การประกาศรางวัลผู้ลี้ภัยนานเซ็น ของ UNHCR ปีนี้ เราขอพาทุกคนย้อนเวลาเพื่อทำความรู้จักชีวิตและความสำเร็จของนักสำรวจชาวนอร์เวย์ ที่เรานำชื่อมาตั้งเป็นชื่อรางวัล
ฟริดท์จอฟ นานเซ็น บนเรือที่ชื่อว่า “Correct” ระหว่างการเดินทางไปยังไซบีเรียในปี ค.ศ. 1913 © UNHCR
แล้วนานเซ็นคือใคร? ผู้ชายคนหนึ่งที่เริ่มต้นอาชีพด้วยการสำรวจหนอนทะเลตัวเล็ก ๆ ที่เข้ามามีบทบาทในการมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และการล่มสลายของจักรวรรดิโรมานอฟ ฮับสเบิร์ก และออตโตมัน
นักสำรวจขั้วโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่คุณอาจไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน
ความสำเร็จของนานเซ็นในฐานะรัฐบุรุษและนักมนุษยธรรมสร้างขึ้นจากชื่อเสียงและโชคที่เขาได้รับในฐานะนักสำรวจผู้กล้าหาญและสร้างสรรค์ การผจญภัยครั้งแรกในมหาสมุทรอาร์กติกเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1882 ตอนที่เขามีอายุเพียง 20 ปี ด้วยเรือ (แม้ว่างานหลักของเขาคือการศึกษาสัตว์ป่า) ในปี ค.ศ. 1888 เป็นครั้งแรกที่เขาสามารถเดินทางข้ามกรีนแลนด์ได้สำเร็จ ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้ทำให้เขากลายเป็นวีรบุรุษของชาติ แต่ความสำเร็จที่อาจโด่งดังที่สุดของเขาในฐานะนักสำรวจเป็นการเดินทางไปยังขั้วโลกเหนือ นานเซ็นออกเดินทางโดยเรือ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการเดินทางครั้งนี้โดยเฉพาะ โดยออกเดินทางในปี ค.ศ.1893 และไม่ได้กลับมาเลยเป็นระยะเวลา 3 ปี แม้ว่าเขาจะไม่สามารถเดินทางไปถึงขั้วโลกได้สำเร็จ แต่เขาได้สร้างสถิติใหม่ในการเดินทางไปถึงจุดที่อยู่เหนือสุดของโลกไว้ได้ ความสำเร็จในครั้งนี้จุดประกายความนิยมในตัว Nansen อย่างมาก ทั้งในนอร์เวย์ และประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหราชอาณาจักร ในบรรดานักสำรวจที่เข้ามาขอคำแนะนำ คำอวยพร และเงินทุนในการเดินทางจากนานเซ็นมี Roald Amundsen (นักสำรวจชาวนอร์เวย์ผู้ยืมเรือใบที่นานเซ็นใช้เดินทางเพื่อสำรวจแอนตาร์กติก) Ernest Shackleton นักสำรวจชาวไอริช และ Robert Falcon Scott ทหารเรือและนักสำรวจชาวอังกฤษ
การก้าวเข้าสู่การเป็นนักการทูต รัฐบุรุษ และวีรบุรุษของผู้ลี้ภัย
ขณะที่นอร์เวย์ยังเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนกับการยุติการรวมประเทศกับสวีเดน นานเซ็นถูกวางตัวในบทบาททั้งนักการทูตและนักประชาสัมพันธ์ หลังจากการประกาศเอกราชในปี ค.ศ. 1905 นานเซ็นได้เป็นนักการทูตในสหราชอาณาจักร ที่ซึ่งเขาได้รับการยอมรับจากทั้งสังคมชั้นสูงและพระบรมวงศานุวงศ์
นี่เป็นก้าวสำคัญในการเข้ามามีส่วนร่วมในระดับนานาชาติในวงกว้างหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 นอกจากความเป็นที่นิยม ความชื่นชมในความความซื่อสัตย์และจริงใจ นานเซ็น ยังได้รับความไว้วางใจให้ทำงานในบทบาทที่ไม่ว่านักการเมืองที่มีชื่อเสียงจากพรรคการเมืองใดก็ไม่อาจทำได้ “อย่างไรก็ตามบุคลิกของนานเซ็น ดึงดูดบุรุษผู้ทรงอิทธิพล” Roland Huntford ผู้เขียนชีวประวัติของเขาระบุไว้
นานเซ็นได้รับการแต่งตั้งโดยองค์การสันนิบาตชาติให้เป็นข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติคนแรก ในปี ค.ศ. 1921 และดำรงตำแหน่งจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตในปี ค.ศ. 1930 เขาอุทิศตนในการหาทางออกให้กับผู้อพยพชาวรัสเซียที่หนีจากการปฏิวัติบอลเชวิค ผู้ลี้ภัยจากกรีซ และตุรเคีย ที่พลัดถิ่นจากการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมัน และสงครามประกาศอิสรภาพตุรกี รวมถึงชาวอาร์เมเนียนที่กำลังพลัดถิ่น
ครบรอบร้อยปี: หนังสือเดินทางนานเซ็น
นานเซ็น เห็นว่าหนึ่งในอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดที่ผู้ลี้ภัยกำลังเผชิญคือขาดเอกสารระบุตัวตนที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ นี่เป็นอุปสรรคใหญ่มากที่สุดเนื่องจากการล่มสลายของทั้ง 3 อาณาจักรที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกัน และอุดมการณ์ความเกลียดชังในยุคหลังสงครามทำให้แผนที่ของทวีปยุโรปต้องถูกวาดขึ้นใหม่ ขณะที่ประเทศต้นทางของผู้ลี้ภัยบางกลุ่มไม่มีอยู่อีกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลโซเวียตได้ยกเลิกสัญชาติผู้ที่หนีไปต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ผู้คนหลายล้านคนที่หนีจากบ้านกลายเป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในทันที
ทางออกของนานเซ็น คือ “หนังสือเดินทางนานเซ็น” ซึ่งถูกออกเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1992 โดยทำหน้าที่เป็นเอกสารระบุตัวตนและหนังสือเดินทางที่ทำให้ผู้ลี้ภัยสามารถหางานในประเทศที่สามและประเทศที่ให้ที่พักพิงอื่น ๆ ชาวรัสเซีย และชาวอเมริกัน ราว 450,000 คน ได้รับหนังสือเดินทางนานเซ็น ผู้ที่พอมีกำลังจะถูกขอให้ชำระค่าออกหนังสือเดินทาง 5 ฟรังก์ทองคำต่อเล่ม ทั้งนี้หนังสือเดินทางนานเซ็นเป็นเอกสารระบุตัวตนที่ได้รับการยอมรับในมากกว่า 50 ประเทศ ก่อนจะถูกยกเลิกไปในปี ค.ศ. 1942
การทำงานด้านมนุษยธรรมของนานเซ็น ขยายไปไกลกว่าการมอบช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัย
ดังที่คณะกรรมการผู้พิจารณาการมอบรางวัลโนเบลได้ระบุไว้ นานเซ็น มีส่วนร่วมในกิจกรรมอื่น ๆ อีกมาก เพื่อมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่กำลังต้องการมากที่สุด ซึ่งรวมไปถึงความพยายามร่วมกับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ในการพาเชลยสงครามราว 430,000 คน เดินทางกลับ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากโซเวียต เยอรมนี และชาติที่สูญเสียอำนาจหลังสงคราม เช่น ออสเตรีย ฮังการี และอีกหลายประเทศที่เกี่ยวข้อง ถึงแม้ว่าจะไม่มีงบประมาณในการทำงาน แต่นานเซ็นได้แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นทั้งนักระดมทุน และผู้นำที่มีประสิทธิภาพ
นานเซ็น ยังได้รับมอบหมายให้มอบความช่วยเหลือแก่ชาวรัสเซียหลายล้านคนที่กำลังเผชิญกับความอดอยากในช่วงปี ค.ศ. 1921-22 และทำงานร่วมกับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศอีกครั้ง โดยประสานงานเพื่อจัดหาและลำเลียงความช่วยเหลือด้านอาหารไปยังรัสเซียจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1924 แม้จะเป็นจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้คนที่ได้รับการช่วยเหลือจาก American Relief Administration แต่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้มาก
ในบทบาทของการเป็นข้าหลวงใหญ่ของทั้ง 3 หน่วยงานสำคัญหลังสงครามโลก ที่ทำงานเพื่อผู้ลี้ภัย เพื่อการมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และเพื่อการเดินทางกลับประเทศต้นทางของเชลยสงคราม (High Commissioner for Refugees, High Commissioner for Relief, and High Commissioner for the Repatriation of Prisoners of War) นานเซ็น ยังเดินหน้าเรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ ดำเนินการเพื่อมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามปณิธานที่แน่วแน่ของเขาอย่างต่อเนื่อง “ไม่มีนโยบายทางการเมืองใดในสังคมอารยะที่เป็นนำมาประยุกต์และปฏิบัติได้จริงหากไม่มีพื้นฐานมาจากความรักฉันท์พี่น้อง การตอบแทนซึ่งกันและกัน ความเอื้ออาทร ความเชื่อมั่น…” ครั้งหนึ่งเขาเคยเขียนเอาไว้ว่า “ความรักฉันท์พี่น้องคือการเมืองที่นำมาปฏิบัติได้จริง”
ในความเป็นจริงแล้วอาจพูดได้ว่าเขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพถึง 2 ครั้ง
รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่ได้รับในปี ค.ศ. 1938 ถูกมอบเพื่อเป็นรางวัลให้แด่ องค์การระหว่างประเทศนานเซ็นเพื่อผู้ลี้ภัย ที่ถูกก่อตั้งหลังจากการเสียชีวิตของนานเซ็นในปี ค.ศ. 1930 “สำหรับการสานต่อการทำงานของ ฟริดท์จอฟ นานเซ็น เพื่อประโยชน์ของผู้ลี้ภัยทั่วยุโรป” องค์การได้ดูแล บริหารจัดการค่ายผู้ลี้ภัย ออกหนังสือเดินทางนานเซ็น และช่วยออกวีซ่า หางาน มอบการรักษาพยาบาล และอาหาร
ในปี ค.ศ. 1954 สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ก่อตั้งรางวัลนานเซ็น ตามชื่อของ ฟริดท์จอฟ นานเซ็น
รางวัลนานเซ็นของ UNHCR จะถูกมอบให้กับบุคคลหรือองค์กรที่มีผลงานจากการอุทิศตนทำงานด้วยความมุ่งมั่นเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น หรือบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยผู้ได้รับรางวัลคนแรกคือเอเลนอร์ รูสเวลต์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติคนแรก ผู้ชนะรางวัลคนอื่น ๆ เช่น เอ็ดเวิร์ด เคเนดี วุฒิสมาชิกสหรัฐ ลูเซียโน ปาวารอตติ นักร้องโอเปร่า กราซา มาเชล นักมนุษยธรรม องค์การแพทย์ไร้พรมแดน และประชาชนชาวแคนาดา ที่ผ่านมาแม้จะดูเหมือนว่ารางวัลนี้จะมอบให้กับบุคคลหรือองค์กรที่เป็นที่รู้จัก แต่นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 UNHCR ยังมอบรางวัลให้กับผู้ชนะในระดับภูมิภาคอีกด้วย
หนังสือเดินทางและรางวัลไม่ได้เป็นเพียงสิ่งเดียวที่ตั้งชื่อตามนานเซ็น
ฟริดท์จอฟ นานเซ็น ยังเป็นผู้ที่ทั้งมีความเป็นเลิศและไม่เคยหยุดพัก หากเขาไม่มีความโหยหาในการออกเดินทางไปสำรวจขั้วโลก เขาคือเป็นนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง โดยนานเซ็นเป็นหนึ่งในผู้เสนอทฤษฎีเซลล์ประสาทที่ไขสันหลัง ที่พบว่าระบบประสาทประกอบด้วยหน่วยต่าง ๆ มากกว่าการเป็นระบบเดียวที่เชื่อมต่อกัน และทฤษฎีนี้ถูกตั้งชื่อว่า “ใยนานเซ็น”
หนอนทะเล 2 ชนิด (myzostomes) ที่เขาศึกษา ต่อมาถูกตั้งชื่อว่า M. Giganteum Nansen และ M. Grafi Nansen นอกจากนี้ยังมีขวดน้ำที่ชื่อว่า Nansen-Petterson ถูกใช้โดยนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเพื่อเก็บตัวอย่างน้ำทะเลลึก รวมไปถึงการเดินทางเยือนรัสเซียของนานเซ็น ยังถูกนำมาตั้งเป็นชื่อสถานีรถไฟ Nansenovka ของทางเดินรถไฟทรานส์-ไซบีเรีย และยังมีภูเขานานเซ็นที่แอนตาร์กติกา และอีกหนึ่งแห่งในภูมิภาคอาร์กติก
ยังไม่รวมถึงนวัตกรรมด้านการสำรวจขั้วโลกอีกนับไม่ถ้วนที่นานเซ็นคิดค้นขึ้นเอง หรือเป็นแรงบันดาลใจในการสร้าง เช่น สกี เลื่อน เตา รองเท้าและเสื้อผ้า ถุงนอน อาหาร การออกแบบเรือ…
เป็นผู้ที่มีทั้งความเชื่อมั่นและความกล้าหาญ แต่ยังมีความซับซ้อน
นอกจากการเป็นคนที่น่าดึงดูด สร้างแรงบันดาลใจ มีเสน่ห์ มุ่งมั่น และมีความเป็นเลิศแล้ว นานเซ็นยังมีมุมที่จริงจัง ครุ่นคิด อยู่กับตัวเอง และเชื่อมั่นอยู่ตลอดในสิ่งที่เขามั่นใจ ผู้เขียนชีวประวัติของนานเซ็นบรรยายถึงชายผู้เปลี่ยนจากแสงสว่างเป็นเงาและกลับมาเป็นแสงสว่างอีกครั้งว่า นอกจากจะเป็นคนที่มีเสน่ห์และน่าดึงดูดอย่างไม่อาจต้านทานได้ นานเซ็น ยังเป็นคนที่มีคุณธรรมสูงส่งอีกด้วย เมื่อคนต่างตระหนักถึงความสามารถอันมากมายของเขา นานเซ็นจึงมักจะกังวลว่าสิ่งที่เขาทำยังไม่เพียงพอ และยังถูกดึงไปในทิศทางต่าง ๆ มากเกินไปเพื่อสร้างคุณูปการอันยิ่งใหญ่อย่างแท้จริงในด้านนั้น ๆ
แต่อย่างไรก็ตาม เขาได้รับความไว้วางใจและเป็นที่เคารพนับถือในฐานะผู้มีหลักการ และความพยายามในการมอบความช่วยเหลือแก่ผู้ที่กำลังต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด นอกจากนี้นานเซ็นยังเป็นผู้มีอุดมการณ์ในการหาแนวทางเพื่อจัดการกับผลพวงของสงครามโลกครั้งที่ 1 ดังที่ Thorvald Stoltenberg นักการเมืองชาวนอร์เวย์และอดีตข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวไว้ว่า: “ด้วยอุดมคติ ความเข้มแข็ง ความเป็นมนุษย์ และวิสัยทัศน์ นานเซ็น มุ่งมั่นตามความเชื่อมั่นอันแน่วแน่ของเขาว่ามนุษยชาติจะต้องรอดพ้นจากความหายนะและความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า”
Share on Facebook Share on Twitter