กรุงเทพฯ 31 พฤษภาคม 2566 – วันนี้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย UNHCR และ UNICEF ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาระดับชาติว่าด้วยการยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติของเด็กในประเทศไทย โดยมีเจ้าหน้าที่จากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และหน่วยงานสหประชาชาติ ร่วมกันผนึกกำลังเพื่อยุติความไร้รัฐไร้สัญชาติของเด็ก
งานสัมมนานี้อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ร่วมของ UNHCR และ UNICEF เพื่อแก้ปัญหาการไร้รัฐไร้สัญชาติของเด็ก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในประเทศไทย พร้อมระบุถึงความท้าทายที่ยังคงอยู่เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมกันหาแนวทางแก้ไข ตลอดจนส่งเสริมความเข้มแข็งในการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความก้าวหน้าด้านกฎหมายและนโยบายในการจัดการกับปัญหาการ ไร้รัฐไร้สัญชาติ อย่างไรก็ตาม นายจูเซปเป้ เดอ วินเซนทีส ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า “การแก้ปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติในเด็กในประเทศไทย ยังคงเป็นงานที่ไม่เสร็จสิ้นและต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เรายินดีกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติของเด็ก UNHCR จะยังคงสนับสนุนรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนงานให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และพิจารณาแสดงเจตจำนงในการแก้ไขปัญหาการไร้รัฐไร้สัญชาติที่การประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย (Global Refugee Forum) ในปลายปีนี้”
ด้านนางคยองซัน คิม ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะมีสัญชาติใดสัญชาติหนึ่ง และมีสถานะทางกฎหมาย ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและเป็นประตูด่านแรกที่จะช่วยให้เด็กๆ เข้าถึงสิทธิด้านอื่น ๆ เช่น สิทธิในการมีชีวิตอยู่รอด สิทธิด้านการศึกษา สิทธิในการได้รับการปกป้องคุ้มครอง และสิทธิในการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา การไม่มีสัญชาติหรือสถานะทางกฎหมายถือเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงสำหรับเด็กในการจะมีชีวิตที่มีคุณภาพและอนาคตที่สดใส”
รัฐบาลไทยได้เข้าร่วมการรณรงค์ #IBelong ของ UNHCR เพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติภายในปี 2567 และให้คำมั่นสัญญาที่จะลดและแก้ปัญหาสถานะทางกฎหมายสำหรับบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติรวมถึงเด็ก เพื่อให้พวกเขาได้เข้าถึงการศึกษาและสวัสดิการทางสังคมและการคุ้มครองเด็ก ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558 มีบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่ขึ้นทะเบียนกว่า 63,000 คน ได้รับสัญชาติไทย
ปัจจุบัน กฎหมายไทยอนุญาตให้เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยสามารถจดทะเบียนการเกิด ได้รับสูติบัตร เข้าเรียนในโรงเรียนหรือเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีสถานะทางกฎหมายหรือเอกสารใด ๆ ก็ตาม
นางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า “งานสัมมนาในวันนี้ไม่เพียงแต่เป็นโอกาสที่จะสะท้อนความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติในเด็กเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เรากลั่นกรองและเร่งความพยายามในการแก้ไขปัญหาการไร้รัฐไร้สัญชาติของเด็กในประเทศไทยอย่างครอบคลุม รัฐบาลไทยจะใช้โอกาสนี้เพื่อเร่งการดำเนินงานของเราโดยร่วมมือกับหน่วยงานของสหประชาชาติและภาคประชาสังคมเพื่อแก้ปัญหาเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย”
เกี่ยวกับสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)
UNHCR ได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้นำและประสานงานระหว่างประเทศเพื่อปกป้องผู้คนที่ถูกบังคับให้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานเนื่องจากความขัดแย้งและการประหัตประหาร นอกจากนี้ยังได้รับมอบหมายจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในการคุ้มครอง ป้องกันและลดปัญหาภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสิทธิและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ถูกบังคับอพยพโยกย้ายถิ่นฐานและคนไร้รัฐไร้สัญชาติ
ในประเทศไทย UNHCR ทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยเพื่อสนับสนุนความพยายามในการป้องกัน และลดความ ไร้รัฐไร้สัญชาติ งานดังกล่าวรวมถึงการรณรงค์เพื่อความเปลี่ยนแปลงและการสนับสนุนทางเทคนิคสำหรับการปฏิรูป กฎหมายและนโยบาย การเสริมสร้างศักยภาพ และสนับสนุนรัฐบาลไทยในการดำเนินการตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์ระดับโลก #IBelong เพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ
นอกจากนี้ UNHCR ยังทำงานร่วมกับองค์กรเพื่อการพัฒนาและบรรเทาทุกข์ (Adventist Development and Relief Agency – ADRA) ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อสนับสนุนทางการไทยในการดำเนินกระบวนการทางทะเบียนราษฎรและสัญชาติ โดยให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติและสร้างความตระหนักแก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง แม่จัน และแม่สาย จังหวัดเชียงราย ดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐในระดับอำเภอ ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้นำชุมชน ตลอดจนภาคประชาสังคมในท้องถิ่น ตั้งแต่ปี 2558 คนไร้รัฐไร้สัญชาติกว่า 50,000 คนได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจาก UNHCR และ ADRA
เกี่ยวกับยูนิเซฟ
ยูนิเซฟทำงานเพื่อส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็ก โดยให้ความช่วยเหลือเด็กในด้านต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของพวกเขาและสร้างโอกาสเพื่อให้เด็ก ๆ ได้สามารถพัฒนาเต็มศักยภาพ ยูนิเซฟมุ่งมั่นที่ให้เด็กทุกคน โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบางได้รับการคุ้มครอง ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม การสู้รบ โรคระบาด และภัยพิบัติ ตลอดจนเด็กพิการ เด็กที่เผชิญความยากจนขั้นรุนแรง หรือเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรง ถูกล่วงละเมิด ถูกละเลยทอดทิ้งและถูกแสวงประโยชน์ทุกรูปแบบ
ในปี 2564 ยูนิเซฟร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปได้จัดทำการศึกษา ชีวิตที่มองไม่เห็น: 48 ปี ของ สถานการณ์เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย (พ.ศ. 2515 – 2563) ซึ่งนำเสนอภาพรวมและการวิเคราะห์ อุปสรรคในการได้รับสถานะทางกฎหมายและสัญชาติของเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย ผลการศึกษาพบว่าประเทศไทยจำเป็นต้องเน้นการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติเพื่อยุติปัญหาการไร้รัฐไร้สัญชาติในเด็ก ซึ่งรวมถึงการวางระเบียบขั้นตอนและแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ตลอดจนการเสริมสร้าง ศักยภาพของบุคลากร และการจัดสรรทรัพยากรทางการเงิน และทรัพยากรบุคคลในระดับปฏิบัติการให้มากขึ้น
ในปี 2565 ยูนิเซฟร่วมกับองค์กร Terre Des Hommes ประเทศเยอรมนี และเครือข่ายคุ้มครองเด็กไร้สัญชาติ เพื่อดำเนินโครงการ หน่วยทะเบียนราษฎรเคลื่อนที่ โดยอาสาสมัครจะเดินทางไปยังโรงเรียนในภาคเหนือของประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกในกระบวนการลงทะเบียนสำหรับเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ จนถึงปัจจุบันหน่วยเคลื่อนที่ได้เข้าถึงนักเรียนไร้รัฐกว่า 22,000 คน
Share on Facebook Share on Twitter