แนวโน้มการถูกบังคับให้พลัดถิ่นยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องใน พ.ศ. 2564 ด้วยจำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลกที่ตอนนี้มีมากกว่า 84 ล้านคน เนื่องจากผู้คนยังต้องหลบหนีจากความรุนแรง ความไม่ปลอดภัย และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น ตามรายงานแนวโน้มกลางปีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)
รายงานจากเดือนมกราคม – มิถุนายน พ.ศ. 2564 แสดงให้เห็นจำนวนผู้พลัดถิ่นที่เพิ่มขึ้นจาก 82.4 ล้านคนเมื่อปลาย พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นผลมาจากการพลัดถิ่นภายในประเทศเป็นจำนวนมากที่ผู้คนต้องหลบหนีจากความขัดแย้งที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่หลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคแอฟริกา รายงานยังระบุอีกว่าการควบคุมชายแดนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้จำกัดการเข้าถึงการขอลี้ภัยในหลายพื้นที่
“ประชาคมโลกกำลังล้มเหลวในการป้องกันความรุนแรง การประหัตประหาร และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังคงผลักดันให้ผู้คนต้องหนีออกจากบ้านของตน” นายฟิลลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าว “มากไปกว่านั้น ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้พื้นที่ที่มอบการพักพิงหลายแห่งแก่ผู้พลัดถิ่นนั้นเปราะบางยิ่งขึ้น”
ผู้คนเกือบ 51 ล้านคนกำลังพลัดถิ่นภายในประเทศของตนเอง ขณะที่ความขัดแย้งและความรุนแรงพุ่งสูงขึ้นทั่วโลกในช่วงครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2564 การพลัดถิ่นภายในประเทศครั้งใหม่เกิดขึ้นในภูมิภาคแอฟริกาเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (1.3 ล้านคน) และในประเทศเอธิโอเปีย (1.2 ล้านคน) และความรุนแรงในประเทศเมียนมาและอัฟกานิสถานที่บังคับให้ผู้คนต้องหนีออกจากบ้านของตนระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน พ.ศ. 2564
จำนวนผู้ลี้ภัยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2564 เกือบถึง 21 ล้านคน โดยผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่นี้ส่วนมากมาจาก 5 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐแอฟริกากลาง (71,800 คน) ซูดานใต้ (61,700 คน) ซีเรีย (38,800 คน) อัฟกานิสถาน (25,200 คน) และไนจีเรีย (20,300 คน)
ส่วนผสมที่อันตรายระหว่าง ความขัดแย้ง การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ความยากจน ความไม่มั่นคงทางอาหาร และความฉุกเฉินทางสภาพภูมิอากาศ รวมกันก่อให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมของผู้พลัดถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่พักพิงอยู่ในภูมิภาคที่กำลังพัฒนา
ทางออกสำหรับประชากรผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นยังคงมีจำกัด ในช่วงครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2564 มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศไม่ถึง 1 ล้านคน และผู้ลี้ภัยเพียง 126,700 คนที่สามารถเดินทางกลับบ้านได้โดยสมัครใจ
“ประชาคมโลกต้องเพิ่มความพยายามอีกเท่าตัวในการสร้างสันติภาพ และในเวลาเดียวกันต้องมีการจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอสำหรับกลุ่มผู้พลัดถิ่นและชุมชนที่มอบที่พักพิง เพราะชุมชนและประเทศที่มีทรัพยากรน้อยที่สุดยังคงแบกรับความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ในการปกป้องและดูแลผู้พลัดถิ่น และพวกเขาต้องได้รับการสนับสนุนที่มากขึ้นจากประชาคมโลกอื่นๆ” นายกรันดี เสริม
UNHCR เผยแพร่ข้อมูลประจำปีเกี่ยวกับการถูกบังคับให้พลัดถิ่นทั่วโลกในรายงานแนวโน้มโลก ทุกเดือนมิถุนายนของแต่ละปี นอกจากนั้น ท่านยังสามารถติดตามรายงานแนวโน้มกลางปีได้ที่ www.unhcr.org/mid-year-trends.
ติดตามสถิติการพลัดถิ่นทั่วโลกได้ที่ www.unhcr.org/refugee-statistics/
#UNHCRThailand #WithRefugees
Share on Facebook Share on Twitter