การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับผู้ลี้ภัยในประเทศไทยยังคงดำเนินต่อไป ขอบคุณความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ พันธมิตรและผู้ลี้ภัยเองด้วย
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวถ้ำหิน จังหวัดราชบุรี ประเทศไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 © UNHCR/Morgane Roussel-Hemery
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กำลังดำเนินการในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา หมอ พยาบาล และอาสาสมัครผู้ลี้ภัยต่างช่วยกันให้ความรู้ผู้หนีภัยจากการสู้รบเกี่ยวกับขั้นตอนการฉีดวัคซีนและให้คำปรึกษาเพื่อคลายความกังวล
การฉีดวัคซีนให้กับผู้ลี้ภัยในประเทศไทยยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งต้องขอบคุณความร่วมมือจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขในประเทศไทยและพันธมิตรหลัก รวมถึงสภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คณะกรรมการกู้ภัยนานาชาติ และมัลทีเซอร์ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทยเป็นที่พักพิงของผู้หนีภัยจากการสู้รบมากกว่า 90,000 คน บริเวณชายแดนของประเทศ นอกจากนี้ยังมีผู้ลี้ภัยอีกกว่า 4,500 คนและผู้ขอลี้ภัย 700 คนในเขตเมือง
วันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สภากาชาดไทยได้ดำเนินการฉีดวัคซีนเข็มที่สองให้ผู้หนีภัยจากการสู้รบมากกว่าหนึ่งพันคนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกไปเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมในพื้นที่พักพิงชั่วคราวถ้ำหิน
“ฉันหวังว่าการฉีดวัคซีนจะช่วยให้ทุกคนในนี้สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง”
ฮซาร์ บลึ ผู้หนีภัยจากการสู้รบที่พักพิงในพื้นที่พักพิงชั่วคราวถ้ำหิน จังหวัดราชบุรี ดีใจที่ได้รับวัคซีนจากโครงการนี้ และเธอรู้สึกว่ามาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ต่างๆ นั้นมีความท้าทาย
“ในค่ายเองมีการปิดกั้นพื้นที่ ทุกคนต้องอยู่ในบ้าน เราไปไหนไม่ได้เลย” เธออธิบาย
แม้ว่าบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ ยังคงมีอยู่ แต่การปิดพื้นที่เป็นระยะ ๆ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทำให้องค์กรด้านมนุษยธรรมส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงผู้หนีภัยจากการสู้รบชาวเมียนมาในพื้นที่พักพิงชั่วคราวทั้ง 9 แห่งตามแนวชายแดนได้ตลอดเวลา
“ฉันหวังว่าการฉีดวัคซีนจะทำให้ผู้ลี้ภัยสามารถกลับมาใช้ชีวิตในค่ายได้อย่างปกติอีกครั้งและการปิดพื้นที่ที่ทำให้คุณภาพชีวิตของเราแย่ลงจะถูกยกเลิกไป” ฮซาร์ บลึ เสริม “การได้รับวัคซีนหมายความว่าฉันจะสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระในเร็ววันเพื่อไปเยี่ยมเพื่อน ๆ และลูก ๆ ของฉันจะสามารถกลับไปเรียนได้อีกครั้ง ซึ่งฉันหวังว่าโรงเรียนจะกลับมาเปิดเร็ว ๆ นี้”
การฉีดวัคซีนเป็นไปตามความสมัครใจ ผู้ลี้ภัยที่ได้รับวัคซีนเลือกเข้ารับบริการด้วยตนเอง UNHCR และพันธมิตรได้ให้คำปรึกษากับผู้ลี้ภัยรายบุคคลเพื่อคลายข้อสงสัยและความกังวล นอกจากการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ หมอและพยาบาลยังสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลี้ภัยที่ยังมีความกังวลใจเกี่ยวกับการรับวัคซีนด้วย
ซายา พยาบาลจากคณะกรรมการกู้ภัยนานาชาติ สังเกตุเห็นได้ว่าลาร์ เออร์ กังวลมากแค่ไหนตอนที่เธอลงชื่อเพื่อรับวัคซีน ซายา จึงใช้เวลาเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับความกังวลใจของเธอ
“ฉันเล่าเรื่องการรับวัคซีนป้องกันโควิด ของตัวเองให้ ลาร์ เออร์ ฟัง ตัวฉันเองไม่มีอาการข้างเคียงใด ๆ หลังจากได้รับวัคซีนไปสองเข็มแล้ว จนถึงเข็มที่สาม ที่ฉันมีไข้ขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” เธอเล่า “บางครั้งผู้ลี้ภัยในค่ายได้รับข้อมูลที่ไม่เพียงพอ ทำให้พวกเขาอาจมีความกังวลใจมากเป็นพิเศษ ฉันพยายามอธิบายประโยชน์ของการรับวัคซีน และเน้นย้ำว่าคุณยังมีโอกาสติดเชื้อได้แม้ว่าจะได้รับวัคซีนแล้ว แต่อาการและความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนจะน้อยลง”
“งานของเราคือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไข้”
นายแพทย์สารดิษฐ์ ศรีสวัสดิ์ จากสภากาชาดไทยได้เห็นข้อมูลที่ถูกบิดเบือนไป เมื่อต้นปี เขาเข้าร่วมโครงการฉีดวัคซีน ซึ่งมีผู้เสียชีวิตหนึ่งรายจากโรคหลอดเลือดสมองไม่นานหลังจากได้รับวัคซีน แม้ว่าการเสียชีวิตจะเกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่มีข่าวลือแพร่กระจายว่าวัคซีนอาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต
“งานของเราคือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไข้ ผมเน้นย้ำกับคนไข้ของผมเสมอว่าหากพวกเขามีอาการข้างเคียงรุนแรงใดๆ ให้พบแพทย์ทันที สถานการณ์ปัจจุบันยังคงน่าเป็นห่วง แต่อย่างน้อยผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วจะปลอดภัยกว่า หากมีการเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของการฉีดวัคซีน แน่นอนว่าข้อดีนั้นมีมากกว่าอยู่แล้ว”
ทีมบริหารของพื้นที่พักพิงชั่วคราวทำงานในเชิงรุกเพื่อสนับสนุนโครงการการฉีดวัคซีน ซอว์ โช เล ผู้นำในพื้นที่พักพิงชั่วคราวถ้ำหิน สร้างความตระหนักรู้กับผู้หนีภัยจากการสู้รบในพื้นที่ด้วยการเข้าเยี่ยมบ้านพร้อมทีมงานเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน
UNHCR และพันธมิตรต่างๆ คอยส่งข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกัน การรับมือ และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับผู้หนีภัยจากการสู้รบ รวมถึงผู้ที่มีความต้องการเฉพาะ ในภาษากะเหรี่ยงและเมียนมาอยู่เสมอ ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวทุกแห่ง ความร่วมมือจากคนในชุมชนทำให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลผ่านการพูดคุยแบบกลุ่มย่อย โปสเตอร์ ใบปลิว การประกาศผ่านเสียงตามสาย และวีดีโอ นอกจากนี้ องค์กรเดอะบอร์เดอร์ คอนซอร์เตี้ยม ร่วมกับสำนักข่าว Karen Information Center ได้จัดทำและฉายวีดีโอข้อมูลเกี่ยวกับการรับวัคซีนของชุมชนผู้หนีภัยจากการสู้รบด้วย
สไมล์ เลย์ อาสาสมัครผู้ลี้ภัย หวังว่าจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติอีกครั้งเมื่อคนในพื้นที่พักพิงได้รับการฉีดวัคซีน
“ฉันหวังว่าเราสามารถพบปะกันทั้งชุมชนได้อีกครั้ง เด็ก ๆ จะสามารถออกมาเล่นกีฬาด้วยกันได้อีก” เธอกล่าว “ฉันอยากกลับเข้าโบสถ์ ฉันเป็นนักร้องในคณะประสานเสียงที่นั้น ฉันรอกลับไปร้องเพลงอีกครั้งไม่ไหวแล้ว”
ตอนนี้สไมล์กำลังทำงานเพื่อช่วยให้ชุมชนของเธอปลอดภัยจากไวรัสโคโรนา โดยรับหน้าที่สังเกตุอาการผู้รับวัคซีนหลังการฉีด 15 นาที เพื่อแบ่งเบาให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์สามารถไปดูแลผู้ที่อาจมีอาการแพ้รุนแรงขึ้นมาได้อย่างทันท่วงที
เมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ร้อยละ 59 ของประชากรในประเทศไทยได้รับวัคซีนแล้ว นอกจากโครงการการฉีดวัคซีนในพื้นที่พักพิงชั่วคราว UNHCR มีความยินดีที่ประเทศไทยได้พยายามจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับทุกคนในประเทศ รวมถึงผู้ลี้ภัย และผู้ขอลี้ภัยในเขตเมืองด้วย
Share on Facebook Share on Twitter