วันนี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้แสดงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในการใช้มาตรการพัฒนาความเป็นอยู่และความปลอดภัยของผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาที่เดินทางหนีภัยเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
จากแหล่งข้อมูลอย่างเป็นทางการ ประชากรมากกว่า 9,500 คนถูกบังคับให้หนีออกจากบ้านเกิดในรัฐกะเหรี่ยงและรัฐกะยาทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเมียนมา เพื่อแสวงหาที่พักพิงและความคุ้มครองในจังหวัดตากและแม่ฮ่องสอนของประเทศไทย ในขณะที่ผู้หนีภัยความไม่สงบส่วนมากได้เดินทางกลับไปยังเมียนมา UNHCR มีความเข้าใจจากข้อมูลที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย ว่ามีจำนวนผู้หนีภัยความไม่สงบอีกประมาณ 1,000 คนยังคงพักพิงอยู่ในอำเภอแม่สอด โดยส่วนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่แม่โกนเกน
ถึงแม้ตระหนักว่าความช่วยเหลือตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มาจากรัฐบาลไทยโดยการสนับสนุนจากชุมชนท้องถิ่น แต่อาจยังไม่ยั่งยืนหรือเพียงพอสำหรับบุคคลที่มีความเปราะบางและมีความต้องการเฉพาะด้านทางสาธารณสุข
สถานการณ์ในเมียนมายังคงไม่สามารถคาดเดาได้และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ด้วยความต้องการด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนของผู้หนีภัยความไม่สงบและการต่อสู่ที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องในฝั่งชายแดนเมียนมา UNHCR ขอให้ให้รัฐบาลไทยพิจารณาเคลื่อนย้ายกลุ่มผู้หนีภัยความไม่สงบที่พักพิงอยู่ใน ‘พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว’ ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ไปยังสถานที่ที่พวกเขาสามารถพำนักอาศัยชั่วคราวได้ปลอดภัยมากขึ้น และสามารถพักพิงได้อย่างมีศักดิ์ศรี พร้อมรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ดีขึ้น
UNHCR เน้นย้ำถึงความพร้อมในการสนับสนุนหน่วยงานของรัฐบาลไทย เพื่อรับมือความต้องการด้านมนุษยธรรมของผู้ที่เดินทางหนีความไม่สงบเข้ามาใหม่ และด้วยเหตุผลดังกล่าว UNHCR และหน่วยงานพันธมิตรด้านมนุษยธรรมยังคงขอการพิจารณาให้สามารถเข้าถึงกลุ่มประชากรผู้หนีภัยความไม่สงบได้
UNHCR เน้นย้ำว่าข้อพิจารณานี้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ในเรื่องการให้บุคคลทุกคนที่ต้องการความคุ้มครองระหว่างประเทศและถูกบังคับให้หนีจากความขัดแย้ง สถานการณ์ความรุนแรงทั่วไป หรือการประหัตประหาร ได้รับอนุญาตให้ข้ามชายแดนเพื่อแสวงหาความปลอดภัยได้ และพวกเขาต้องไม่ถูกผลักดันกลับไปยังที่ที่อาจมีอันตรายต่อชีวิตและอิสรภาพของพวกเขา
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
UNHCR สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กรุงเทพฯ
กษิตา โรจนกร [email protected] +66 64 932 0803
Share on Facebook Share on Twitter