สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) มีความเสียใจอย่างยิ่งต่อการเสียชีวิตของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาทั้ง 6 คน จากฝนที่ตกหนักเป็นต่อเนื่องนาน 3 วัน และลมกรรโชกแรงเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่พักพิงของผู้ลี้ภัยในเมืองค็อกซ์ บาซาร์ ประเทศบังคลาเทศ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่ม เมื่อวันอังคารที่ 27 กรกฎาคม
จากรายงานเบื้องต้น ผู้ลี้ภัยมากกว่า 12,000 คนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ และที่พักพิงประมาณ 2,500 หลังได้รับความเสียหายและถูกทำลาย
เพียง 24 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ ปริมาณน้ำฝนกว่า 300 มิลลิเมตรได้ไหลเข้าสู่ค่ายต่าง ๆ ที่เป็นที่พักพิงของผู้ลี้ภัยชาวโรงฮิงญามากกว่า 800,000 คน ซึ่งเทียบได้เกือบครึ่งของปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยของเดือนกรกฎาคมทั้งเดือนใน 1 วัน โดยคาดว่าฝนจะตกหนักต่อเนื่องไปอีก 2-3 วัน และทำให้ฤดูมรสุมจะยาวนานไปอีก 3 เดือน สถานการณ์เป็นที่น่ากังวลมากยิ่งขึ้นเมื่อเกิดขึ้นท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะที่มีการจำกัดพื้นที่ภายในประเทศอย่างเข้มงวดเพื่อรับมือกับผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วประเทศ
เพื่อสนับสนุนแผนการรับมือของรัฐบาล ทีมช่วยเหลือฉุกเฉินในเครือข่ายของ UNHCR ได้รวมตัวเพื่อเข้ามอบความสนับสนุนและความช่วยเหลือแก่ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบและผู้ที่ถูกบังคับให้โยกย้ายออกจากพื้นที่ชั่วคราวในทันที ทางทีมกำลังประเมินความเสียหายของที่พักพิงและได้เริ่มซ่อมแซมที่พักพิงและปรับปรุงพื้นที่ทันที อีกทั้งยังให้ความสำคัญอีกเรื่อง นอกจากนี้การทำงานเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกคนสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นต่าง ๆ เป็นอีกเรื่องที่เราให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ
อาสาสมัครผู้ลี้ภัยที่ได้รับการฝึกอบรมจาก UNHCR และพันธมิตรทำงานร่วมกันตลอดทั้งวันทั้งคืนท่ามกลางฝนที่ตกอย่างหนักเพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่มีความต้องการอย่างเร่งด่วน ในบางกรณี รวมถึงการช่วยชีวิตผู้ลี้ภัยที่ที่พักพิงได้รับความเสียหายจากดินถล่ม ที่ผ่านมาผู้ลี้ภัยมากกว่า 5,000 คน ได้รับการอพยพไปอาศัยในที่พักพิงของญาติหรือในพื้นที่ส่วนกลางเป็นการชั่วคราวแล้ว
ทั้งสภาพอากาศที่รุนแรง เหตุดินที่ถล่มล่าสุด และน้ำที่ท่วมขัง ได้เพิ่มความยากแค้นและความต้องการด้านมนุษยธรรมของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในประเทศบังคลาเทศขึ้นอีกอย่างมหาศาล จนถึงวันนี้แผนการรับมือร่วมประจำ พ.ศ. 2564 ในวิกฤตด้านมนุษยธรรมของชาวโรฮิงญาได้รับงบประมาณเพียง 9 พันล้านบาท (274 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือประมาณร้อยละ 30 ของงบประมาณที่ต้องการทั้งหมด 31 พันล้านบาท (943 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อการรับมือกับวิกฤตในปีนี้
Share on Facebook Share on Twitter