ชาวโซมาเลียราว 45,000 คน เดินทางมาถึงเมืองดาดาบ ใน ปี พ.ศ. 2565 และคาดการณ์ว่าจะมีผู้เดินทางมาถึงเพิ่มมากขึ้นในเดือนที่กำลังมาถึง แต่ทรัพยากรในการให้ความช่วยเหลือพวกเขากำลังถึงขีดจำกัด
เดกาว อาลี ชาวโซมาเลีย และคุณพ่อลูกสี่ กำลังตั้งเสาเพื่อสร้างที่พักพิงให้กับครอบครัวหลังจากเดินทางมาถึงค่ายดากาฮาเลย์ เมืองดาดาบ © UNHCR/Charity Nzomo
ย้อนกลับไปที่บ้านในประเทศโซมาเลีย เดกาว เดอโรว อาลี คุณพ่อของลูก ๆ ทั้งสี่คน ต้องพึ่งพาพืชไร่ และสัตว์เลี้ยงเพื่อดูแลครอบครัว แต่หลังจากที่ฝนไม่ตกตลอดสามปีทำให้เขาสูญเสียอาชีพ และวิถีชีวิตไป
“คุณปลูกพืชแต่ไม่มีอะไรให้เก็บเกี่ยว” เขาเล่า “วัวของผมตายไปหลายตัวในหน้าแล้ง ผมยังเสียแพะไปด้วย”
เดกาว ขายแพะทั้งหมดเพื่อจ่ายค่าเดินทางของตัวเอง และครอบครัวเพื่อข้ามมายังประเทศเคนยา และเดินทางต่อมาถึงค่ายผู้ลี้ภัย ในเมืองดาดาบ ที่ซึ่งพวกเขาได้รับความช่วยเหลือ
“ผมเดินทางมาโดยไม่มีอะไรติดตัวมาเลยนอกจากลูก ๆ” เขาเล่า
ความอดอยากคืบคลานเข้ามาในโซมาเลีย หลังประเทศต้องประสบกับภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบสี่ทศวรรษ ฝนไม่ตกตามฤดูกาลทั้งสี่ครั้งตลอดระยะเวลาสองปีจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เกิดความอดอยากร้ายแรงในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และทำให้ผู้คนเกือบ 1 ล้านคน ต้องพลัดถิ่นอยู่ภายในประเทศตั้งแต่เดือนมกราคมปีที่ผ่านมา
เมื่อภัยแล้งที่ยาวนาน เกิดขึ้นพร้อมกับสถานการณ์ความขัดแย้ง ผลักดันให้ชาวโซมาเลียมากกว่า 80,000 คน ต้องเดินข้ามชายแดนไปยังเมืองดาดาบ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยราว 45,000 คน เดินทางมาถึงปีที่แล้ว ขณะที่สถานการณ์เลวร้ายลง และการพยากรณ์ว่าฝนอาจไม่ตกตามฤดูอีกครั้ง คาดการณ์ว่าอาจมีครอบครัวที่เดินทางมาถึงเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
“ผู้คนกำลังเดินทางเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตอนที่เรามา มีคนจำนวนมากแม้แต่เมื่อวานนี้มีคนเดินทางมาถึงเพิ่มขึ้นอีก” คาดาจิ อาเหม็ด ออสมาน วัย 36 ปี เดินทางมาถึงในเดือนตุลาคม พร้อมกับลูก ๆ ทั้ง 8 คน หลังถูกบังคับให้ต้องปิดร้านอาหารเล็ก ๆ ในเมืองซาลาเกล ตอนกลางของภูมิภาคจับบา ประเทศโซมาเลีย ที่เธอเป็นเจ้าของ
“กิจการปิดตัวลงเพราะผู้คนหนีจากภัยแล้ง และความไม่ปลอดภัย” เธอเล่า “ฉันต้องการปกป้องลูกชายของฉันจากการถูกเกณฑ์ไปร่วมกับกลุ่มติดอาวุธ ฉันจึงตัดสินใจมาที่นี่”
สำนักงานข้างหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในเมืองดาดาบ กำลังมอบความช่วยเหลือด้านการเงิน น้ำดื่มสะอาด และสิ่งของด้านสุขอนามัยให้ครอบครัวที่เดินทางมาถึงใหม่ รวมไปถึงให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่กลุ่มที่เปราะบางมากที่สุด เช่น เด็กที่ขาดสารอาหาร
แต่ทรัพยากรกำลังถูกใช้ถึงขีดจำกัด ภัยแล้งที่ยาวนานต่อเนื่องยังส่งผลกระทบต่อผู้ลี้ภัย และผู้ขอลี้ภัยมากกว่า 230,000 คน ที่พักพิงอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยหลายแห่งที่ถูกสร้างขึ้นในเมืองดาดาบ รวมถึงในพื้นที่รอบชุมชนก่อนหน้านี้
“เราใช้ทรัพยากรเพียงน้อยนิดที่เรามีทำงานเพื่อตอบสนองในสถานการณ์นี้” มาธาร์ เจ้าหน้าที่ความคุ้มครองของ UNHCR กล่าว “มีความต้องการสูงมาก และเราร้องขอให้ผู้บริจาค สนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มงบประมาณ”
เมืองดาดาบ เป็นที่พักพิงของผู้ลี้ภัยชาวโซมาเลียมากกว่า 30 ปี ฮุสเซน อิบราฮิม โมฮัมหมัด เป็นหนึ่งในผู้ที่มาถึงกลุ่มแรกในปี พ.ศ. 2535 ตอนนี้ ในฐานะเจ้าหน้าที่ชุมชน เขากำลังช่วยให้ผู้ที่เดินทางมาถึงใหม่เริ่มต้นชีวิตใหม่
“คนเหล่านี้อยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก” เขาเล่า “พวกเขาเดินทางมาไกลมาก ผมจึงตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากผู้คนไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน หรือเสื้อผ้า ผมมีเงินบางส่วนที่ได้รับบริจาคมา และวางแผนซื้อผ้าพลาสติกเอนกประสงค์ให้พวกเขา”
คาดิจา เล่าว่าเธอได้รับการต้อนรับด้วยความเต็มใจจากผู้ลี้ภัยที่พักพิงอยู่ในเมืองดาดาบ มาก่อน รวมไปถึงญาติที่ช่วยเธอสร้างที่พัก “แต่เราไม่มีอาหาร ไม่มีที่พักพิง และไม่มีห้องน้ำ” เธอกล่าว
ความแออัดของผู้คน และความขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณสุขภายในค่ายทำให้เกิดการระบาดของอหิวาตกโรค โดยมีผู้ได้รับการระบุว่าติดเชื้อแล้วเกือบ 500 คน ในปลายเดือนตุลาคม จำนวนมากเป็นเด็ก
UNHCR กำลังทำงานกับพันธมิตรด้านสาธารณสุขเพื่อจัดตั้งศูนย์รักษาอหิวาตกโรคเพิ่มเติมเพื่อขยายการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข แต่งบประมาณที่ขาดแคลนกำลังเป็นอุปสรรคต่อการให้ความช่วยเหลือ
UNHCR ได้รับงบประมาณเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ต้องการเพื่อการตอบสนองในวิกฤตภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อต่อภูมิภาคจะงอยแอฟริกาทั่วทั้งภูมิภาค
“เราต้องการผ้าพลาสติกเอนกประสงค์ เต็นท์ และวัสดุอื่น ๆ ให้กับผู้ลี้ภัย และผู้ที่เดินทางมาถึงใหม่อย่างเร่งด่วน เรายังต้องการยารักษาโรค อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ รวมไปถึงสิ่งของบรรเทาทุกข์ เช่น ชุดครัว ผ้าห่ม ถังน้ำ สบู่ สิ่งของด้านสุขอนามัยสำหรับผู้หญิง และเสื่อนอน” มาธาร์ กล่าว
Share on Facebook Share on Twitter