ปัจจุบันจำนวนผู้คนที่ถูกบังคับให้หนีจากความขัดแย้ง ความรุนแรง การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และการประหัตประหารทั่วโลก พุ่งสูงกว่า 100 ล้านคน ซึ่งเป็นสถิติที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ สืบเนื่องมาจากสงครามในยูเครน คลื่นความรุนแรงครั้งใหม่ และความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในประเทศต่าง ๆ อาทิ เอธิโอเปีย, บูร์กินา ฟาโซ, เมียนมา, ไนจีเรีย, อัฟกานิสถาน และ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
“สถิติ 100 ล้านนี้เป็นตัวเลขที่น่าตกใจและไม่สามารถยอมรับได้ เราทุกคนล้วนมีส่วนรับผิดชอบในการมอบความคุ้มครองแก่ผู้ที่แสวงหาความปลอดภัยนอกประเทศของตน และแก้ไขสาเหตุทั้งหมดที่ทำให้เกิดการถูกบังคับให้พลัดถิ่น อีกทั้งต้องมอบโอกาสให้พวกเขาได้สร้างชีวิตใหม่อย่างถาวรและมีศักดิ์ศรี” คุณจูเซ็ปเป้ เด วินเซ็นทีส ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวในงานเปิดกิจกรรมวันผู้ลี้ภัยโลก พ.ศ. 2565
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ทำงานด้านมนุษยธรรมอย่างใกล้ชิดกับทุกภาคส่วนตลอด 72 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนได้รับสิทธิในการแสวงหาความปลอดภัยและได้รับความคุ้มครองตามหลักมนุษยธรรม
เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 20 มิถุนายน UNHCR ประจำประเทศไทย ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย, สถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย, สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์ก ประจำประเทศไทย, พารากอน ซีนีเพล็กซ์, ด็อกคิวเมนทารี่ คลับ, ทีวีบูรพา และแปลน ทอยส์ เชิญชวนทุกท่านร่วมแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับทุกภาคส่วน เพื่อระลึกถึงความเข้มแข็งและกล้าหาญของพวกเขา ผ่านงาน “เทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัย ครั้งที่ 11” ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ลี้ภัยผ่านภาพยนตร์และสารคดีชื่อดังหลากหลายสาขารางวัลที่คัดสรรมาให้ผู้เข้าร่วมงานได้ชมกันอย่างเต็มอรรถรสอีกครั้งในโรงภาพยนตร์
“ในโลกที่เต็มไปด้วยวิกฤติและความซับซ้อนของปัญหา ภาพยนตร์อาจจะไม่สามารถให้คำตอบได้ทุกอย่าง แต่ภาพยนตร์เป็นสื่อที่สามารถสร้างความเห็นอกเห็นใจ และสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์ระหว่างผู้ชมกับตัวละคร ทำให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับคน คนหนึ่งในพื้นที่หนึ่ง เดินทางไปสู่การรับรู้ของคนในพื้นที่อื่น วิกฤตผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องสำคัญของโลก เราได้รับรู้ข่าวสารและเห็นภาพความยากลำบากของผู้ลี้ภัยในหลายพื้นที่ ภาพยนตร์ที่ดีสามารถสร้างมิติทางความคิดและภาวะทางอารมณ์ในระดับปัจเจก เพิ่มเติมจากข่าวสารที่บางครั้งดูไกลตัวและเป็นเพียงประเด็นนามธรรม” คุณก้อง ฤทธิ์ดี รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) กล่าวถึงบทบาทของภาพยนตร์ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับวิกฤตผู้ลี้ภัยโลก
“ภาคเอกชนมีส่วนสำคัญมากในการสื่อสาร เป็นกระบอกเสียงเกี่ยวกับการทำงานเพื่อผู้ลี้ภัย สนับสนุนการระดมทุน และส่งเสริมการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ในฐานะสื่อเราสามารถช่วยงานด้านมนุษยธรรมระดับโลกผ่านการนำเสนอข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และส่งเสริมการบอกต่อในช่องทางต่าง ๆ เพื่อช่วยแปรเปลี่ยนสารเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้ลี้ภัยได้ในที่สุด” คุณกฤษณพล พงศ์ธนาวรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด กล่าวถึงความร่วมมือกับ UNHCR
งาน “เทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัย ครั้งที่ 11 เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก” จะจัดขึ้นในวันที่ 17 – 20 มิถุนายน ณ โรงภาพยนตร์ที่ 11 พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ด้วยการลงทะเบียนล่วงหน้า โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมีภาพยนตร์และสารคดี 5 เรื่อง ได้แก่
ลงทะเบียนชมภาพยนตร์ก่อนใครได้ตั้งแต่วันนี้ที่ https://linktr.ee/rff11th พร้อมกิจกรรมพิเศษอีกมากมาย เช่น การจัดแสดงที่พักพิงผู้ลี้ภัยแบบใหม่ (Refugee Housing Unit) และเวิร์กชอประบายสีของเล่นไม้เพื่อเด็กผู้ลี้ภัยในประเทศไทย บริเวณชั้น 5 หน้าทางเข้าโรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
ในปีนี้ UNHCR ขอเชิญทุกท่านร่วมยืนหยัดเคียงข้างผู้ลี้ภัยทั่วโลกด้วยการติดริบบิ้นหรือถ่ายภาพพร้อมกรอบ #WithRefugees ลงโซเชียลมีเดีย เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ยืนหยัดเคียงข้างผู้ลี้ภัยในทุกวิกฤตที่เกิดขึ้น ติดตามรายละเอียดกิจกรรมทั้งหมดเนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก พ.ศ. 2565 ได้ที่เว็บไซต์ www.unhcr.org/th/world-refugee-day
#UNHCRThailand #WithRefugees #WorldRefugeeDay #วันผู้ลี้ภัยโลก
– จบ –
Share on Facebook Share on Twitter