จอร์แดนเป็นประเทศด่านหน้าของความพยายามระดับโลกให้ผู้ลี้ภัยและชุมชนที่ให้ที่พักพิงเข้าถึงโอกาสในการทำงาน
กรุงเจนีวา – สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ยินดีกับความก้าวหน้าครั้งสำคัญในประเทศจอร์แดนที่ประสบความสำเร็จในการรวมผู้ลี้ภัยชาวซีเรียอยู่ในตลาดแรงงานของประเทศ ในปี พ.ศ. 2564 ตัวเลขที่ได้รับการเผยแพร่จากรัฐบาลและ UNHCR ระบุว่ามีการออกใบอนุญาตทำงานให้ชาวซีเรียจำนวน 62,000 ฉบับ ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์
ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียได้รับอนุญาตให้ทำงานในหลายภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจในประเทศจอร์แดนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 หลังจากประชาคมโลกให้คำมั่นในการสนับสนุนงบประมาณและขยายโอกาสทางการค้าภายใต้ข้อตกลงจอร์แดน (Jordan Compact) เพื่อพัฒนาการเข้าถึงการศึกษาและการจ้างงานตามกฎหมายของชาวซีเรียที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นจากบ้าน
“ผู้ลี้ภัยสามารถมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจของจอร์แดนได้ และพวกเขาควรมีส่วนร่วม” โดมินิก บารท์ช ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศจอร์แดนกล่าว “การอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยทำงานยังช่วยลดความต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เช่น ความช่วยเหลือด้านการเงินซึ่งสามารถนำเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือผู้ที่เปราะบางที่สุดได้”
ประเทศจอร์แดนเป็นที่พักพิงของผู้ลี้ภัย 760,000 คน และผู้ขอลี้ภัยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับ UNHCR ในจำนวนนี้ ราว 670,000 คน มาจากประเทศซีเรีย ทำให้ประเทศจอร์แดนกลายเป็นประเทศที่ให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียมากที่สุดเป็นลำดับที่ 2 เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร รองจากประเทศเลบานอน ใบอนุญาตทำงานจำนวน 62,000 ฉบับรวมถึงใบอนุญาตทำงานแบบยืดหยุ่นจำนวน 31,000 ฉบับ ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพื่ออนุญาตให้ผู้ลี้ภัยสามารถโยกย้ายไปทำงานที่ใกล้เคียงภายในภาคธุรกิจ กลุ่มนายจ้าง หรือเขตราชการเดียวกัน UNHCR จอร์แดนทำงานร่วมกับสมาพันธ์สหภาพการค้าจอร์แดนอย่างใกล้ชิดเพื่อแจ้งข่าวสารแก่ชาวซีเรียเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ
ความคิดริเริ่มนี้ทำให้จอร์แดนเป็นประเทศแนวหน้าของความพยายามระดับโลกในการมอบโอกาสในการเข้าถึงการจ้างงานที่เหมาะสมแก่ทั้งผู้ลี้ภัยและชุมชนที่ให้ที่พักพิงซึ่งได้รับการสนับสนุนจากข้อตกลงโลกว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย (Global Compact on Refugees หรือ GRC) รายงานล่าสุดของ UNHCR เกี่ยวกับความคืบหน้าของตัวชี้วัดภายใต้ GCR แสดงให้เห็นว่าผู้ลี้ภัยจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงงานที่เหมาะสม ทั่วโลกมีผู้ลี้ภัยเพียงร้อยละ 38 ที่พักพิงอยู่ในประเทศที่สามารถการเข้าถึงการจ้างงานอย่างเป็นทางการ รวมถึงการประกอบอาชีพอิสระโดยไม่มีข้อจำกัด
“แม้แต่ในประเทศที่มีกฎหมายอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยทำงาน แต่การหางานยังเป็นเรื่องที่ยากมาก โดยเฉพาะเมื่อประเทศที่ให้ที่พักพิงมีอัตราการว่างงานสูง” อัยมัน กาห์รายบาห์ ผู้อำนวยการ UNHCR สำนักงานภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือกล่าว “ผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศที่ให้ที่พักพิงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำหรับผู้ลี้ภัยที่กำลังพยายามเข้าถึงตลาดแรงงาน การเพิ่มการสนับสนุนแก่ประเทศที่ให้ที่พักพิงจึงสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และยังช่วยให้ผู้ลี้ภัยทำงานได้ง่ายขึ้น”
“เมื่อได้รับโอกาส” เขาเสริม “ทำให้ผู้ลี้ภัยสามารถนำนวัตกรรม ความเชื่อมั่น เครือข่ายในระดับภูมิภาค รวมถึงความรู้ทางเทคนิคมาสู่สถานที่ทำงาน และมีส่วนสำคัญในการสร้างประโยชน์ให้ชุมชน”
ก่อนหน้านี้ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในประเทศจอร์แดนเกือบทั้งหมดได้รับอนุญาตให้ทำงานในภาคเกษตรกรรม การก่อสร้าง และการผลิตเท่านั้น ปีที่ผ่านมาบางส่วนได้รับการยกเว้นให้ทำงานในภาคธุรกิจอื่น ๆ รวมไปถึงบุคลากรที่เชี่ยวชาญทางการแพทย์เพื่อช่วยต่อสู้ในวิกฤต COVID-19 และนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2564 ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียได้รับอนุญาตให้สามารถทำงานในทุกภาคธุรกิจที่เปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานได้ นั่นหมายความว่าพวกเขาสามารถทำงานด้านการบริการ การขาย และงานฝีมือ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรม ป่าไม้ และการประมง การเพาะปลูก พนักงานควบคุมเครื่องจักร และในอุตสาหกรรมพื้นฐาน
ขณะที่จอร์แดนกำลังฟื้นฟูจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ UNHCR มุ่งมั่นทำงานร่วมกับพันธมิตรและเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อเพิ่มโอกาสในการจ้างงานแก่ผู้ลี้ภัยรวมถึงชาวจอร์แดน “ด้วยความพยายามในการสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจจาก COVID-19 เป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นผู้ลี้ภัยสามารถร่วมสร้างประโยชน์ได้มากขึ้นกว่าครั้งไหนที่ผ่านมา” บารท์ช เสริม
แต่อย่างไรก็ความท้าทายที่สำคัญยังคงอยู่ ด้วยอัตราการว่างงานร้อยละ 28 ในประเทศจอร์แดน ผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่ได้รับใบอนุญาตทำงานยังเผชิญกับความยากลำบากในการหางานและเพื่อดูแลครอบครัว และมีเพียงผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในประเทศจอร์แดนที่ได้รับอนุญาตให้สามารถทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย ขณะที่ผู้ลี้ภัยที่เดินทางมาจากประเทศอื่น ๆ เช่น อิรัก เยเมน ซูดานและโซมาเลีย ยังไม่สามารถสมัครรับใบอนุญาตได้ UNHCR จอร์แดนกำลังสนับสนุนให้ผู้ลี้ภัยที่ไม่ใช่ชาวซีเรียได้รับโอกาสในการทำงานด้วย
Share on Facebook Share on Twitter