อาสาสมัครผู้ลี้ภัยที่ได้รับการอบรมกำลังทำงานเพื่อมอบความคุ้มครอง และให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิต และจิตสังคมแก่ผู้ที่พักพิงอยู่ภายในค่ายผู้ลี้ภัย หนึ่งในโครงการใหม่ของ UNHCR
พอว์ พอว์ เอห์ บลึ อายุ 23 ปี(เสื้อสีดำ) กำลังพูดคุยกับผู้ที่พักพิงอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละ ประเทศไทย เธอเริ่มทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพจิตกับ Humanity and Inclusion ในปี พ.ศ. 2565 © UNHCR/Morgane Roussel-Hemery © UNHCR/Morgane Roussel-Hemery
ซาน ลิน คุณแม่ลูกสอง พักพิงอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยบ้านอุ้มเปี้ยม ห่างจากชายแดนประเทศเมียนมา 12 กิโลเมตร ลูกสาวของเธอมีอาการออทิสติกรุนแรง ขณะที่ลูกชายของเธอต้องทุกข์ทรมานจากโรคโปลิโอ เธอเครียดและกังวลเกี่ยวกับลูก ๆ ทำให้เธอมีอาการนอนไม่หลับ
ประเทศไทยเป็นที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยมากกว่า 90,000 คน ในค่ายผู้ลี้ภัยทั้งหมด 9 แห่ง ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง กะเหรี่ยงแดง และเมียนมา พักพิงอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวเหล่านี้ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา หลังต้องหนีจากความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ และกองทัพเมียนมา
เช่นเดียวกับซาน ลิน ในแต่ละวันผู้ลี้ภัยหลายคนกำลังเผชิญกับปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความเครียดสะสมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ความเข้าใจผิดและการขาดความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต ทำให้ในปีนี้มีผู้ที่พักพิงอยู่ในค่ายเพียงร้อยละ 2 ลงทะเบียนเพื่อขอความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตและจิตสังคม (MHPSS)
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ร่วมกับ Humanity & Inclusion องค์กรพันธมิตร เปิดตัวโครงการเพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตและจิตสังคมโดยเฉพาะ โดยมีเป้าหมายในการสร้างความรับรู้และสร้างความเข้มแข็งในการสนับสนุนจากชุมชน ทำให้ผู้ที่พักพิงอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยไม่เพียงแต่มีความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตมากขึ้น แต่ยังสามารถรับมือได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
ไม่นานมานี้ โด นู เอย์ อายุ 25 ปี ผู้ลี้ภัยและเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพจิต เข้ามาเยี่ยมซาน ลิน โดย โด นู เอย์ เป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัย 11 คน ที่พักพิงอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย 5 แห่ง ในประเทศไทย ที่ได้รับการอบรมด้านสุขภาพจิตและจิตสังคม เธอได้รับการคัดเลือกจากความรู้พื้นฐานและความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้พิการ เธอรับฟังปัญหาของซาน ลิน อย่างตั้งใจ พร้อมให้คำปรึกษา และสอนเทคนิคการหายใจเพื่อบรรเทาความกังวลใจ สำหรับซาน ลิน แล้ว การที่เจ้าหน้าที่จาก Humanity & Inclusion เดินทางมาเยี่ยมอย่างสม่ำเสมอทำให้เธอรู้สึก “สบายใจและเป็นกำลังใจให้เธอ”
การเยี่ยมบ้านไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมเดียวที่เจ้าหน้าที่เช่น โด นู เอย์ ทำ พวกเขายังต้องจัดกิจกรรมฝึกอบรมแก่ผู้พักพิงในที่ค่ายผู้ลี้ภัยอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความรับรู้เกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพจิต และเรียนรู้วิธีบรรเทาอาการ รวมถึงวิธีในการช่วยเหลือสมาชิกในชุมชน
ทามิ ลู อายุ 23 ปี ผู้ลี้ภัยและเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพจิตในค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละ ค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จัดกิจกรรมฝึกอบรมให้กับผู้เข้าร่วม 10 คน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในการฝึกอบรมครั้งนี้ได้รับการคัดเลือกจากการประเมินสุขภาพจิตโดยทีม Humanity & Inclusion
แม้กระทั่งก่อนการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการด้านสุขภาพจิตและจิตสังคม ทามิ ลู คอยรับฟังเพื่อนบ้านและญาติพี่น้องของเขาเพื่อบรรเทาความเครียด ตอนนี้เขาใช้ทักษะนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือคนในชุมชน
ระหว่างการฝึกอบรมในที่ค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละ เขาเริ่มการฝึกอบรมโดยการถามผู้เข้าร่วมกิจกรรมว่าพวกเขามีความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตมากน้อยเพียงใด และพบว่าพวกเขามีความรู้ด้านนี้น้อยมาก
เพื่อให้พวกเขามีความเข้าใจมากขึ้น ทามิ ลู ยกตัวอย่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของพวกเขา “เราเริ่มกิจกรรมด้วยการยกตัวอย่างสถานการณ์และวิเคราะห์ความคิด ความรู้สึก และปฏิกิริยาของพวกเขา” เขาอธิบาย “จุดประสงค์คือการทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมตระหนักว่าสุขภาพจิตสามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาทางร่างกายเช่น ความเจ็บปวด หรืออาการนอนไม่หลับ สิ่งที่เกิดขึ้นต่อร่างกายคือผลลัพธ์ที่มีสาเหตุมาจากจิตใจ”
กิจกรรมที่ทำให้ผู้เข้าร่วมได้ใช้ร่างกายสามารถนำมาใช้ในการอธิบายได้ดี ว่าปัญหาด้านสุขภาพจิตเกิดขึ้นได้อย่างไร ระหว่างการฝึกอบรมในการจัดการกับความเครียด โด นู เอย์ ขอให้ผู้ร่วมกิจกรรมในค่ายผู้ลี้ภัยบ้านอุ้มเปี้ยมยืนด้วยขาข้างเดียว พร้อมกับถือหนังสือไว้ในมือ เธอค่อย ๆ ส่งหนังสือ และของอื่น ๆ ให้ผู้ร่วมกิจกรรมถือเพิ่มขึ้น เมื่อไม่สามารถถือของเพิ่มได้อีก ของทุกอย่างที่ถือไว้จะตกลงพื้นในที่สุด
“หลังจากนั้น ฉันเริ่มกิจกรรมเดียวกันนี้ บอกกับผู้ร่วมกิจกรรมว่าพวกเขาสามารถขอความช่วยเหลือจากคนอื่นได้” โด นู เอย์ เล่า “เมื่อพวกเขาได้รับการช่วยเหลือ พวกเขาจะตระหนักได้ว่าจะสามารถยืนอยู่ได้ด้วยขาข้างเดียวของตนเองได้นาน หรือถือของได้มากกว่านี้ จุดประสงค์ของกิจกรรมนี้คือให้ผู้ร่วมกิจกรรมเข้าใจว่าความคิดด้านลบเปรียบได้กับกองหนังสือ หากพวกเขาอยู่ในจุดที่เปราะบางและยังไม่หยุดความคิดด้านลบ จะยิ่งทำให้ความเครียดสะสมและจิตใจแตกสลายตามกาลเวลา ในทางตรงกันข้ามหากคุณขอความช่วยเหลือ จะมีคนที่สามารถแบ่งเบาภาระจากมือของคุณได้”
“ที่ผ่านมาตอนที่ฉันรู้สึกถูกครอบงำจากความรู้สึกด้านลบ บางครั้งฉันอยู่ที่บ้านไม่ได้ทำอะไร ไม่ขยับตัว ไม่ทานอาหาร ไม่นอน” เด็กสาวผู้ลี้ภัยที่เข้าร่วมกิจกรรมเล่า “การเข้าร่วมกิจกรรมทำให้ฉันเข้าใจว่ากลไกการเผชิญปัญหาเหล่านี้อาจเป็นพิษ แต่ยังมีผู้คนที่รู้สึกเช่นเดียวกันกับฉัน เราได้เรียนรู้ว่าเราสามารถช่วยเหลือกันและกันได้”
กิจกรรมศิลปะบำบัดถูกจัดขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ที่พักพิงอยู่ในค่ายมีช่องทางในการจัดการกับอารมณ์และความผิดหวัง มีการศึกษามากมายพบว่าการทำงานศิลปะสามารถช่วยเยียวยาได้ การวาดรูป ระบายสี และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบอื่น ๆ สามารถลดระดับ “cortisol” หรือ “ฮอร์โมนความเครียด” ได้
โด นู เอย์ และผู้ที่พักพิงอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยบ้านอุ้มเปี้ยมสร้าง “hapa-zome” หรือศิลปะจากใบไม้ ผู้ร่วมกิจกรรมจะได้รับกระป๋าผ้า รวมถึงดอกไม้และใบไม้ ต่อจากนั้นพวกเขาจะทุบดอกไม้และใบไม้ลงบนกระเป๋าผ้าด้วยค้อนเพื่อให้สีจากธรรมชาติประทับลงบนผ้า และตะโกนว่า “ปัญหาต่าง ๆ จงออกไป” พร้อมไปกับการทุบลงไปที่กระป๋าผ้าเพื่อปลดปล่อยความเครียด ผู้ร่วมกิจกรรมยังได้รับการสนับสนุนให้จัดการกับความเครียดและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย
เมื่อพิจารณาถึงความท้าทายและปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดที่ผู้ลี้ภัยในค่ายต้องเผชิญในแต่ละวัน การสนับสนุนด้านจิตสังคมในชุมชนเป็นสิ่งสำคัญ กลยุทธ์ที่ทามิ ลู และโด นู เอย์ ใช้ง่ายมาก และพวกเขายังสนับสนุนผู้ลี้ภัยโดยการมอบเครื่องมือและให้ความรู้ในการจัดการและพัฒนาสุขภาพจิตของตนเอง รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกในชุมชนที่ต้องการ
ในช่วงท้ายของการเยี่ยมบ้าน ลมหายใจของซาน ลิน ช้าลง และเธอรู้สึกสบายใจขึ้น “การฝึกลมหายใจช่วยให้ฉันสามารถควบคุมความคิด” เธอกล่าว “เวลาที่ฉันคิดมาก ฉันนอนไม่หลับและรู้สึกกังวล ฉันฝึกหายใจและมันช่วยให้ฉันสงบลง ช่วยลดการเต้นของหัวใจ และปลดปล่อยความกังวลใจได้”
Share on Facebook Share on Twitter