มาเรีย วิคตอเรีย ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อปกป้องสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศผู้พลัดถิ่นภายในประเทศในเมืองโชโก ประเทศโคลอมเบีย
มาเรีย วิคตอเรีย รู้สึกชอบเป็นผู้นำตั้งแต่ยังอายุน้อย “ในจุดหนึ่งฉันถูกถามว่า การเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นโดยกำเนิดหรือถูกสร้างขึ้น?” และคำตอบของฉันคือ พวกเขาเป็นมาตั้งแต่เกิด
เธอเติบโตขึ้นในเมืองกิบโด เมืองหนึ่งของเมืองโชโก ประเทศโคลอมเบีย หนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากความขัดแย้งที่ยาวนานที่สุดของประเทศ เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ในพื้นที่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร หรือแม้กระทั่งถูกกักขังอยู่ในบ้านและชุมชน ถูกแวดล้อมไปด้วยความรุนแรง พวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยงจากการพลัดถิ่นภายในประเทศ และเป็นกลุ่มเปราะบางต่อภาวะซึมเศร้า รวมถึงการใช้สารเสพติด หรือแม้แต่การฆ่าตัวตายมากที่สุด
ในบริบทนี้มาเรีย วิคตอเรีย เริ่มการช่วยเหลือเบื้องต้นด้านจิตสังคมตั้งแต่อายุ 15 ปี ให้กับกลุ่มวัยรุ่นที่เปราะบางที่ต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก รู้สึกโดดเดี่ยว วิตกกังวลและหงุดหงิด ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ การเติบโตในครอบครัวอนุรักษ์นิยมทำให้เธอไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ มาเรีย วิคตอเรีย เข้าใจความยากลำบากของพวกเขา ผ่านการได้รับคำปรึกษา เธอรวบรวมความกล้าเพื่อบอกครอบครัวเกี่ยวกับเพศสภาพของตนเอง แม้เธอจะรู้อยู่แล้วว่าพวกเขาจะปฏิเสธเธอ เมื่อเวลาผ่านไป เธอค้นพบเป้าหมายในชีวิต นั่นคือการอุทิศตนเพื่อเพื่อสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในเมืองโชโก
โคลอมเบียมีประชากรผู้พลัดถิ่นภายในประเทศมากเป็นอันดับสองของโลก 6.8 ล้านคน กำลังต้องการความช่วยเหลือและทางออกที่ยั่งยืน ชาวโคลอมเบียเชื้อสายแอฟริกันและชุมชนพื้นเมือง ได้รับผลกระทบเกินจากความขัดแย้งและต้องพลัดถิ่น ขณะที่กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศชาวโคลอมเบียที่มีเชื้อสายแอฟริกันและชุมชนพื้นเมืองต้องเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นเนื่องจากพวกเขามักเป็นเป้าหมายของกลุ่มติดอาวุธเพราะเพศสภาพของพวกเขา พวกเขามักต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวในชุมชนของตนเอง มีเพียงสองทางเลือก คือละทิ้งอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง หรือออกจากบ้านไป
เมื่อพวกเขาตัดสินใจเลือกที่จะออกมา การเดินทางมาถึงพื้นที่ใหม่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาต้องการความสงบสุขเท่านั้น “สำหรับคนข้ามเพศ การย้ายถิ่นฐานมักนำมาซึ่งการเลือกปฏิบัติ หรือความรุนแรงที่ยาวนาน” มาเรีย วิคตอเรีย กล่าว
เป้าหมายของลาโตโดส โชโก องค์กรที่เธอก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2558 คือการป้องกันให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นและเพื่อให้แน่ใจว่าสิทธิของชุมชนของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับการรับรอง
ในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี มาเรีย วิคตอเรีย ทำงานเพื่อให้แน่ใจว่ากลุ่มคนข้ามเพศสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในเมืองกิบโด เมื่อจบการศึกษา ชื่อของพวกเขาในใบปริญญาสะท้อนถึงตัวตนของพวกเขา เธอยังเป็นผู้ประสานงานระหว่างชุมชนของกลุ่มคนข้ามเพศกับเทศบาลเมืองกิบโด เพื่อให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่พลัดถิ่นถูกรวมอยู่ในนโยบายสาธารณะและสามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข
“ฉันรู้สึกว่าพวกเขาต้องการฉัน ฉันจึงมาอยู่ที่นี่”
ด้วยสิ่งเหล่านี้ทำให้เธอประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตร “เมื่อถึงจุดหนึ่งในชีวิต ฉันต้องการล้มเลิกสิ่งที่ทำอยู่ แต่พวกเขาโทรหาฉันและบอกว่า มาเรีย วิคตอเรีย ฉันมีปัญหา และฉันรู้สึกว่าพวกเขาต้องการฉัน ดังนั้นฉันจึงมาอยู่ที่นี่ มันทำให้ฉันมีความสุข”
สำหรับมาเรีย วิคตอเรีย ผู้คนที่เธออุทิศตนเพื่อช่วยเหลือคือครอบครัว
“มาเรีย วิคตอเรีย เป็นเหมือนแม่ของเราทุกคน” ชารอค ผู้หญิงข้ามเพศผู้พลัดถิ่นชาวโคลอมเบียเชื้อสายแอฟริกันกล่าว “บทบาทที่เธอทำ เธอไม่เพียงแต่ให้คำปรึกษา แต่เธอยังสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่เราสามารถมารวมตัวกัน คลายความกังวลและแบ่งปันกันในฐานะชุมชนหนึ่ง”
ชารอค ถูกบังคับให้หนีจากบ้านในโบยากา โชโก ในปี พ.ศ. 2545 หลังเกิดเหตุสังหารหมู่ที่ทำให้มีผู้พลัดถิ่นมากกว่า 4,000 คน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2561 เธอติดต่อขอความช่วยเหลือจากมาเรีย วิคตอเรีย ชาร็อกหมดหวังกับการผ่าตัดแปลงเพศ และระบบด้านสุขภาพปฏิเสธที่จะให้บริการในเรื่องนี้ มาเรีย วิคตอเรีย ให้ความช่วยเหลือเธอในการต่อสู้ที่ยาวนานจนสำเร็จเพื่อการเข้าถึงการผ่าตัด และตอนนี้ทั้งสองคนทำงานอย่างหนักเพื่อดูแลลาโตโดส โชโก ร่วมกัน
มาเรีย วิคตอเรีย ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เดินทางไปยังพื้นที่ห่างไกลในเมืองโชโก พื้นที่พักพิงของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนพื้นเมืองและชาวโคลอมเบียเชื้อสายแอฟริกัน เพื่อสร้างความรับรู้เกี่ยวกับสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เธอฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อก้าวไปข้างหน้าร่วมกันเพื่อสังคมที่ที่รวมทุกคนเข้าไว้ด้วยกันมากขึ้น
ปีนี้ UNHCR ทำงานร่วมกันลาโตโดส โชโก เพื่อสนับสนุนกิจกรรมและเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายของหน่วยงานเพื่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในภูมิภาค
โครงการต่อไปของเธอคืออะไร? การสร้าง ลา คาซา โรซา (บ้านสีชมพู) บ้านที่ปลอดภัยสำหรับผู้พลัดถิ่นของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศ พื้นที่ที่พวกเขาจะได้รับการเยียวยาและการสนับสนุนจากทีมผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ
ความหวังของมาเรีย วิคตอเรีย คือหนึ่ง จะไม่มีใครต้องถูกบังคับให้พลัดถิ่นจากการเป็นตัวของตัวเองอีก แต่จนกว่าวันนั้นจะมาถึง เธอจะยังคงทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยเหลือพวกเขา
“เราต้องบอกประเทศของเรา ‘ว่าเราอยู่ที่นี่ เรามีชีวิต และมันกำลังเกิดขึ้นกับเรา’” เธอเล่า “เราต้องการเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างมีอิสระ เป็นคนที่ไม่ต้องรู้สึกว่าถูกประหัตประหารเพราะเพศสภาพและอัตลักษณ์ทางเพศ”
Share on Facebook Share on Twitter