สูตินรีแพทย์ซาลีมา เรห์แมน ได้รับรางวัลผู้ลี้ภัยนานเซ็นประจำปีในระดับภูมิภาคจากเอเชียในการอุทิศตนรณรงค์การศึกษาของเด็กผู้หญิงในชุมชนของเธอและความทุ่มเทต่อแผนการรับมือโรคโควิด-19 ของประเทศปากีสถาน
เมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว ซาลีมา เรห์แมน เป็นหนึ่งในเด็กหญิงผู้ลี้ภัยเพียงไม่กี่คนที่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนประถมบารอกัตในเมืองแอตต็อคทางตะวันตกของกรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงของปากีสถาน ปัจจุบันในอายุ 29 ปี เธอกลับมายืนอยู่หน้าชั้นเรียนของเด็กหญิงผู้ลี้ภัยราว 30 คน ที่โรงเรียนแห่งเดิมอีกครั้งในเสื้อกาวน์แพทย์สีขาว
“มีใครในนี้อยากเป็นคุณหมอบ้าง” เธอถามพร้อมรอยยิ้ม
ราว 12 มือชูขึ้นมาในชั้น “ดีมากเลยที่เธออยากโตขึ้นเป็นหมอ เรียนให้หนักขึ้นและอย่ายอมแพ้เด็ดขาด” เธอบอกกับเด็กๆ
ซาลีมาได้เดินตามคำชี้นำของตัวเธอเองตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เมื่อครอบครัวของเธอเริ่มเรียกเธอว่า “คุณหมอซาลีมา”
ชื่อเรียกนี้มีที่มาจากการเกิดของเธอที่เป็นไปอย่างยากลำยากในค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองสวาบี จังหวัดไคเบอร์ปัคตูนควาของปากีสถาน แม่ของซาลีมาต้องดิ้นรนหาความช่วยเหลือทางการแพทย์และซาลีมาน่าจะมีโอกาสรอดชีวิตน้อยมาก
อับดุล พ่อของเธอสาบานกับตัวเองไว้ว่าถ้าลูกของเขาสามารถรอดชีวิตมาได้ เขาจะทำทุกทางให้ตัวเองหรือลูกสาวได้รับการศึกษาและประกอบอาชีพหมอให้ได้
เขาได้ทำตามคำสัญญาและสนับสนุนให้ลูกสาวได้เข้าเรียน แม้ว่าจะต้องเผชิญกับการถูกตำหนิจากชุมชนของเขาเอง หลายๆ คนในนั้นไม่พอใจกับความคิดที่ให้เด็กผู้หญิงมีความปรารถนาที่จะออกไปนอกบ้านและแต่งงาน
“ในสมัยก่อน ฉันมักจะเป็นเด็กหญิงคนเดียวที่นั่งอยู่บนม้านั่งในโรงเรียน” ซาลีมานึกถึงอดีต “ฉันจำได้ว่าชุมชนของฉันไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของพ่อที่ส่งเด็กผู้หญิงเข้าโรงเรียน และจุดนั้นเองเป็นจุดที่ฉันเริ่มเข้าใจว่าความสำเร็จของตัวฉันเองมีความสำคัญเพียงใด ฉันจะป็นตัวอย่างและแรงผลักดันให้เด็กผู้หญิงคนอื่นๆ ในชุมชนของฉันกล้าที่จะฝัน”
ซาลีมาได้เติมเต็มความฝันของเธอเมื่อต้นปีนี้ เมื่อเธอเปิดคลินิกส่วนตัวในเมืองแอตต็อคเพื่อบริการผู้ลี้ภัยและผู้หญิงในท้องถิ่นที่ต้องดิ้นรนหาการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่เกินราคา
ความสำเร็จในจุดนี้คือการสั่งสมการเรียนมากหลายปีและความทุ่มเทที่มากกว่าการข้ามผ่านบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม สถานะผู้ลี้ภัยของเธอเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่เธอต้องข้ามผ่าน
“เมื่อยังเป็นเด็ก ฉันไม่รู้ถึงสถานะผู้ลี้ภัยของฉัน” เธอกล่าว “แต่ฉันเริ่มมารู้ตอนที่เพื่อนร่วมชั้นเรียนได้รับการตอบรับเข้าวิทยาลัยต่างๆ ในระดับอุดมศึกษาและฉันไม่ได้เพราะฉันเป็นผู้ลี้ภัย”
ซาลีมาพยายามสมัครเรียนอยู่ 2 ปี จนกระทั่งเธอได้รับเลือกให้เป็นผู้ลี้ภัยเพียงคนเดียวประจำปีที่ได้เข้าศึกษาแพทยศาสตร์ในรัฐปัญจาบของปากีสถาน เธอได้เลือกวิชาเฉพาะในสาขานรีเวชวิทยาหลังจากได้รับเลือกให้เป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ราวัลปินดีในรัฐปัญจาบเช่นกัน
ใน พ.ศ. 2563 ปีสุดท้ายของการฝึกหัดเป็นนรีแพทย์ โรงพยาบาลครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ได้ประกาศตัวเป็นโรงพยาบาลศูนย์รับมือโรคโควิด-19 และเธอได้ทำงานในแนวหน้าของการแพร่ระบาดครั้งใหญ่นี้ รักษาหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษากับเธอส่วนมากเป็นผู้ลี้ภัยและคนท้องถิ่นที่ได้รับเชื้อไวรัสมาจากชีวิตที่ต้องพึ่งรายได้รายวัน ทำให้พวกเขาต้องออกจากบ้านและเงินมากพอสำหรับการแยกกักตัว
ความฝันของซาลีมาคือการได้เปิดคลีนิคเป็นของตัวเองเพื่อให้เธอสามารถมอบการดูแลได้โดยไม่ต้องคิดค่าใช้จ่ายสำหรับบุคคลที่มีความจำเป็นมากที่สุดในชุมชน ซึ่งที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปด้วยสถานะผู้ลี้ภัยของเธอ ตั้งแต่เธอได้รับปริญญาทางการแพทย์ใบแรกใน พ.ศ. 2558 เธอยังไม่สามารถได้รับใบอนุญาตทางการแพทย์ แต่ความมุ่งมั่นของเธอทำให้เธอประสบความสำเร็จจนได้
“ฉันสมัครครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้ได้ใบอนุญาต” เธอกล่าว “ฉันได้ใบอนุญาตมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 หลังการเรียนแพทยศาสตร์อยู่หลายปีและการฝึกหัดเพื่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง นี่เป็นเหมือนจุดเปลี่ยนของชีวิตฉันเลย”
เธอเปิดคลีนิกในเมืองแอตต็อคในเดือนมิถุนายนปีนี้และตอนนี้เธอเห็นผู้ลี้ภัยที่ป่วยหลายคนได้มาใช้บริการ เพราะไม่เช่นนั้นพวกเขาต้องเดินทางเป็นระยะทางอันยาวไกลเพื่อไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดและต้องมีคนพาพวกเขาไปเพื่อช่วยแปลภาษา
“การเปิดคลีนิกนี้เป็นเรื่องที่น่าดีใจอย่างยิ่งสำหรับพวกเรา” อนิลา หนึ่งในผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันที่เข้ารักษากับซาลีมาบอกอย่างตื่นเต้น “ชาวอัฟกันมากมายไม่มีเงินพอจ่ายคลีนิกแพงๆ แต่แพทย์หญิงซาลีมาช่วยเรา มันจะดีมากถ้าเด็กผู้หญิงของเราสามารถเรียนหนังสือและโตขึ้นเป็นหมอได้” เธอกล่าว
ที่คลีนิกของเธอ ซาลีมาได้รณรงค์เรื่องการดูแลสุขอนามัยและลบล้างความเชื่อที่มีต่อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ปีนี้เธอมีความยินดีที่รัฐบาลปากีสถานได้มีความพยายามรวมผู้ลี้ภัยเข้าในโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด–19 เพราะเธอเชื่อว่าไม่มีใครปลอดภัยจากไวรัสนี้ได้จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย
“ฉันอยากพิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กผู้หญิงคนหนึ่งสามารถเป็นได้ทุกอย่าง”
วันนี้ เรื่องราวของซาลีมาและการทำงานของเธอกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลง คนที่ต่อต้านการศึกษาของเด็กผู้หญิงมากที่สุดในชุมชนของเธอบางคนเรียกซาลีมาไปเพื่อขอคำปรึกษาด้านสุขภาพสำหรับภรรยา ลูกสาว และน้องสาวของพวกเขา และหลายคนได้ส่งลูกสาวของตนไปโรงเรียนด้วยความหวังว่าเด็กๆ จะเดินตามเส้นทางของซาลีมาเช่นกัน
“เธอเป็นผู้บุกเบิก เธอเอาชนะอุปสรรคด้วยการเป็นแพทย์หญิงคนแรกในชุมชนของเธอด้วยการทำฝันให้เป็นจริง เพื่อมอบการดูแลรักษาให้กับผู้ที่มีความเปราะบางมากที่สุด อย่างผู้ลี้ภัยและชาวปากีสถานที่ตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายๆ กัน ซาลีมาเป็นผู้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าผู้หญิงสามารถทำประโยชน์ให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนพวกเขาได้อย่างไร” โนริโกะ โยชิดะ ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำปากีสถานกล่าว
สำหรับการทำงานที่โดดเด่นและความยึดมั่นที่เธอมีต่อชุมชนของเธอและผู้ที่ยากจนที่สุดในปากีสถาน ซาลีมาได้รับเลือกให้เป็นผู้ได้รับรางวัลผู้ลี้ภัยนานเซ็นของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในระดับภูมิภาคจากเอเชีย รางวัลอันทรงเกียรติประจำปีนี้ยกย่องบุคคลที่อุทิศตนอย่างไม่ย่อท้อต่อการช่วยเหลือผู้ที่ถูกบังคับให้ผลัดถิ่นและบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ
รางวัลนี้ได้ยกย่องให้เห็นถึงตัวอย่างที่ชัดเจนที่ซาลีมาได้ทำไว้สำเร็จเพื่อเป็นแบบอย่างแก่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทุกคนและความทุ่มเทเพื่อผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษากับเธอ รวมถึงในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19
“ฉันอยากพิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กผู้หญิงคนหนึ่งสามารถเป็นได้ทุกอย่างหากได้รับโอกาส” ซาลีมากล่าว
“ไม่ว่าฉันจะอยู่ในปากีสถานหรือที่ไหนก็ตาม ฉันอยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างสุดหัวใจ”
Share on Facebook Share on Twitter