ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาสูญเสียทุกอย่างในเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในค่ายผู้ลี้ภัยทางตอนใต้ของประเทศบังคลาเทศ ในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเตรียมพร้อมเพื่อเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
“ตอนที่ฉันออกไป ฉันเห็นไฟกำลังลามตรงมาที่เรา” เธอเล่า
ในเวลานั้น ฮาลิมา ไม่สามารถขยับตัวได้ เธอหวาดกลัวและไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร แต่เมื่อลูก ๆ ของเธอเริ่มร้องไห้และกรีดร้อง เธออุ้มพวกเขาขึ้นมาและเริ่มวิ่ง
“ฉันอุ้มพวกเขาขึ้นมาเท่าที่ฉันทำได้ แต่ฉันจะวิ่งได้ขณะที่กำลังอุ้มเด็กสี่คนได้อย่างไร?”
เธอบอกให้ลูก ๆ ทั้งสี่คนให้รอเธออยู่ที่นี่ขณะที่เธอรีบวิ่งกลับไปยังที่พักพร้อมกับลูกคนเล็กสุดเพื่อไปเก็บของ
“ตอนที่ฉันกลับมาถึง บ้านของฉันกำลังถูกไฟไหม้ ฉันพยายามเก็บของบางอย่างที่เก็บเอาไว้ในหีบเก็บของ แต่มันหนักเกินกว่าที่จะยกออกมาคนเดียวขณะที่กำลังอุ้มลูกอีกคน”
เธอต้องทิ้งหีบเก็บของและวิ่งกลับออกมาหาลูก ๆ ที่รออยู่ และเธอต้องหวาดกลัวอีกครั้งเมื่อเธอหาลูก ๆ ไม่เจอ
“ฉันรู้สึกเหมือนโลกทั้งใบกำลังแตกสลาย”
“ฉันมองไปที่ผู้คนที่กำลังกรีดร้องและวิ่งไปมา ฉันรู้สึกเหมือนโลกทั้งใบกำลังแตกสลาย ฉันไม่รู้ว่าสามีของฉันอยู่ที่ไหน ฉันหาลูกทั้งสี่คนไม่เจอและบ้านของฉันไฟไหม้”
เพลิงไหม้ที่ทำให้ฮามิลาต้องพลัดหลงกับสามีและลูก ๆ เผาทำลายค่ายผู้ลี้ภัยในพื้นที่เมืองกูตูปาลองเป็นวงกว้าง ที่นี่เป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นที่พักพิงของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจากเมียนมามากกว่า 700,000 คน
เพลิงไหม้ดับลงในเช้าถัดมา ที่พักพิงมากกว่า 9,500 หลัง ถูกเผาทำลาย รวมไปถึงสถานพยาบาล จุดแจกจ่ายความช่วยเหลือและศูนย์การเรียนรู้ ทำให้ผู้ลี้ภัยกว่า 45,000 คน ต้องไร้ที่พักพิง
สี่วันต่อมาหลังเกิดเพลิงไหม้ ได้รับการยืนยันว่าผู้ลี้ภัย 11 คน เสียชีวิต มากกว่า 300 คน ยังสูญหายและเด็กจำนวนมากยังพลัดหลงกับครอบครัว
ฮามิลา ได้พบกับหนึ่งในลูก ๆ ของเธอในที่สุดพร้อมกับแม่สามีของลูกสาวคนโตและตามหาสามีจนพบหลังจากนั้น สองวันผ่านไปเธอไปได้ยินชื่อของลูกชายอีกสองคนจากเครื่องกระจายเสียงที่ประกาศตามหาครอบครัว เธอจึงได้พบกับลูก ๆ แต่ลูกชายอีกคนยังคงสูญหาย
“ฉันไม่มีความหวังอื่นนอกไปจากการตามหาลูกให้เจอและเริ่มต้นชีวิตใหม่” เธอเล่า
หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ UNHCR ร่วมกับเจ้าหน้าที่ชาวบังคลาเทศ IOM และหน่วยงานต่าง ๆ มอบความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยหลายหมื่นคนเพื่อให้สามารถผ่านความเจ็บปวดและเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังสูญเสียทุกอย่างได้อีกครั้ง
ผู้ที่พลัดถิ่นจากเหตุเพลิงไหม้ต้องพักพิงร่วมกับญาติพี่น้อง ที่พักพิงที่ไม่ได้รับผลกระทบต้องรองรับคนมากขึ้น ขณะที่คนอื่น ๆ ต้องพักพิงอยู่ในที่พักพิงฉุกเฉินชั่วคราวจนกว่าจะสามารถสร้างที่พักพิงใหม่ได้อีกครั้ง UNHCR มอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่จำเป็น เช่น ผ้าห่ม อุปกรณ์ประกอบอาหาร และตะเกียงพลังงานแสงอาทิตย์ ขณะที่โครงการอาหารโลก (World Food Programme) มอบอาหารร้อน นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งห้องน้ำฉุกเฉินและจุดจ่ายน้ำสะอาด รวมไปถึงมีความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อดูแลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุเพลิงไหม้
หลุยส์ โดโนแวน โฆษก UNHCR ใน ค็อกซ์ บาซาร์ ประเทศบังคลาเทศ กล่าวว่า หนึ่งในความช่วยเหลือที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดคือการให้ความช่วยเหลือด้านจิตวิทยาเพื่อเยียวยาจิตใจที่บอบช้ำอยู่แล้วของชาวโรฮิงญา หลังเผชิญความโหดร้ายในเมียนมา ที่บังคับให้พวกเขาต้องหนีเอาชีวิตรอดในปี พ.ศ. 2560
“เป็นเรื่องสำคัญมากที่ UNHCR และหน่วยงานพันธมิตรด้านมนุษยธรรมมอบความช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงสนับสนุนการเยียวยาจิตใจให้กับผู้ที่ต้องเผชิญกับความสูญเสียครั้งแล้วครั้งเล่า”
“ทุกสิ่งทุกอย่างถูกเผากลายเป็นเถ้าถ่าน เราต้องเริ่มต้นจากศูนย์”
โรคิยา เบกุม อายุ 27 ปี หนีออกมาพร้อมกับเอกสารระบุตัวตนของเธอพร้อมกับลูก ๆ ตอนที่เพลิงไหม้ลุกลามมายังบริเวณที่พักของเธอ โรคิยาและครอบครัวไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่พลัดหลงกันนานหลายชั่วโมงท่ามกลางความวุ่นวาย แต่โรคิยา บอกกับเราว่าเธอเห็นผู้คนถูกกลืนหายไปในเพลิงไหม้รวมถึงเด็ก ๆ
“มันเป็นภาพที่น่ากลัวมาก แต่เราไม่กล้าพอที่จะช่วยเขา”
ตอนนี้เธอและครอบครัวพักอยู่กับแม่สามี ชาวโรฮิงญาเช่นฮามิลา ต้องสูญเสียทุกอย่าง
“ทุกอย่างถูกเผากลายเป็นเถ้าถ่าน” เธอกล่าว “เราต้องเริ่มต้นใหม่จากศูนย์”
รายงานจากค็อกซ์ บาซาร์ โดย Iffath Yeasmine เรียบเรียงโดย Kristy Siegfried
Share on Facebook Share on Twitter