อาสาสมัครชุมชนช่วยเหลือคนไร้รัฐไร้สัญชาติในหมู่บ้านของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ในการยื่นขอสัญชาติ
เรื่องโดย อภิภา นรภูมิพิภัชน์
แปลโดย นันทนีย์ เจษฎาชัยยุทธ์
จ. เชียงใหม่ ประเทศไทย – ท่ามกลางภูเขาอันเขียวขจีที่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่อันวุ่นวายในภาคเหนือของประเทศไทยมาประมาณ 60 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าและลีซู ที่ซึ่ง มีเปีย เชอหมือ ใช้ชีวิตอยู่ด้วยความไม่แน่นอนมามากกว่า 30 ปี
แม่ของเธอถือสัญชาติไทย ในขณะที่พ่อเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ มีเปียถูกทอดทิ้งตั้งแต่ยังแบเบาะและไม่เคยได้รับการจดทะเบียนการเกิด ทำให้เธอไม่มีสถานะทางกฎหมายใดๆ ในประเทศที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเธอเอง มีเปียได้รับการเลี้ยงดูจากย่าและลุง ซึ่งทั้งคู่ต่างก็ไร้รัฐไร้สัญชาติ
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรไร้รัฐไร้สัญชาติที่ขึ้นทะเบียนแล้วมากกว่าครึ่งล้าน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่มากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก เกือบหนึ่งในสี่อยู่ใน จ. เชียงใหม่ ประชากรไร้รัฐไร้สัญชาติส่วนมากเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงตามแนวชายแดน การที่ได้ขึ้นทะเบียนทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงการศึกษา สามารถทำงาน และได้รับการบริการทางสุขภาพในระดับหนึ่ง แต่อิสระในการเดินทางนั้นยังถูกจำกัดอยู่เพียงแค่เขตจังหวัดเท่านั้น อย่างไรก็ตามยังมีคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอยู่อีกเช่นกัน โดยไม่อาจทราบจำนวนที่แน่ชัดได้ ดังเช่น มีเปีย การที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนทำให้ต้องเผชิญอุปสรรคมากขึ้นไปอีกในการที่จะเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การศึกษา การทำงาน และการที่จะได้รับการบริการทางสุขภาพ
มีเปียจำเป็นต้องออกจากโรงเรียนหลังจากเรียนจบชั้น ป.2 และต้องรับจ้างทำไร่ทำนา ซึ่งเธอได้รับค่าแรงสูงสุดเพียงแค่ 100 บาทต่อวัน เมื่อไรก็ตามที่ต้องออกไปนอกหมู่บ้านเธอจะรู้สึกกลัวมาก หลังจากที่เคยถูกตำรวจจับและต้องเสียค่าปรับ เนื่องจากเธอไม่มีบัตรประจำตัว การที่สามีของเธอซึ่งก็เคยเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติมาก่อน แต่ภายหลังได้รับสัญชาติ ทำให้ลูกได้รับสัญชาติตามพ่อ แต่สำหรับมีเปียเองแล้ว เธอไม่สามารถยื่นขอสัญชาติตามสามีได้
“มันยากที่สุดเลยค่ะ” เธอถอนหายใจ “บางครั้งหนูก็รู้สึกท้อใจ แล้วก็ถามตัวเองว่า ทำไมหนูถึงไม่มีเหมือนคนอื่นเค้า”
ประเทศไทยได้ให้การรับรองโครงการ UNHCR #IBelong เพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2567 และได้ดำเนินการปฏิรูปกฎหมายสัญชาติและการทะเบียนราษฎรอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดทอนความซับซ้อนในยื่นขอสัญชาติและการเข้าถึงสิทธิด้านต่างๆ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา มีคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ได้รับสัญชาติไทยไปแล้วเป็นจำนวนมากกว่า 1 แสนคน อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ ยังพบว่าขั้นตอนและกระบวนการที่เกี่ยวข้องในการยื่นขอสัญชาติยังคงเข้าถึงยากและมีความซับซ้อน
ความโชคดีเกิดขึ้นกับมีเปีย เมื่อเธออายุ 30 ปี เนื่องจากมีคนในหมู่บ้านเดียวกันได้พบกับแม่ของเธอที่ จ. เชียงราย มีเปียไม่รีรอที่จะติดต่อกับแม่และขอร้องให้แม่ตรวจสารพันธุกรรม (DNA) เพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายโลหิต เพื่อที่เธอจะได้เริ่มต้นกระบวนการยื่นขอสัญชาติ มีเปียรวบรวมเอกสารเท่าที่มีทั้งหมดแล้วเดินทางไปติดต่ออำเภอ ซึ่งห่างออกไป 17 กิโลเมตร การเดินทางนี้นับว่าเป็นความเสี่ยงอย่างมากสำหรับคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเช่นเธอ
หลังจากที่รอมานาน 3 ปี คำร้องของเธอไม่ได้รับการพิจารณา และเธอถูกบอกให้ไปเริ่มกระบวนการทั้งหมดใหม่ในจังหวัดที่แม่อาศัยอยู่ ซึ่งห่างออกไปกว่าร้อยกิโลเมตร
เรื่องราวของมีเปียเป็นที่รู้กันไปทั่วหมู่บ้านจนไปเข้าหูของ หมี่ฝ่า อะซอง อาสาสมัครชุมชนของเครือข่ายอาสาชุมชนเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติและมูลนิธิพันธกิจลอว์ 2 องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในแนวทางเดียวกันกับ UNHCR เพื่อช่วยเหลือคนไร้รัฐไร้สัญชาติในกระบวนการยื่นขอสัญชาติและสถานะบุคคล
“หนูเป็นคนไม่มีความรู้ค่ะ หนูรู้แค่ว่าเอกสารบางอย่างคืออะไร แต่หนูไม่เข้าใจ 100 เปอร์เซ็นต์” มีเปียกล่าว “พี่หมี่ฝ่าบอกหนูว่า องค์กรของพี่เค้าสามารถช่วยหนูได้”
หมี่ฝ่าเคยเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติมาก่อน เธอเข้าใจถึงความยากลำบากที่มีเปียต้องเผชิญเป็นอย่างดี หมี่ฝ่าเป็นหนึ่งในอาสาสมัครชุมชนจำนวนประมาณ 20-30 คนที่อยู่ในหมู่บ้านชนเผ่าใน 5 อำเภอของ จ. เชียงใหม่ พวกเขาเป็นฮีโร่ที่ไม่มีใครรู้จักที่ทำงานเพื่อช่วยยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย พวกเขาเป็นอดีตคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ได้รับการคัดเลือกจากคนในหมู่บ้าน และผ่านการอบรมเรื่องกฎหมายสัญชาติ วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล รวมถึงวิธีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่อำเภอ จากเครือข่ายอาสาชุมชนเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติและมูลนิธิพันธกิจลอว์
หมี่ฝ่าช่วยมีเปียในการวบรวมหลักฐานและเอกสารต่างๆ และเดินทางไปยังอำเภอด้วยกัน
“พี่หมี่ฝ่าบอกให้หนูพาแม่ไปด้วย หนูก็เลยโทรบอกแม่ให้มา” มีเปียทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้น “วันนั้นพี่หมี่ฝ่าขอให้ผู้ใหญ่จากหมู่บ้านของหนูไปด้วย แล้วก็มีอาสาคนอื่นๆ แล้วก็มีเจ้าหน้าที่จากกรมการปกครอง และในวันนั้นหนูก็ได้ขึ้นทะเบียน”
ในที่สุดมีเปียก็ได้รับสัญชาติไทยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อเธอมีอายุครบ 34 ปี
“วันที่หนูได้ถือบัตรประชาชนไทยในมือ หนูรู้สึกดีใจและโล่งใจมากที่สุดเลยค่ะ แม้ว่าหนูจะไม่มีเงินเหมือนคนอื่นเค้า แต่ตอนนี้หนูมีสิทธิเท่ากันกับเค้าแล้ว หนูไม่ต้องอยู่ในความกลัวอีกแล้ว” มีเปียกล่าว
“การหางานทำของหนูก็คือว่า แถวนี้มีโรงแรม มีรีสอร์ตเยอะมากที่หนูสามารถสมัครงานได้ เมื่อก่อนตอนที่หนูยังไม่มีสัญชาติ หนูพยายามสมัครแต่เค้าไม่รับเลย เพราะว่าหนูไม่มีบัตรประชาชน แต่ตอนนี้ทุกอย่างดูราบรื่นมากเลยค่ะ แล้วหนูก็รู้สึกมั่นใจมากกว่าเมื่อก่อนด้วย”
หมี่ฝ่าพูดถึงการที่เธอได้ช่วยเหลือคนอื่นในหมู่บ้านให้ได้รับสัญชาติว่า เป็นเหมือน “พร” ที่เธอได้รับ
“หนูรู้สึกมีความสุขที่ช่วยให้เค้ามีชีวิตใหม่ ได้ทำงานดีๆ ได้มีประกันสุขภาพ” หมี่ฝ่ากล่าว “หนูอยากจะให้คนในหมู่บ้านที่ยังไร้รัฐไร้สัญชาติได้รู้ถึงความสำคัญของสิทธิที่เค้าควรจะได้รับ”
Share on Facebook Share on Twitter