เนื่องในวันครบรอบ 60 ปีของการรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ UNHCR ย้ำถึงสิทธิในการมีสัญชาติและการขจัดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้
Filippo Grandi ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า “ความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ COVID-19 และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ล้วนส่งผลให้การถูกบังคับให้ต้องย้ายถิ่นฐานมีเพิ่มมากขึ้น และยิ่งทำให้เห็นความสำคัญของสิทธิในการมีสัญชาติ ที่ทุกคนจำเป็นจะต้องถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของประเทศและมีตัวตนในสายตาของรัฐบาล และถูกรวมอยู่ในแผนเพื่อแก้ปัญหา”
Grandi ยังกล่าวอีกว่า “การมีสัญชาติและการได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาลนั้น นับว่าเป็นการช่วยชีวิตประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิกฤตการณ์เช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัคซีน เรื่องการอพยพเคลื่อนย้าย หรือการมีเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคมที่จำเป็น”
บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติอาจตกหล่นในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งและมีการอพยพย้ายถิ่น เนื่องจากพวกเขาไม่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาลใด พวกเขาไม่มีหลักฐานที่บ่งบอกถึงสถานะทางกฎหมาย หรือไม่มีทั้งสองอย่าง บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติยังเสี่ยงที่จะไม่ได้รับวัคซีน COVID-19 อีกทั้งชุมชนของคนที่ไร้รัฐไร้สัญชาติมักจะไม่ถูกนับรวมให้ได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและสังคม ที่อาจจะช่วยแบ่งเบาภาระในการดำรงชีพได้โดยเฉพาะในวิกฤตการณ์เช่นนี้ ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่เลวร้ายลง บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติมีความเสี่ยงที่จะถูกกันออกจากการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล
ในภาพกว้าง การที่ต้องไร้รัฐไร้สัญชาตินั้นหมายถึง ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา การรักษาพยาบาลหรือการจ้างงานที่ถูกกฎหมาย ถูกจำกัดสิทธิในการเดินทาง ไม่สามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เปิดบัญชีธนาคารหรือแม้กระทั่งแต่งงานได้ ทุกวันนี้ทั่วโลกมีบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติอยู่จำนวน 4.2 ล้านคน ทั้งนี้ เชื่อว่าจำนวนที่แท้จริงมีสูงกว่านี้มาก แต่ยังไม่ถูกรายงานเนื่องจากมีอุปสรรคในการเก็บข้อมูล
อนุสัญญา 1961 เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศที่มีความสำคัญในการป้องกันและลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ หากมีการดำเนินการตามอนุสัญญานี้ในทุกๆประเทศ เชื่อว่า จะช่วยให้มั่นใจได้ว่า จะไม่มีเด็กคนใดที่เกิดมาโดยปราศจากสัญชาติ และในระยะยาวจะช่วยในการขจัดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติให้หมดไป
ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2021 นี้ มีประเทศจำนวน 77 ประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญา 1961 โดยที่การภาคยานุวัติอนุสัญญาดังกล่าวเพิ่มขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 เป็นต้นมา 40 ประเทศได้แสดงเจตจำนงเพื่อลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติและร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญา โดยประเทศล่าสุดที่เข้าร่วมคือ ไอซ์แลนด์และโตโก
ในช่วงเวลาเดียวกัน บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติจำนวนกว่า 800,000 คน ได้รับการรับรองในสัญชาติและได้รับการแก้ไขปัญหาสัญชาติ
Grandi กล่าวว่า “ในวาระครบรอบของอนุสัญญานี้ UNHCR ขอสนับสนุนให้ทุกประเทศที่ยังไม่ได้ร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญา 1961 ว่าด้วยการลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ ได้รวมเอาหลักการของอนุสัญญาไว้ในกฎหมายสัญชาติ และให้การรับรองว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิในการมีสัญชาติ”
การภาคยานุวัติอนุสัญญา 1961 นี้ เป็นหนึ่งใน 10 แผนปฏิบัติการสากลเพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ Global Action Plan to End Statelessness แผนปฏิบัติการดังกล่าวได้กำหนดกรอบการทำงานให้แต่ละประเทศสามารถดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของ #IBelong Campaign ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี ค.ศ.2014 เพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติให้ได้ภายใน 10 ปี
Share on Facebook Share on Twitter