UNHCR กำลังสนับสนุนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในแคว้นโซมาเลียของเอธิโอเปีย เพื่อมอบความช่วยเหลือฉุกเฉินให้กับผู้คนจำนวนมากที่ถูกบังคับให้ออกจากบ้านเพื่อหาน้ำสะอาดในวิกฤตภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี
เด็กชายคนหนึ่งกำลังตักน้ำให้กับสัตว์เลี้ยงของครอบครัวในค่ายพักพิงชั่วคราวมารา-กาโจ ในแคว้นโซมาเลียของเอธิโอเปีย © UNHCR/Eugene Sibomana
“เราไม่เคยพบเจอกับความแห้งแล้งขนาดนี้มาก่อน มันส่งผลกระทบต่อทุกชีวิต เราเรียกมันว่า ‘the unseen’” อาร์โด กล่าว
อาร์โด เดินเท้าราว 260 กิโลเมตรจากหมู่บ้านของเธอลึกเข้าไปทางตะวันออกของภูมิภาคโซมาเลียในเอธิโอเปีย ไปpy’เมืองเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า Kebribeyah ซึ่งอยู่ห่างออกไป 53 กิโลเมตร จากเมืองหลวงของแคว้นจิจิกา เธอบอกว่าออกเดินทางมาพร้อมกับคนในหมู่บ้าน
“ฉันไม่อาจนับจำนวนของผู้ที่ต้องพลัดถิ่นเหมือนเราได้เลย” เธอกล่าว “เกือบทุกคนในหมู่บ้านต้องหนีออกมา”
อาร์โด เป็นหนึ่งในผู้คนจำนวนมากที่พักพิงอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวมารา-กาโจ ที่เริ่มออกเดินทางบนเส้นทางที่ยาวนาน เหน็ดเหนื่อย และเต็มไปด้วยภัยอันตราย เพื่อหาน้ำสะอาด และหญ้าสำหรับสัตว์เลี้ยงของเธอ
“มันเป็นการเดินทางที่ยาวนานมาก […] วัวของเราทรมานมาก” เธอเสริม “ไม่มีใครอยากซื้อสัตว์เลี้ยงของเราเพราะพวกมันอ่อนแอมาก” เธอเล่า
อับดุลลาฮี เกดิ คนเลี้ยงสัตว์ อายุ 55 ปี เป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องพลัดถิ่นอยู่ในเมืองมารา-กาโจ เขาต้อนวัว แพะ และแกะ ออกจากหมู่บ้านจากทางตะวันออกของแคว้นโซมาเลีย แต่อย่างไรก็ตามสภาพพื้นที่ตลอดเส้นทางแห้งแล้งเกินไปสำหรับสัตว์เลี้ยงของเขา โดยสัตว์เลี้ยงที่รอดชีวิตไปถึงค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ บาบาคาดา เอล-บาเฮย์ ในแคว้นจิจิกาที่เขาพักพิงอยู่ตอนนี้ มีน้อยกว่าครึ่งของสัตว์เลี้ยงทั้งหมด
“นอกจาก 3 ตัวนี้แล้ว วัวที่เหลือของผมตายทั้งหมด เขาเล่าพร้อมชี้ไปที่สัตว์เลี้ยงที่ผอมแห้งข้าง ๆ เขา” “ผมเคยมีแพะและแกะรวม 445 ตัว แต่ตอนนี้ผมมีสัตว์เลี้ยงเหลืออยู่เพียง 190 ตัว เพราะที่เหลือตายหมด” เขาเสริม
เอธิโอเปียกำลังประสบภัยแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์ลานีญาที่รุนแรงที่สุดในช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมา หลังจากฝนในฤดูฝนไม่ตกตามฤดูกาลติดต่อกันนานสี่ฤดู นับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2563 ภัยแล้งเกิดขึ้นท่ามกลางความซับซ้อนของความขัดแย้งในแคว้นโซมาเลียในเอธิโอเปีย ซึ่งเป็นพื้นที่พักพิงของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศนับล้านคน รวมไปถึงผู้ลี้ภัย 246,000 คน ผู้ที่ถูกบังคับให้หนีจากความขัดแย้งจากประเทศโซมาเลีย ที่พักพิงอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย 8 แห่ง โดยมีผู้ที่เดินทางมาถึงใหม่ราว 16,000 คน ภัยแล้งยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่นๆ ในภูมิภาค เช่น ชาวอาฟาร์ โอโรเมีย รวมถึงชาติทางใต้ เชื้อชาติ และภาคประชาชน หรือ Southern Nations, Nationalities, and Peoples (SNNP).
ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2564 สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น สำนักงานจัดการภัยพิบัติในภูมิภาค และพันธมิตร เพื่อมอบน้ำสะอาด ที่พักพิง เสื้อผ้าที่สร้างความอบอุ่น และของใช้ในครัวเรือน ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 7,200 ครอบครัว ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ และในชุมชนที่ให้ที่พักพิง
แต่อย่างไรก็ตาม ขณะที่ภัยแล้งทวีความรุนแรงขึ้น ความต้องการความช่วยเหลือของประชาชนเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน
“ปัญหาเร่งด่วนที่สุดคือความขาดแคลนน้ำ รวมไปถึงการบริหารจัดการน้ำ” อับดุลลาฮี ชีค แบร์รี เจ้าหน้าที่ภาคสนามของ UNHCR ในจิจิกากล่าว “ความช่วยเหลือที่เราได้มอบให้ยังต่ำกว่าความต้องการที่เพียงพอต่อการดำรงชีพของผู้ที่ได้รับผลกระทบ UNHCR ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและพันธมิตรเพื่อให้แน่ใจว่าผู้พลัดถิ่นมีน้ำ ที่พักพิง สิ่งของบรรเทาทุกข์ และสนับสนุนการเดินทางแก่ผู้ที่เลือกเดินทางกลับบ้านพร้อมกับสัตว์เลี้ยง”
อับดุลลาฮี เกดิ ถูกบังคับให้ต้องออกจากหมู่บ้าน เดินทางบนเส้นทางที่ยาวนาน และเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน พร้อมกับน้ำและอาหารเพียงน้อยนิด ต้องห่างจากภรรยา และลูกๆ ทั้ง 7 คน เขาไม่ได้ข่าวคราวเกี่ยวกับครอบครัวมานาน 100 วันแล้ว นับตั้งแต่เดินทางมาถึงค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศมารา-กาโจ
“ผมไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาและคนอื่นๆ ที่ยังอยู่ในหมู่บ้าน ทั้งเด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ และคนที่เปราะบาง”
แม้การเดินทางของอับดุลลาฮี จะเต็มไปด้วยอันตราย แต่เขาได้รับการต้อนรับด้วยความเมตตาจากชุมชนที่ให้ที่พักพิง ไม่ต่างจากผู้พลัดถิ่นคนอื่นๆ ที่พักพิงอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นชั่วคราวหลายแห่งในแคว้นโซมาเลีย ถึงแม้ว่าคนในชุมชนก็กำลังรับมือกับผลกระทบจากภัยแล้งด้วยความยากลำบากเช่นกัน ชาวไร่ที่ให้ความช่วยเหลือคนเลี้ยงสัตว์ผู้พลัดถิ่นแบ่งหญ้าที่มีอยู่อย่างจำกัดของพวกเขาให้กับผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเพื่อดูแลสัตว์เลี้ยงของพวกเขา
ในเอธิโอเปีย UNHCR และพันธมิตรด้านมนุษยธรรมกำลังยกระดับการให้ความช่วยเหลือเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความพยายามร่วมกันผ่าน UN Resilience Framework เพื่อสนับสนุนเอธิโอปีย ในการสร้างความยืดหยุ่นและปรับตัวในภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะภัยแล้งและน้ำท่วม
ในแคว้นโซมาเลีย พันธมิตรด้านมนุษยธรรมกำลังให้ความช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นมากกว่า 2.4 ล้านคน โดยการมอบอาหาร และน้ำสะอาดให้มากกว่า 859,000 คน ที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ แต่อย่างไรก็ตามปริมาณความต้องการในปัจจุบันมีจำนวนมากกว่าทรัพยากรที่มีอยู่
UNHCR ต้องการงบประมาณ 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 783 ล้านบาท เพื่อมอบความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ และชุมชนที่ให้ที่พักพิง ราว 1 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบในเอธิโอเปีย ซึ่งงบประมาณจำนวนนี้เป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณ 42.6 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,500 ล้านบาท ที่ UNHCR ต้องการเพื่อการตอบสนองในวิกฤตภัยแล้งรวมถึงในโซมาเลีย และเคนยา
Share on Facebook Share on Twitter