ผู้คนหลายพันคนต้องไร้ที่อยู่จากน้ำฝนมรสุมที่ท่วมหลากเข้าพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัยทางตอนใต้ของประเทศบังคลาเทศ
ฝนมรสุมตกหนักอย่างต่อเนื่องมาหลายวัน เมเฮอร์ คาทุน อายุ 60 ปี สังเกตุเห็นน้ำที่เริ่มไหลเข้ามาในที่พักพิงที่ทำจากไม้ไผ่และผ้าพลาสติกอเนกประสงค์ที่เธออาศัยอยู่กับลูกชาย ลูกสะใภ้ และหลานของเธอในค่ายผู้ลี้ภัยเมืองค็อกซ์ บาซาร์ ประเทศบังคลาเทศ
แม้ว่าที่พักพิงจะถูกสร้างขึ้นบริเวณปลายเนินเขา เมเฮอร์ไม่เคยเห็นน้ำท่วมหนักขนาดนี้มาก่อนตลอดเกือบ 4 ปีที่เธออาศัยอยู่ที่นั่นหลังจากหนีออกจากบ้านเกิดของตนเองในเมียนมามายังบังคลาเทศ
ภายในไม่กี่ชั่วโมง น้ำท่วมสูงขึ้นถึงระดับอกและพวกเขาหนีออกมาได้พร้อมกับเตาทำอาหาร แก๊สกระป๋อง และแผงพลังงานแสงอาทิตย์หนึ่งแผง
“น้ำท่วมสูงขึ้นเร็วมากทำให้เรากลับไปไม่ได้”
“ฉันทำอะไรไม่ถูก ฉันไม่รู้ว่าจะไปทางไหน” เมเฮอร์เล่า “น้ำท่วมสูงขึ้นเร็วมากทำให้เรากลับไปไม่ได้ สัมภาระส่วนใหญ่ของเราถูกน้ำพัดไปหมด”
ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญามากกว่า 21,000 คนที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่ในเมืองค็อกซ์ บาซาร์ ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและแผ่นดินถล่มตลอดหลายวัน ประมาณน้ำฝนมากกว่า 300 มิลลิเมตรที่ตกลงมาในระยะเวลาเพียง 24 ชั่วโมงระหว่างวันแรกและวันที่สอง ซึ่งเกือบเท่าครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยของเดือนกรกฎาคมทั้งเดือน และยังคงตกหนักอย่างต่อเนื่องในอีกสองวันถัดมา ทำให้ผู้ลี้ภัยเสียชีวิต 6 คน ในขณะที่อีกหลายพันคนเช่นเมเฮอร์ ถูกน้ำพัดบ้านไปทั้งหลังหรือบ้านถูกน้ำท่วมขัง
ตอนนี้เธอและครอบครัวพักพิงอยู่ในศูนย์การเรียนรู้ ที่ตั้งอยู่สูงขึ้นไปบนเนินไม่ไกลนักจากที่พักพิงเดิมที่ถูกน้ำท่วม ร่วมกับอีกราว 20 ครอบครัวที่ต้องพลัดถิ่นจากอุทกภัยครั้งนี้ แม้กระทั่งที่นี่ น้ำฝนยังไหลซึมผ่านหลังคามุงจากและสภาพแทบอยู่อาศัยไม่ได้
ผู้พลัดถิ่นจากน้ำท่วมคนอื่น ๆ ย้ายเข้าไปอยู่ในที่พักพิงของญาติหรือพักพิงอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางต่าง ๆ เช่น ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้
น้ำท่วมครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางมาตรการในการจำกัดพื้นที่ที่เข้มงวด เนื่องจากประเทศบังคลาเทศกำลังรับมือกับการติดเชื้อและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ก่อนหน้านี้ที่ได้เผาทำลายค่ายต่าง ๆ ไปในเดือนมีนาคม ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 11 คนและที่พักพิงถูกทำลายไปหลายพันหลัง แถลงการณ์ของ UNHCR เมื่อวันอังคารที่ 27 กรกฎาคม ระบุว่า “สภาพอากาศที่รุนแรง แผ่นดินถล่มครั้งล่าสุด และอุทกภัย ยิ่งเพิ่มความทุกข์ทรมานและความต้องการด้านมนุษยธรรมอย่างมหาศาลของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังคลาเทศ”
ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 เมื่อผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญามากกว่า 700,000 คนเดินทางจากเมียนมา มายังเมืองค็อกซ์ บาซาร์ ความพยายามในการฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อยึดไหล่เขาและลดความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมและดินถล่มภายในค่ายได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง UNHCR และพันธมิตรได้ฝึกอบรมอาสาสมัครผู้ลี้ภัยและอาสาสมัครของชุมชนที่มอบที่พักพิงเพื่อให้พวกเขาสามารถเข้ารับมือเมื่อเกิดภัยพิบัติได้ทันที ในสัปดาห์ที่เกิดเหตุ อาสาสมัครเหล่านี้ทำงานตลอดทั้งวันทั้งคืนเพื่อช่วยโยกย้ายผู้คนออกจากพื้นที่น้ำท่วมหรือจากที่พักพิงที่ทรุดตัวไปยังพื้นที่ปลอดภัย แต่ประเทศบังคลาเทศยังคงเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่มักมีการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศมากที่สุดและพายุโซนร้อนที่มักเกิดขึ้นพร้อมฤดูมรสุมเริ่มเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงขึ้น
“ฉันไม่เคยเห็นน้ำท่วมแบบนี้มาก่อน” เมเฮอร์เล่า “ในเมียนมา ฉันอาศัยบนพื้นที่ราบและไม่มีน้ำท่วมในฤดูมรสุม”
เธอเป็นกังวลถึงที่พักพิงของเธอ “และทุก ๆ อย่างที่เราทิ้งไว้จมอยู่ใต้น้ำ”
“เราไม่แน่ใจว่าฝนจะหยุดตกเมื่อไหร่และเราจะสามารถกลับบ้านของเราได้ตอนไหน”
Share on Facebook Share on Twitter