สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ส่งคำอวยพรแก่ทีมพาราลิมปิกผู้ลี้ภัยในพิธีเปิด ที่กรุงโตเกียว วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ทีมพาราลิมปิกผู้ลี้ภัยส่งข้อความที่เป็นความหวังถึงผู้พลัดถิ่นอีกกว่า 82 ล้านคนทั่วโลก รวมถึงผู้พลัดถิ่นที่มีความบกพร่องทางร่างกายในจำนวนนั้นราว 12 ล้านคน
ผู้แทนเชิญธงในพิธีเปิด คือ อาเลีย อิสสา นักทุ่มน้ำหนัก และ แอบบาส คาริมิ นักว่ายน้ำและผู้สนับสนุนที่มี่ชื่อเสียงของ UNHCR ที่ช่วยสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผู้พลัดถิ่นทั่วโลก ทีมพาราลิมปิกผู้ลี้ภัยจะเดินเปิดขบวนนักกีฬาเป็นทีมแรกในการเข้าสนามกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศญี่ปุ่นและจะลงแข่งภายใต้ธงสัญลักษณ์ของคณะกรรมการพาราลิมปิกสากลตลอดการแข่งขัน
พวกเขาเป็นทีมผู้ลี้ภัยทีมแรกที่ได้เข้าร่วมการแข่งพาราลิมปิกอย่างเป็นทางการ หลังจากนักกีฬาผู้ลี้ภัย 2 คนได้ลงแข่งในการแข่งขันที่ริโอ พ.ศ. 2559 ภายใต้ทีมนักกีฬาพาราลิมปิกอิสระ ทีมนักกีฬาในปีนี้ประกอบด้วยผู้ลี้ภัย 6 คนจาก 4 ประเทศที่มอบพักพิง และจะลงแข่งใน 5 ประเภทกีฬาพาราลิมปิก การลงแข่งของพวกเขามีส่วนช่วยลดการถูกตีตราทางสังคมและความไม่เข้าใจต่อผู้พลัดถิ่น รวมถึงผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย
“ผมจะคอยส่งกำลังใจให้ทีมพาราลิมปิกผู้ลี้ภัยด้วยความปลาบปลื้มอย่างยิ่งในพิธีเปิดงานและตลอดการแข่งขัน” นายฟิลลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าว “การได้ขึ้นไปยืนบนเวทีโลกในการแข่งขันพาราลิมปิกเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่พวกเขาได้เป็นตัวแทนของผู้พลัดถิ่นที่มีความบกพร่องทางร่างกายอีกกว่า 12 ล้านคนทั่วโลก”
“ผู้พลัดถิ่นที่มีความบกพร่องทางร่างกายมีความเสี่ยงสูงต่อการถูกกีดกัน ความรุนแรง และการถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ” นายกรันดีเสริม “ถึงแม้จะมีความท้าทายอยู่มาก แต่ผู้ลี้ภัยที่มีความบกพร่องทางร่างกายคือตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีและเป็นผู้นำร่องสำหรับชุมชนของพวกเขา และรวมถึงในด้านกีฬาสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายด้วย พวกเขาสมควรได้รับการเข้าถึงและโอกาสในการแสดงศักยภาพ ผมจะคอยส่งกำลังใจให้ทีมพาราลิมปิกผู้ลี้ภัยด้วยความภาคภูมิใจที่พวกเขาได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับโลกใบนี้ด้วยความมุ่งมั่นและความสามารถพิเศษของพวกเขาเอง”
UNHCR ทำงานร่วมกับผู้พลัดถิ่นที่มีความบกพร่องทางร่างกาย และช่วยเหลือพวกเขาให้มั่นใจว่าจะได้เข้าถึงการบริการและโอกาสต่างๆ ที่สำคัญ เราทำงานกับคณะกรรมการพาราลิมปิกสากลตั้งแต่พ.ศ. 2559 เพื่อมอบการเข้าถึงชีวิตใหม่ของผู้ลี้ภัยผ่านกีฬาสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายและเพื่อให้โลกนี้มีความเป็นหนึ่งเดียวกันและเท่าเทียมกันมากขึ้น
กีฬาสามารถช่วยลดการตีตราทางสังคมและการแบ่งแยก ตั้งคำถามให้กับสมมติฐานเกี่ยวกับศักยภาพของผู้พลัดถิ่นที่มีความบกพร่องทางร่างกายว่าสามารถหรือไม่สามารถทำอะไรได้บ้าง มอบการถูกรวมเข้ากับสังคมเพื่อเป็นพลังให้กับพวกเขา นอกจากนี้กีฬายังช่วยให้ผู้พลัดถิ่นที่มีความบกพร่องทางร่างกายได้พัฒนาตัวเองทั้งด้านร่างกายและจิตใจอีกด้วย
“ผมเคยพูดไว้แล้วและผมจะขอพูดอีกครั้งว่า ทีมพาราลิมปิกผู้ลี้ภัยเป็นทีมนักกีฬาที่มีความกล้าหาญที่สุดในโลก” แอนดรูว์ พาร์สันส์ ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกสากล กล่าว
“เมื่อคุณได้เห็นการเดินทางอันน่าทึ่งของนักกีฬาเหล่านี้กว่าที่พวกเขาจะมาถึงโตเกียวได้ คุณจะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จากกีฬาจริงๆ และในสัปดาห์เดียวกันนี้เราได้เริ่มโครงการวีเดอะ15 (WeThe15) มันเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องมอบเสียงและตัวตนให้กับผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ในโตเกียวโอลิมปิก พ.ศ. 2563 นี้ ทีมพาราลิมปิกผู้ลี้ภัยจะได้เป็นกระบอกเสียงและตัวแทนของผู้พลัดถิ่นที่มีความบกพร่องทางร่างกายอีกกว่า 12 ล้านคนอย่างน่าภาคภูมิใจ”
ด้วยความร่วมมือกับคณะกรรมการพาราลิมปิกสากลและพันธมิตรอื่นๆ UNHCR เป็นผู้นำในการเรียกร้องให้ทั่วโลกมอบการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมในการกีฬาอย่างเท่าเทียมแก่ผู้พลัดถิ่นทุกคน รวมถึงผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ด้านล่างนี้
Share on Facebook Share on Twitter