการต่อสู้ในพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในซูดาน ที่ทำให้จำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็น 110 ล้านคน
สงครามเต็มรูปแบบในยูเครน รวมถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ และวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ทำให้มีผู้คนต้องพลัดถิ่นจากบ้านเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้ความเร่งด่วนในการทำงานร่วมกันเพื่อบรรเทาสาเหตุและผลกระทบของการพลัดถิ่นเพิ่มสูงขึ้น สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) กล่าว
รายงานประจำปี และรายงานแนวโน้มผู้พลัดถิ่นทั่วโลกของ UNHCR ปี พ.ศ. 2565 พบว่า ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2565 จำนวนผู้พลัดถิ่นจากสงคราม การประหัตประหาร ความรุนแรง และการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ที่ 108.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ 19.1 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นมามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ทิศทางตัวเลขการพลัดถิ่นทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นยังไม่มีสัญญาณว่าลดลงในปี พ.ศ. 2566 เนื่องจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในซูดาน ที่ทำให้เกิดการพลัดถิ่นระลอกใหม่ ส่งผลให้จำนวนรวมผู้พลัดถิ่นทั่วโลกอยู่ที่ราว 110 ล้านคน ในเดือนพฤษภาคม
“ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เราเห็นว่าคนบางกลุ่มเร่งความขัดแย้งให้เกิดขึ้นเร็วเกินไป แต่ช้าเกินไปที่จะหาทางออกให้กับปัญหา สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือวิกฤตการณ์ การพลัดถิ่น และความเจ็บปวดของผู้คนนับล้านที่ถูกบังคับให้หนีออกจากบ้าน” นายฟิลลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าว
ในจำนวนนี้ 35.3 ล้านคน ทั่วโลกเป็นผู้ลี้ภัยที่เดินทางข้ามพรมแดนระหว่างประเทศเพื่อแสวงหาความปลอดภัย ขณะที่จำนวนผู้พลัดถิ่นส่วนใหญ่ร้อยละ 58 ของจำนวนทั้งหมด หรือ 62.5 ล้านคน เป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศจากความขัดแย้งและความรุนแรง
สงครามในยูเครนเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการพลัดถิ่นในปี พ.ศ. 2565 จำนวนผู้ลี้ภัยจากยูเครนเพิ่มขึ้นจาก 27,300 คน ในปลายปี พ.ศ. 2564 เป็น 5.7 ล้านคน ในปลายปี พ.ศ. 2565 กลายเป็นการลี้ภัยที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ลี้ภัยจากอัฟกานิสถานพุ่งสูงขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2565 เนื่องจากการปรับปรุงตัวเลขชาวอัฟกันในประเทศอิหร่าน ซึ่งจำนวนมากเดินทางมาถึงหลายปีก่อนหน้านั้น เช่นเดียวกัน รายงานยังแสดงจำนวนชาวเวเนซุเอลาในโคลอมเบีย และเปรู ซึ่งส่วนใหญ่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “ผู้ที่ต้องการความคุ้มครองระหว่างประเทศ” ที่พักพิงอยู่ในประเทศเหล่านั้น
ตัวเลขยังบ่งชี้ว่าไม่ว่าจะชี้วัดด้วยเศรษฐกิจ หรือสัดส่วนประชากร แต่ประเทศที่ให้ที่พักพิงแก่ผู้พลัดถิ่นส่วนใหญ่ยังคงเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำไปจนถึงปานกลาง ไม่ใช่ประเทศร่ำรวย ประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด 46 ประเทศ มีผลิตภัณฑ์มวลรวมรวมกันน้อยกว่าร้อยละ 1.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก เป็นประเทศที่ให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนผู้ลี้ภัยทั้งหมด ขณะที่งบประมาณเพื่อวิกฤตผู้พลัดถิ่นครั้งใหญ่ และเพื่อการสนับสนุนประเทศที่ให้ที่พักพิงขาดแคลนในปีที่ผ่านมา และยังขาดแคลนต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2566 เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น
“ผู้คนทั่วโลกยังคงแสดงความโอบอ้อมอารีแก่ผู้ลี้ภัย โดยการมอบความคุ้มครองเพิ่มเติม และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่กำลังขาดแคลน” นายฟิลลิปโป เสริม “แต่เราต้องการการสนับสนุนจากนานาชาติเพิ่มขึ้น รวมถึงการแสดงความรับผิดชอบร่วมกันอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะช่วยเหลือประเทศที่มอบที่พักพิงแก่ผู้พลัดถิ่นจำนวนมาก”
“เหนือสิ่งอื่นใด ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำให้สำเร็จเพื่อยุติความขัดแย้ง และขจัดอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ลี้ภัยมีทางเลือกที่เป็นไปได้ในการเดินทางกลับบ้านด้วยความสมัครใจ ปลอดภัย และสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”
ขณะที่จำนวนผู้พลัดถิ่นยังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง รายงานแนวโน้มโลกยังแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นจะไม่ถูกประณามจากการลี้ภัย แต่พวกเขาสามารถและเดินทางกลับบ้านด้วยความสมัครใจและปลอดภัย ในปี พ.ศ. 2565 ผู้ลี้ภัยมากกว่า 339,000 คน เดินทางกลับใน 38 ประเทศ โดยจำนวนลดน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการเดินทางกลับโดยสมัครใจไปยังประเทศซูดาน ซีเรีย แคเมอรูน และโกตดิวัวร์ ในขณะเดียวกันผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ 5.7 ล้านคน เดินทางกลับบ้านในปี พ.ศ.2565 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเอธิโอเปีย เมียนมา ซีเรีย โมซัมบิก และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
ในปลายปี พ.ศ. 2565 คาดการณ์ว่าราว 4.4 ล้านคนทั่วโลกเป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ หรือไม่ได้รับการรับรองสัญชาติ เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 2 จากปลายปี พ.ศ. 2564
รายงานแนวโน้มโลกถูกเผยแพร่ 6 เดือน ก่อนการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ในกรุงเจนีวา ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อหาทางออกและรวมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้คนที่ถูกบังคับให้หนีออกจากบ้านและผู้ที่มอบที่พักพิงแก่พวกเขา
Share on Facebook Share on Twitter